xs
xsm
sm
md
lg

ยกฎีกาถกกม.โฆษณาน้ำเมา ไม่อวดอ้างชักจูงถือว่าไม่ผิด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ (18 ส.ค.) สมาคมธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไทย จัดเสวนา "กฎหมายโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ : ถอดบทเรียนสื่อมวลชนและภาคธุรกิจ" ที่ Multi function Hall, C asean โดยมีการนำคำพิพากษาศาลฎีกา ที่ 15453/2557 มาเป็นแนวทางในการพิจารณา
นายประมาณ เลืองวัฒนะวณิช ทนายความ และผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย กล่าวว่า มาตรา 32 แห่ง พ.ร.บ. ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 วรรค 1 ระบุว่า "ห้ามมิให้ผู้ใดโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือแสดงชื่อหรือเครื่องหมายของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อันเป็นการอวดอ้างสรรพคุณ หรือชักจูงใจผู้อื่นดื่มโดยตรงหรือโดยอ้อม" หมายถึง สามารถโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ แต่ต้องไม่อวดอ้างสรรพคุณ อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมายังมีปัญหาเรื่องการตีความของเจ้าหน้าที่
แต่ หลังเกิดคดีความขึ้นจนศาลฎีกา ได้มีคำพิพากษา ที่ 15453/2557 ที่ให้แนวทางว่า การโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ฯ จะต้องอวดอ้างสรรพคุณ และชักจูงใจให้ผู้อื่นดื่มโดยตรง หรือโดยอ้อม และเห็นว่า การควบคุมที่มีประสิทธิภาพ ต้องใช้ดุลพินิจให้น้อยที่สุดและทำกฎเกณฑ์ หลักปฏิบัติให้ชัดเจน
นายธนากร คุปตจิตต์ นายกสมาคมธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไทย หรือ TABBAกล่าวว่า ตามคำพิพากษาของศาลฎีกา จะเห็นชัดเจนว่า การแสดงชื่อเครื่องหมายการค้าของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ถือว่าไม่ผิด โดยต้องยอมรับว่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทย ซึ่งปัญหาจากการตีความของเจ้าหน้าที่ที่ผ่านมา กระทบภาคธุรกิจ บริการ และการท่องเที่ยว ดังนั้น เมื่อเกิดความเห็นต่างที่เกิดจากการตีความของเจ้าหน้าที่ที่ผ่านมา จึงมีความพยายามผลักดันให้มีนักกฎหมายที่เป็นกลาง แต่ ก็ยังไม่เกิดขึ้นจนกระทั่งเกิดคำพิพากษาดังกล่าว
"ขอความชัดเจน และเป็นธรรมมีคำพิพากษาศาลฎีกาเป็นแนวทางแล้ว เจ้าหน้าที่ขอให้ใช้ดุลยพินิจไปในทางที่เป็นธรรมต่อไปด้วย" นายธนากร กล่าว
นายธนากร กล่าวด้วยว่า ปัญหาเมาแล้วขับ ต้องแก้ที่ต้นเหตุ ซึ่งเห็นว่าต้องอาศัยการมีส่วนร่วม มีตัวแทนจากทุกภาคส่วนเป็นที่ปรึกษา และต้องมีส่วนช่วยกันแก้ปัญหาร่วมกัน ซึ่งสมาคมฯได้มีกิจกรรมที่ร่วมรณรงค์แก้ปัญหาเมาแล้วขับมาโดยตลอด และหากจะพิจารณาสถิติการเกิดอุบัติเหตุช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่ผ่านมา จะพบว่าแม้สถิติการเกิดอุบัติเหตุจะเพิ่มขึ้น แต่สถิติการเมาแล้วขับ ลดลง สะท้อนถึงผลสำเร็จของการมีส่วนร่วมในการรณรงค์
สำหรับสิ่งที่ต้องการเห็นหลังจากนี้ นายธนากร กล่าวว่า อยากเห็นความชัดเจนในข้อกฎหมายที่ถูกต้อง เป็นธรรม มีแนวทางปฏิบัติที่นำไปสู่ความสัมฤทธิ์ผล เป็นธรรมโปร่งใส และคาดหวังว่า เมื่อเกิดความชัดเจนแล้วปัญหาที่เกิดจากการตีความของเจ้าหน้าที่จะลดลง
ด้าน ผช.ศาสตราจารย์ พิจิตรา สึคาโมโต้ ผู้เชี่ยวชาญด้านสื่อมวลชนศึกษา คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองว่า บุคคลมีสิทธิ์ในการดื่ม แต่ต้องมองว่า เมื่อดื่มแล้วนำไปสู่ภาระของรัฐ หรือสังคมหรือไม่ ซึ่งเป็นเหตุให้รัฐต้องเข้ามาควบคุม ทั้งนี้ การเข้ามาควบคุม หรือการกำหนดนโยบายต้องทำให้ถูกจุด และไม่เกิดความสับสนทั้งกับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติ และผู้ประกอบการ
ส่วนนายโตมร ศุขปรีชา สื่อมวลชน และคอลัมนิสต์ กล่าวว่า เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นส่วนหนึ่งในการดำรงชีวิตที่เชื่อมโยงกับสังคมและวัฒนธรรม ในหลายมิติ อย่างไรก็ตาม การนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มีข้อจำกัด และในบางครั้งไม่อาจทำได้เพราะถูกตีความว่า เป็นการชักจูงใจ ทั้งที่ความมุ่งหมายของสื่อมวลชนคือ การนำเสนอวัฒนธรรมที่แตกต่าง เพื่อขยายมุมมองของสาธารณชนเกี่ยวกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ไม่ใช่การส่งเสริมให้คนดื่มอย่างไร้สติ การควบคุมโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จึงไม่ควรอิงกับหลักศีลธรรมแต่เพียงอย่างเดียว โดยมองข้ามมิติอื่น และตั้งอยู่บนพื้นฐานที่เชื่อว่าประชาชนทุกคนมีเหตุผล สามารถตัดสินใจได้ด้วยตนเองอย่างเหมาะสม
กำลังโหลดความคิดเห็น