ลุ่มน้ำชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก มีพื้นที่ลุ่มน้ำ 8.18 ล้านไร่ ครอบคลุม 4 จังหวัด ได้แก่ ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด ประกอบด้วย 6 ลุ่มน้ำย่อย ได้แก่ ลุ่มน้ำชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก (ลุ่มน้ำสาขา) แม่น้ำเมืองตราด แม่น้ำจันทบุรี คลองโตนด แม่น้ำประแสร์ และคลองใหญ่
ถือเป็นลุ่มน้ำสำคัญ เพราะเป็นแหล่งผลไม้ แหล่งประมง แหล่งท่องเที่ยว แหล่งอุตสาหกรรม ทำรายได้มหาศาลในแต่ละปี และยังมีปัญหาเรื่องแหล่งน้ำต้นทุน พื้นที่ลุ่มน้ำที่เป็นตัวอย่างรูปธรรม เช่น สวนผลไม้ทุเรียน มังคุด เงาะ จันทบุรี-ระยอง-ตราด สินค้าอาหารทะเลบ้านเพ-อ่างศิลา แหล่งท่องเที่ยวพัทยา-บางแสน และอุตสาหกรรมปิโตรเคมี อิสเทิร์นซีบอร์ด สะท้อนถึงความต้องการน้ำในแต่ละกิจกรรมได้
หนึ่งในลุ่มน้ำย่อยที่สำคัญ คือ ลุ่มน้ำคลองโตนด หรือคลองวังโตนด ครอบคลุมพื้นที่ 3 อำเภอ ของจังหวัดจันทบุรี ได้แก่ อ.แก่งหางแมว อ.ท่าใหม่ และ อ.ท่ายายอาม ซึ่งอยู่ทางซีกซ้ายของ จ.จันทบุรี ติดกับ จ.ระยอง ส่วนซีกขวาเป็นพื้นที่ อ.เมืองจันทบุรี และอำเภออื่นๆ
จันทบุรีถือเป็นจังหวัดที่มีปริมาณฝนมากติดอันดับ 1-2 ของประเทศ แต่มีแหล่งเก็บกักน้ำน้อยมาก แถมมีการบุกรุกพื้นที่ป่าเป็นพื้นที่การเกษตร ดังนั้น ในฤดูฝนน้ำท่าจึงไหลลงเบื้องล่างอย่างรวดเร็วจนมักเกิดเหตุน้ำหลากท่วม ส่วนฤดูแล้งเนื่องจากไม่มีแหล่งเก็บกักน้ำจึงขาดแคลนน้ำเป็นประจำทุกปี เคยประสบปัญหาภัยแล้งรุนแรงเมื่อปี 2535 ราษฎรได้ร้องขอให้พัฒนาแหล่งน้ำเพื่อช่วยให้มีน้ำทำกิน พร้อมๆ กับป้องกันบรรเทาปัญหาอุทกภัย
กรมชลประทานได้เข้าไปศึกษาการพัฒนาแหล่งน้ำในลุ่มน้ำคลองโตนดซึ่งมีพื้นที่ลุ่มน้ำ 1 ล้านไร่เศษ มีปริมาณน้ำท่ารายปีเฉลี่ย 1,237 ล้านลูกบาศก์เมตร พื้นที่ตอนบนลาดชันสูง ปลูกไม้ผล พื้นที่ตอนล่าง ทำการประมง เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ผลการศึกษาพบว่า ต้องพัฒนาแหล่งน้ำ 4 โครงการ ได้แก่ อ่างเก็บน้ำคลองประแกด ความจุ 60 ล้านลูกบาศก์เมตร อ่างเก็บน้ำคลองพะวาใหญ่ ความจุ 68 ล้านลูกบาศก์เมตร อ่างเก็บน้ำคลองโตนด ความจุ 99 ล้านลูกบาศก์เมตร และอ่างเก็บน้ำคลองหางแมว ความจุ 80 ล้านลูกบาศก์เมตร ลักษณะของลำน้ำ 4 สาย คล้ายลำน้ำปิง วัง ยม น่าน ที่ไหลไปบรรจบเป็นแม่น้ำเจ้าพระยา โดยแบ่งเป็น 2 คู่ คือ คลองพะวาใหญ่จับคู่กับคลองประแกด คลองวังโตนดจับคู่กับคลองหางแมว เมื่อไหลมารวมกันภายใต้ชื่อคลองวังโตนด และมีฝายคลองวังโตนดทำหน้าที่เป็นเครื่องมือทดและกระจายน้ำไปยังพื้นที่การเกษตร
กรมชลประทาน โดยกองพัฒนาแหล่งน้ำขนาดกลาง เริ่มต้นด้วยโครงการอ่างเก็บน้ำคลองประแกด เป็นแห่งแรก ซึ่งนายประพิศ จันทร์มา ผู้อำนวยการกองพัฒนาแหล่งน้ำขนาดกลางกล่าวว่า การก่อสร้างมีความก้าวหน้าตามลำดับคาดว่าจะสามารถเก็บกักน้ำได้ในปี 2560 และก่อสร้างอ่างเสร็จโดยสมบูรณ์
ในปี 2561
ส่วนอีก 3 โครงการที่เหลือยังรอกระบวนการขอใช้พื้นที่ก่อสร้างจากหน่วยงานเกี่ยวข้อง เช่น กรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เนื่องจากมีทั้งพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติและพื้นที่ป่าอนุรักษ์ อย่างไรก็ดี ในขณะนี้มีความคืบหน้าพอสมควร หลังจากมีการหารือร่วมกันระหว่าง พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กับ พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเมื่อเร็วๆ นี้ เพื่อเร่งรัดหาทางออกสำหรับโครงการพัฒนาสำคัญๆ โดยเฉพาะอ่างเก็บน้ำพะวาใหญ่และอ่างเก็บน้ำคลองหางแมวที่ผ่านกระบวนการอื่นมาแล้ว เหลือขั้นตอนสุดท้ายเพียงการขอใช้พื้นที่เข้าไปก่อสร้างเท่านั้น
หากงานก่อสร้างโครงการทั้ง 4 แล้วเสร็จ ไม่เพียงแต่พื้นที่ลุ่มน้ำคลองวังโตนดจะได้รับประโยชน์จากโครงการพัฒนาแหล่งน้ำเหล่านี้เท่านั้น มากกว่านั้นปริมาณน้ำจำนวนมากเหล่านี้ ยังมีส่วนเกินมากพอที่จะเจียดจ่าย โดยผันน้ำผ่านฝายวังโตนดไปใช้ในพื้นที่ใกล้เคียง ไม่ว่าลุ่มน้ำประแสร์ที่ผันน้ำต่อไปยังลุ่มน้ำคลองใหญ่ หรือผันมาทางซีกขวาให้แก่ลุ่มน้ำจันทบุรีด้วยกันเอง เพื่อให้พื้นที่ลุ่มน้ำชายฝั่งทะเลภาคตะวันออกมีความมั่นคงด้านน้ำ
ท้งนี้ หากน้ำมีความมั่นคง พื้นที่ลุ่มน้ำแห่งนี้ก็ยิ่งทวีบทบาทและความสำคัญยิ่งขึ้น เป็นเขตเศรษฐกิจที่มีกิจกรรมครบวงจรยิ่งกว่าพื้นที่ใดในประเทศไทย