ศูนย์ข่าวศรีราชา - ชลประทานเผยปีนี้พัทยาอาจเจอปัญหาแล้งหนัก หลังพบฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล ขณะที่ปริมาณน้ำดิบอาจไม่พอเพียงต่อการผลิต ระบุเตรียมสูบน้ำบางปะกงเติมบางพระผันช่วย 17 ล้าน ลบ.ม. เร่งแผนงานรองรับปัญหาในอนาคต ระบุปี 58 ระบบท่อส่งน้ำดิบน้ำคู่ขนาน 3 แนวทางแล้วเสร็จได้น้ำดิบเพิ่มกว่า 100 ลบ.ม. คงสามารถรองรับปัญหาได้ในระยะยาว
นายบุญสม ยุติธรรมภิญโญ หัวหน้าฝ่ายจัดการน้ำและปรับปรุงระบบ สำนักงานชลประทานที่ 9 เปิดเผยถึงสถานการณ์ในที่ประชุมสมาคมนักธุรกิจและการท่องเที่ยวเมืองพัทยา ที่โรงแรมแกรนด์โซเลย์ เมืองพัทยา จ.ชลบุรี ว่า สำหรับสถานการณ์น้ำดิบในพื้นที่ภาคตะวันออกในปัจจุบันนั้นพบว่าในภาพรวมของหลายจังหวัดถือว่าไม่มีปัญหาเนื่องจากมีปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์
เช่น สระบุรี จันทบุรี ตราด และปราจีนบุรี แต่ในส่วนอีก 3 จังหวัด ได้แก่ ฉะเชิงเทรา ระยอง และชลบุรี นั้น พบว่าสถานการณ์น้ำอยู่ในภาวะที่น่าวิตกพอสมควร
เนื่องจากมีปริมาณน้ำน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ ด้วยเหตุที่ฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล ซึ่งจากสถิติแล้วในทุกฤดูฝนจะมีปริมาณฝนเฉลี่ยอยู่ที่ 1,000 มม. แต่ปีนี้กลับพบว่ามีปริมาณเพียง 700 มม.เท่านั้น หรือต่ำกว่าเดิม 30% ทำให้ปริมาณน้ำในอ่างกักเก็บทั้ง 8 อ่างของจังหวัดชลบุรี มีปริมาณน้อยกว่าปีที่ผ่านมาเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอ่างเก็บน้ำหลักอย่างอ่างบางพระ ซึ่งในปี 2556 จะมีปริมาณน้ำอยู่ที่ 43 ล้าน ลบ.ม. แต่ปีนี้กลับมีปริมาณน้ำเพียง 29 ล้าน ลบ.ม.เท่านั้น
ขณะที่อ่างเก็บน้ำมาบประชัน ซึ่งถือเป็นอ่างหลักในการจ่ายน้ำดิบเข้าสู่ระบบการผลิตในพื้นที่เมืองพัทยานั้น ก็มีปริมาณน้ำเหลือเพียง 5 ล้าน ลบ.ม. ต่ำกว่าปีที่แล้วซึ่งมีปริมาณอยู่ที่ 8.8 ล้าน ลบ.ม.หรือต่ำกว่าประมาณ 3.3 ล้าน ลบ.ม.ขณะที่การผลิตเฉลี่ยอยู่ที่ 1.8 แสน ลบ.ม./วัน จึงทำให้ปริมาณน้ำอาจมีปัญหาขณะที่อีก 4 อ่างหลัก ก็ประสบปัญหาการขาดแคลนเช่นกัน
ที่สำคัญในช่วงปลายปียังอาจเกิดเหตุการณ์ปรากฏการณ์ธรรมชาติอย่าง “เอลนีโญ” ขึ้นก็อาจทำให้สภาวะฤดูต่างๆ คลาดเคลื่อนและภัยแล้งหลีกเลี่ยงได้ลำบาก
อย่างไรก็ตาม ขณะที่กรมชลประทานมีแผนงานในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างเร่งด่วน โดยมอบหมายให้บริษัทอีสทฺวอเตอร์ ทำการผันน้ำดิบจากลุ่มน้ำบางปะกง มาตามท่อส่งน้ำที่วางไว้ในช่วงแก้วิกฤตภัยแล้งของจังหวัดชลบุรีในปี 2548
โดยปัจจุบัน ได้ทำการเชื่อมต่อวางระบบต่อเชื่อมโยงกันครบทุกแหล่งกักเก็บแล้ว เพื่อนำน้ำดิบมาเติมในอ่างเก็บน้ำบางพระ ตามแผน จำนวน 17 ล้าน ลบ.ม. หรือเฉลี่ยเดือนละ 3-4 ล้าน ลบ.ม.จะทำให้ปริมาณน้ำดิบที่อ่างบางพระอยู่ที่เกณฑ์ 47 ล้าน ลบ.ม.ก่อนส่งจ่ายน้ำเข้ามายังระบบกักเก็บ และการผลิตของเมืองพัทยาต่อไป ซึ่งคาดว่าคงจะสามารถรองรับปัญหาไปได้จนถึงช่วงต้นปี 2558
นายบุญสม กล่าวต่อว่า ในอนาคตกรมชลประทานยังมีแนวทางการแก้ไขปัญหาภัยแล้งที่ได้จัด สรรงบประมาณลงไปดำเนินการและจัดทำเป็นที่เรียบร้อยแล้วใน 3 โครงการสำคัญ ได้แก่ 1.การจัดทำระ บบส่งน้ำพร้อมว่างท่อส่งเพื่อผันน้ำจากคลองพระองค์เจ้าไชยานุชิต ซึ่งรับน้ำมาจากเขื่อนเจ้าพระยา และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เพื่อนำน้ำดิบมาเข้าสู่ระบบจำนวนกว่า 70 ล้าน ลบ.ม./ปี
2.การวางระบบท่อส่งเพื่อผันน้ำมาจากคลองวังโตนด จากจังหวัดจนบุรี ผ่านมาทางอ่างเก็บน้ำปะแสร์ และหนองปลาไหล
โดยทั้ง 2 โครงการนี้จะมีการ test ระบบภายในเดือนธันวาคมนี้ และจะสามารถผันน้ำมาได้ในระยะเวลาอันนใกล้
ขณะที่แผนงานที่ 3.คือ การผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำมาบหวายโสม ในตำบลเขาไม้แก้ว อ.บางละมุง ตามเส้นท่อมาลงลงอ่างเก็บน้ำมาบประชัน ซึ่งจะได้น้ำประมาณ 700 ลบ.ม./ชม. เพียงแต่ปัจจุบันยังตติดต่อปัญหาเรื่องการต่อต้านจากประชาชนในพื้นที่
ขณะที่น้ำจากฝั่งสัตหีบ ชัยพฤกษ์ และจอมเทียนนั้น ก็จะมีการรับน้ำมาจากอ่างชากนอก ที่มีแผนผันน้ำมาจากคลองห้วยใหญ่ ที่ได้ดำเนินการขุดลอกไปแล้ว รวมทั้งน้ำจากการประปาส่วนสัตหีบ และอีสท์วอเตอร์ เป็นหลัก ซึ่งคงสามารถแก้ไขปัญหาในระยะยาวได้ แต่ทั้งนี้ ในปี 57 ควบไปถึงปี 58 ก็คงต้องวอนให้ประชาชนช่วยกันประหยัดการใช้น้ำ และทำการกักตุนเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำอุปโภคบริโภคเป็นการชั่วคราวด้วย