xs
xsm
sm
md
lg

ผู้ค้าเหล้า-เบียร์วอน “กฤษฎีกา” ตีความมาตรา 32 พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

(จากซ้ายไปขวา) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ พิจิตรา สึคาโมโต้ นักวิชาการด้านสื่อสารมวลชน คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ พร้อมด้วย “ประมาณ เลืองวัฒนะวณิช” ทนายความและผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย, “ธนากร คุปตจิตต์” นายกสมาคมธุรกิจเครื่องดื่มแอลกฮอล์ไทย และ “โตมร ศุขปรีชา” นักเขียนอิสระและบรรณาธิการอำนวยการ นิตยสาร GM
ผู้จัดการรายวัน 360 - สมาคมธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไทยระบุ พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 มาตรา 32 คลุมเครือไม่ชัดเจน ขึ้นกับการตีความของเจ้าพนักงาน ทำให้ยากต่อการปฏิบัติตาม ส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจต่างๆ เป็นวงกว้าง วอนสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตีความแนวทางการปฏิบัติ เพื่อเป็นแนวทางแก่ทุกฝ่ายในการบังคับใช้และปฏิบัติตามกฎหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ

วานนี้ (18 ส.ค. 59) สมาคมธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไทย (Thai Alcoholic Beverage Business Association : TABBA) จัดงานเสวนาเรื่อง “กฎหมายโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ : ถอดบทเรียนสื่อมวลชนและภาคธุรกิจ” โดยมีผู้เชี่ยวชาญจากภาคธุรกิจ ภาคกฎหมาย และสื่อมวลชนร่วมเป็นวิทยากร เพื่อแลกเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ณ ห้อง Multifunction Hall C, asean ไซเบอร์ เวิลด์ ทาวเวอร์ ถ.รัชดาภิเษก กรุงเทพฯ

นายธนากร คุปตจิตต์ นายกสมาคมธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไทย เปิดเผยว่า การจัดงานครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเรียกร้องให้หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์, กระทรวงสาธารณสุข และอื่นๆ เสนอเรื่องให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐในการให้ความเห็นทางกฎหมาย ตีความและกำหนดแนวทางในการปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 มาตรา 32 เกี่ยวกับการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้มีความชัดเจนมากขึ้นเพื่อเป็นหลักแก่ทุกฝ่ายในการบังคับใช้และปฏิบัติตามกฎหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพตามเจตนารมณ์ของกฎหมายต่อไป

จากคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15453/2557 จะช่วยให้ทุกฝ่ายทั้งผู้บังคับใช้และภาคธุรกิจมีความเข้าใจตรงกันถึงขอบเขตของการโฆษณาตามวรรค 1 ของมาตรา 32 แห่ง พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 ยิ่งขึ้น เพราะที่ผ่านมาการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวขึ้นกับดุลพินิจของเจ้าพนักงานแต่ละบุคคลว่าการกระทำใดเป็นความผิดหรือไม่เป็นความผิด ทำให้ยากต่อการปฏิบัติตาม ทั้งยังมีโทษและแรงจูงใจในเรื่องของเงินสินบนนำจับ ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการในวงกว้างต่อธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง ทั้งผู้ค้าปลีก ร้านอาหาร รวมถึงการท่องเที่ยว ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นภาคอุตสาหกรรมที่สำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศ
ความไม่ชัดเจนของ พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 มาตรา 32 วรรคหนึ่ง
*** ระบุกฎหมายไม่ชัดเจน จุดกำเนิด “การตลาดแบบศรีธนญชัย” ***
สำหรับ พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 มาตรา 32 ระบุว่า “ห้ามมิให้ผู้ใดโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือแสดงชื่อ หรือเครื่องหมายของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อันเป็นการอวดอ้างสรรพคุณ หรือชักจูงให้ผู้อื่นดื่มโดยตรง หรือโดยอ้อม”

“การโฆษณา หรือประชาสัมพันธ์ใดๆ โดยผู้ผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกประเภทให้กระทำได้เฉพาะการให้ข้อมูลข่าวสารและความรู้เชิงสร้างสรรค์สังคม โดยไม่มีการปรากฏภาพของสินค้า หรือบรรจุภัณฑ์ของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นั้น เว้นแต่เป็นการปรากฏของภาพสัญลักษณ์ของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือสัญลักษณ์ของบริษัทผู้ผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นั้นเท่านั้น ทั้งนี้ตามที่กำหนดในกฎกระทรวง”

บทบัญญัติในวรรคหนึ่งและวรรคสอง มิให้ใช้บังคับกับการโฆษณาที่มีต้นกำเนิดนอกราชอาณาจักร
ขณะที่มาตรา 43 ระบุว่า “ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 32 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินห้าแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ นอกจากต้องระวางโทษตามวรรคหนึ่งแล้ว ผู้ฝ่าฝืนยังต้องระวางโทษปรับอีกวันละไม่เกินห้าหมื่นบาทตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืน หรือจนกว่าจะได้ปฏิบัติให้ถูกต้อง

