xs
xsm
sm
md
lg

กรมชลฯ มั่นใจสถานการณ์น้ำ 8 จว.ภาคตะวันออกไม่วิกฤตแน่นอน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

กรมชลประทาน แจงสถานการณ์ภัยแล้ง 8 จังหวัดภาคตะวันออก
ศูนย์ข่าวศรีราชา- กรมชลประทาน มั่นใจสถานการณ์น้ำ 8 จังหวัดภาคตะวันออกไม่วิกฤตแน่นอน โดยมีโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาเพื่อสนับสนุนพื้นที่ที่อาจมีปัญหาได้ทันท่วงที

นายเกิดชัย ธัญวัฒนกุล ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 9 กรมชลประทาน ซึ่งดูแลรับผิดชอบภาคตะวันออก กล่าวถึงสถานการณ์น้ำในพื้นที่ 8 จังหวัดภาคตะวันออก ประกอบด้วย จังหวัดชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด สระแก้ว ปราจีนบุรี นครนายก และฉะเชิงเทรา มั่นใจปัญหาภัยแล้งในปีนี้ไม่มีปัญหาอย่างแน่นอน เนื่องจากปริมาณน้ำในแต่ละอ่างฯ ในพื้นที่ภาคตะวันออกมีปริมาณน้ำเหลือเป็นจำนวนมาก

นอกจากนั้น ยังมีโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษา 6 แห่ง คือ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษานครนายก บางพลวง บางปะกง คลองสียัด ประแสร์ และขุนด่านปราการชล ที่สามารถผันน้ำไปช่วยเหลือในพื้นที่ที่ขาดแคลนได้ทันท่วงที

สำหรับจังหวัดชลบุรี มีอ่างเก็บน้ำ 13 แห่ง ความจุอ่างฯ รวม 295 ล้านลูกบาศก์เมตร ปัจจุบันมีปริมาณน้ำในอ่างฯ 109.5 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 37.1% ของความจุอ่างฯ น้อยกว่าปี 2558 จำนวน 18.0 ล้านลูกบาศก์เมตร พื้นที่ที่ประกาศสถานการณ์ภัยแล้ง 1 อำเภอ คือ เกาะสีชัง โดยได้รับการช่วยเหลือด้วยรถบรรทุกน้ำ 1 คัน

อ่างเก็บน้ำบางพระ มีความจุอ่างฯ 117 ล้านลูกบาศก์เมตร ปัจจุบันมีปริมาณน้ำในอ่าง 27.6 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 23.62% ของความจุอ่างฯ มีปริมาณน้ำใช้การ 15.6 ล้านลูกบาศก์เมตร ปริมาณน้ำน้อยกว่าปี 2558 จำนวน 14.5 ล้านลูกบาศก์เมตร มีการใช้น้ำในอ่างฯ วันละ 200,000 ลูกบาศก์เมตร

ประกอบด้วย การประปาส่วนภูมิภาค สาขาชลบุรี วันละ 140,000 ลูกบาศก์เมตร บริษัทไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) วันละ 10,000 ลูกบาศก์เมตร การไฟฟ้าฝ่ายผลิตบางปะกง วันละ 3,000 ลูกบาศก์เมตร และมีการระเหยรั่วซึมวันละ 50,000 ลูกบาศก์เมตร ซึ่งการใช้น้ำดังกล่าวถึงวันที่ 30 เม.ย.นี้ และวันที่ 1 พ.ค.2559 จะลดการใช้น้ำเหลือวันละ 160,000 ล้านลูกบาศก์เมตร

การประปาลดการใช้น้ำบางพระเหลือวันละ 100,000 ลูกบาศก์เมตร โดยจะนำน้ำจากแหล่งอื่นมาทดแทนวันละ 4,000 ลูกบาศก์เมตร ตามแผนของการประปา ซึ่งตามแผนจะสามารถใช้น้ำได้จนถึงสิ้นเดือน ก.ค.นี้ โดยไม่ขาดแคลน