นายธนากรกล่าวว่า จากบทบัญญัติดังกล่าวทำให้ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ต้องทำกิจกรรมการตลาดในลักษณะบีโลว์เดอะไลน์เป็นหลัก ขณะเดียวกันยังเป็นช่องโหว่ให้ผู้ประกอบการบางรายดำเนินกิจกรรมในลักษณะ “การตลาดแบบศรีธนญชัย” เช่น โฆษณาผ่านเว็บไซต์ที่มีนามสกุล .com หรือดอทอื่นๆ ที่ไม่ใช่ .co.th ซึ่งใช้ในประเทศไทย ขณะเดียวกันผู้ผลิตและจำหน่ายสุราบางรายยังหันไปผลิตเครื่องดื่มชนิดอื่นโดยใช้แบรนด์สุราเพื่อตอกย้ำความจดจำแบรนด์ให้ผู้บริโภค

*** หวัง นายกฯ ตู่ รับเรื่องพิจารณา ***
สมาคมฯ เคยมีการเรียกร้องเรื่องนี้แล้วครั้งหนึ่งต่อรัฐบาลชุดก่อนหน้านี้เมื่อประมาณ 3-4 ปีก่อน แต่ก็ไม่ได้รับการตอบรับแต่อย่างใด จึงได้นำเรื่องมาเรียกร้องอีกครั้งเพราะในช่วงที่ผ่านมามีผู้ประกอบการค้าปลีกเป็นจำนวนหลายร้อยรายต้องพบปัญหาถูกจับกุม ดำเนินคดี และเสียค่าปรับอันเนื่องมาจากความคลุมเครือของ พ.ร.บ.ดังกล่าว

“โดยส่วนตัวผมเห็นว่าการแก้ปัญหาใดๆ หากกระทำโดยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอาจไม่สัมฤทธิผลได้ จึงอยากขอโอกาสมีส่วนร่วมเพียงนำเสนอความเห็นเพื่อกำหนดกรอบและความชัดเจนของกฎหมายฉบับนี้ โดยมิได้ต้องการที่จะมีส่วนร่วมในการเขียนกฎหมายแต่อย่างใด โดยยังมีความหวังว่าจะได้รับการพิจารณาทบทวนจากรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งมีการทำงานที่ชัดเจน โปร่งใส และรวดเร็ว” นายธนากรกล่าว

สมาคมฯ ได้สร้างมาตรฐานของอุตสาหกรรมในการทำการตลาดและโฆษณาอย่างรับผิดชอบต่อสังคม โดยสมาชิกมีระเบียบปฏิบัติด้านการตลาดที่มากกว่ากฎหมายกำหนด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการไม่ทำการตลาดกับผู้ที่อายุไม่ถึงเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด ตลอดจนส่งเสริมการดื่มอย่างรับผิดชอบผ่านการส่งเสริมความรู้และความเข้าใจแก่คนในสังคม

“สมาคมฯ ยังพร้อมที่จะมีส่วนร่วมกับภาครัฐในการแก้ไขปัญหาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากยิ่งขึ้น โดยมีข้อมูล งานวิจัย รวมถึงกรณีศึกษาการแก้ไขปัญหาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ประสบความสำเร็จในต่างประเทศ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการกำหนดแผนงาน นโยบาย และมาตรการต่างๆ ในการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แต่ที่สำคัญคือภาครัฐซึ่งเป็นผู้กำกับดูแลต้องยอมรับในการร่วมมือกับทุกภาคส่วนโดยเฉพาะกับภาคเอกชน เพื่อการมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน” นายธนากรกล่าวในตอนท้าย

*** นักกฎหมายแนะยึดหลักคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15453/2557 ***
นายประมาณ เลืองวัฒนะวณิช ทนายความและผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย กล่าวว่า กฎหมายหลักที่ใช้ควบคุมการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในประเทศไทยคือ มาตรา 32 แห่ง พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 ซึ่งในวรรค 1 ระบุว่า “ห้ามมิให้ผู้ใดโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือแสดงชื่อ หรือเครื่องหมายของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อันเป็นการอวดอ้างสรรพคุณ หรือชักจูงใจผู้อื่นดื่มโดยตรง หรือโดยอ้อม”’ ซึ่งที่ผ่านมาหลายฝ่ายมีความคิดเห็นที่แตกต่างกันในการตีความว่าการกระทำใดที่ต้องห้ามตามเจตนารมณ์ที่แท้จริงของข้อกฎหมายดังกล่าว

เมื่อไม่นานมานี้คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15453/2557 ได้ให้บรรทัดฐานในการตีความไว้อย่างชัดเจนว่า การโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือแสดงชื่อ หรือเครื่องหมายของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หากมิได้มีเนื้อหาอันเป็นการอวดอ้างสรรพคุณ หรือชักจูงใจให้ผู้อื่นดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยตรง หรือโดยอ้อมแล้วนั้น ไม่เป็นความผิดตามมาตรา 32