นายเกิดชัย กล่าวว่า ส่วนโครงการแก้ไขปัญหาภัยแล้งในพื้นที่จังหวัดชลบุรีนั้น มีโครงการวางท่อส่งน้ำจากอ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล-หนองกลางดง-บางพระ ซึ่งใช้งบก่อสร้าง 892.24 ล้านบาท ปริมาณสูบน้ำได้ 40,000,000 ลูกบาศก์เมตร/ปี แล้วเสร็จพร้อมสูบน้ำ ได้ในวันที่ 15 เม.ย.2559 นี้ นอกจากนั้น ยังมีโครงการวางท่อส่งน้ำอ่างเก็บน้ำคลองหลวง-บ้านบึง-ชลบุรี วงเงินโครงการ 92.5 ล้านบาท สามารถสูบน้ำได้ 12,000,000 ลูกบาศก์เมตร/ปี โดยโครงการจะแล้วเสร็จกลางเดือน พ.ค.2559 นี้ โดยทั้ง 2 โครงการแล้วเสร็จก็จะแก้ไขปัญหาภัยแล้งได้

ด้านจังหวัดฉะเชิงเทรา มีอ่างเก็บน้ำ 5 แห่ง ความจุอ่างฯ รวม 481.1 ล้านลูกบาศก์เมตร ปัจจุบันมีน้ำในอ่างฯ 124.3 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 25.8% ของความจุอ่างฯ โดยปริมาณน้ำใช้การ 86.0 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งในพื้นที่ไม่มีประกาศสถานการณ์ภัยแล้ง แต่ในช่วงนี้สถานการณ์น้ำเค็มในแม่น้ำบางปะกง ทำให้การประปา สาขาบางปะกง และสาขาฉะเชิงเทรา ไม่สามารถใช้น้ำดังกล่าวได้ ดังนั้น การประปาสาขาฉะเชิงเทราใช้น้ำจากคลองเนื่องเขต ส่วนประปาสาขาบางปะกง ต้องใช้น้ำจากบริษัท อีสท์วอเตอร์ มาผลิตประปาแทน

นายเกิดชัย กล่าวต่อไปว่า สำหรับจังหวัดปราจีนบุรี มีอ่างเก็บน้ำ 4 แห่ง ความจุอ่างฯ รวม 16.2 ล้านลูกบาศก์เมตร ปัจจุบันมีน้ำในอ่างฯ 12.7 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 78.7% ของความจุอ่างฯ โดยในพื้นที่ไม่มีประกาศสถานการณ์ภัยแล้ง แต่มีสถานการณ์ความเค็มรุกล้ำในแม่น้ำปราจีนบุรี ถึงอำเภอเมือง จึงไม่สามารถใช้ผลิตน้ำประปาของการประปาฯ สาขาปราจีนบุรี โดยกรมชลประทานได้ให้การประปาฯ ใช้น้ำจากอ่างเก็บน้ำคลองไม้ปล้อง อ.เมือง มาใช้ผลิตประปาแทน

ที่จังหวัดสระแก้ว มีอ่างเก็บน้ำ 16 แห่ง ความจุอ่างฯ รวม 266.7 ล้านลูกบาศก์เมตร ปัจจุบันมีน้ำในอ่างฯ 57.0 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 21.4% ปริมาณน้ำใช้การได้ 41.1 ล้านลูกบาศก์เมตร มีพื้นที่ประกาศสถานการณ์ภัยแล้ง 4 อำเภอ 28 ตำบล 246 หมู่บ้าน โดยได้นำรถบรรทุกน้ำ 2 คันไปช่วยเหลือ

ส่วนจังหวัดนครนายก มีอ่างเก็บน้ำ 8 แห่ง ความจุอ่างรวม 250.2 ล้านลูกบาศก์เมตร ปัจจุบันน้ำในอ่างฯ 90.7 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 36.3% ไม่มีพื้นที่ประกาศสถานการณ์ภัยแล้ง โดยปริมาณน้ำเพียงพอสามารถผันมาช่วย จ.ชลบุ รีได้หากไม่มีฝนตก

นายเกิดชัย กล่าวว่า ในจังหวัดระยอง มีอ่างเก็บน้ำ 5 แห่ง ความจุอ่างฯ รวม 542.9 ล้านลูกบาศก์เมตร ปัจจุบันมีน้ำในอ่างฯ 353.4 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 65.1% โดยมีปริมาณน้ำใช้การ 313.4 ล้านลูกบาศก์เมตร ไม่มีพื้นที่ประกาศสถานการณ์ภัยแล้ง และไม่ขาดแคลน เนื่องจากมีการเชื่อมโยงน้ำระหว่างอ่างเก็บน้ำที่สมบูรณ์

สำหรับจังหวัดจันทบุรี มีอ่างเก็บน้ำ 2 แห่ง คือ อ่างเก็บน้ำคลองศาลทราย และอ่างเก็บน้ำคลองพระพุทธ โดยในพื้นที่จังหวัดจันทบุรี มีประกาศสถานการณ์ภัยแล้ง 10 อำเภอ 59 ตำบล 490 หมู่บ้าน โดยการช่วยเหลือโดยน้ำเครื่องสูบน้ำ 19 เครื่อง รถบรรทุกน้ำ 12 คัน เนื่องจากปัจจุบันยังมีแหล่งกักเก็บน้ำไม่เพียงพอ ทำให้ฤดูฝนเกิดน้ำท่วม และในฤดูแล้งเกิดการขาดแคลนน้ำ โดยในอนาคตมีแผนการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำในลุ่มน้ำคลองวังโตนด 3 แห่ง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำพวาใหญ่ อ่างเก็บน้ำแก่งหางแมว และอ่างเก็บน้ำวังโตนด มีความจุรวม 3 อ่างฯ 248.3 ล้านลูกบาศก์เมตร จะสามารถแก้ไขปัญหาภัยแล้งในจังหวัดจันทบุรีได้

ส่วนจังหวัดตราด มีอ่างเก็บน้ำ 7 แห่ง ความจุอ่างฯ รวม 184.1 ล้านลูกบาศก์เมตร ปัจจุบันมีน้ำในอ่างฯ 116.2 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 63.2% มีปริมาณน้ำใช้การ 107.3 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่ยังมีพื้นที่ประกาศสถานการณ์ภัยแล้ง 7 อำเภอ 36 ตำบล 249 หมู่บ้าน โดยให้การช่วยเหลือโดยเครื่องสูบน้ำ 1 เครื่อง รถบรรทุกน้ำ 3 คัน

ด้านนายโสกุล เชื้อภักดี ผู้อำนวยการฝ่ายวิศวกรรม บริษัท อีสท์วอเตอร์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ทางบริษัทฯ มีการวางท่อน้ำดิบหนองปลาไหล-หนองค้อ ที่ส่งจ่ายน้ำจากอ่างเก็บน้ำหนองปลาไหลไ ปยังอ่างเก็บน้ำหนองค้อ สูบจ่ายน้ำเฉลี่ยประมาณ 245,000 ลูกบาศก์เมตร/วัน เป็นการสูบน้ำจากอ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล เพื่อส่งไปยังผู้ใช้น้ำในพื้นที่บ่อวิน-ปลวกแดง ประมาณ 85,000 ลูกบาศก์เมตร/วัน และในพื้นที่จังหวัดชลบุรี 160,000 ลูกบาศก์เมตร/วัน ซึ่งขณะนี้ระบบท่อมีการใช้งานเต็มศักยภาพแล้ว และในอนาคตมีแผนการสำรวจ และออกแบบรายละเอียดท่อเส้นที่ 2 ขึ้น จึงไม่มีปัญหาขาดแคลนน้ำในพื้นที่จังหวัดระยอง และชลบุรี
กรมชลประทานวางแผนการใช้น้ำและผันน้ำจากอ่างฯต่างๆ
อ่างเก็บน้ำบางพระ ลดลง เตรียมผันน้ำจากแหล่งอื่นมาช่วยเหลือ
กำลังโหลดความคิดเห็น