“แต่ในทางปฏิบัติกลับปรากฏว่าผู้มีอำนาจใช้กฎหมายมักตีความโดยใช้ดุลยพินิจเป็นหลักซึ่งถือว่าไม่มีความชัดเจน และบางกรณีไม่เป็นธรรมต่อผู้ประกอบการโดยเฉพาะผู้จำหน่ายปลีกที่มักถูกจับกุมและดำเนินคดี เสมือนกรณีละเมิดลิขสิทธิ์” นายประมาณกล่าว

*** นักวิชาการระบุกฎหมายต้องอยู่บนฐานเหตุผลและข้อเท็จจริง ***
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ พิจิตรา สึคาโมโต้ อาจารย์ประจำคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การควบคุมสินค้าและบริการต่างๆ รวมถึงการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ด้วยนโยบายสาธารณะนั้นจะต้องอยู่บนฐานของเหตุผลและข้อเท็จจริง โดยมุ่งให้ความสำคัญต่อการปกป้องสวัสดิภาพของสังคมโดยรวม ควบคู่ไปกับการเคารพสิทธิและเสรีภาพของทุกฝ่ายทั้งผู้ดื่มและผู้ไม่ดื่มซึ่งเป็นแนวทางปฏิบัติของอารยประเทศ ซึ่งพบว่าสามารถป้องกันสังคมจากพิษภัยของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้อย่างมีประสิทธิภาพกว่าการควบคุมแบบสุดโต่งบนฐานของศีลธรรม เช่น การเบลอภาพของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในรายการโทรทัศน์ ทั้งๆ ที่คนดูต่างก็รู้ว่าสิ่งที่ถูกเบลออยู่นั้นคืออะไร

*** สื่อชี้ชัดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เชื่อมโยงกับวัฒนธรรมถิ่น ***
นายโตมร ศุขปรีชา สื่อมวลชนและคอลัมนิสต์ กล่าวว่า เครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นส่วนหนึ่งในการดำรงชีวิตของมนุษย์มาแต่โบราณจนถึงปัจจุบัน เกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับสังคมและวัฒนธรรมในหลากหลายมิติ รวมถึงวัฒนธรรมอาหาร จึงมีเรื่องราวที่น่าสนใจอยู่เป็นจำนวนมาก เช่น วัฒนธรรมการผลิตและบริโภคไวน์ในยุโรป หรือการทำสาเกในประเทศญี่ปุ่น

อย่างไรก็ดี การนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีข้อจำกัดมากและในบางครั้งไม่อาจทำได้ เพราะถูกตีความว่าเป็นการชักจูงใจ ทั้งๆ ที่ความมุ่งหมายของสื่อมวลชนคือการนำเสนอวัฒนธรรมที่แตกต่างเพื่อขยายมุมมองของสาธารณชนเกี่ยวกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หาใช่การส่งเสริมให้คนดื่มอย่างไร้สติ การควบคุมโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จึงไม่ควรอิงกับหลักศีลธรรมแต่เพียงอย่างเดียวโดยมองข้ามมิติอื่น และต้องอยู่บนพื้นฐานที่เชื่อว่าประชาชนทุกคนมีเหตุผล สามารถตัดสินใจได้ด้วยตนเองอย่างเหมาะสม

อนึ่ง สมาคมธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไทย (Thai Alcoholic Beverage Business Association : TABBA) ก่อตั้งขึ้นในเดือนสิงหาคม 2552 โดยผู้ดำเนินธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 7 บริษัท ประกอบด้วย บริษัท ดิอาจิโอ โมเอ็ท เฮนเนสซี่ (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท ไทยเอเชีย แปซิฟิค บริวเวอรี่ จำกัด, บริษัท บาคาร์ดี (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท บราวน์ ฟอร์แมน (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท เพอร์นอต ริคาร์ด ประเทศไทย (จำกัด), บริษัท สยามไวเนอรี่ เทรดดิ้ง พลัส จำกัด และบริษัท อินดิเพนเดนท์ ไวน์ แอนด์ สปิริต (ประเทศไทย) จำกัด

สำหรับพันธกิจหลักของสมาคมฯ มี 2 ด้าน ได้แก่ 1. การสนับสนุนส่งเสริมการทำการตลาดและสื่อสารการตลาดของธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างมีจรรยาบรรณและรับผิดชอบต่อสังคม พร้อมร่วมมือกันกำหนดกฎเกณฑ์การควบคุมตนเอง (Self-Regulation) ในประเด็นดังกล่าว 2. ร่วมมือกับภาครัฐในทุกมิติ พร้อมนำเสนอข้อมูลวิจัยและงานวิชาการต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อการกำหนดแผนงาน นโยบาย และมาตรการต่างๆ ในการกำกับดูแลธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างถูกต้อง เหมาะสม และมีประสิทธิภาพ


กำลังโหลดความคิดเห็น