หลังจากเกิดปรากฏการณ์ฮือฮาเมื่อมีแมงกะพรุนหลากสี ลอยขึ้นมาเต็มพื้นที่ท้องทะเลอ่าวสีวิกา จ.ระยอง ในเย็นวันเดียวกันทางเพจ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ก็ได้ออกมาให้ข้อมูลเกี่ยวกับแมงกะพรุนดังกล่าวว่าเป็นแมงกะพรุนถ้วย ในกลุ่มมีพิษไม่รุนแรง
เมื่อวันที่ 22 ส.ค. ที่ผ่านมา มีรายงานข่าวว่า ได้เกิดปรากฏการณ์แมงกะพรุนหลากสี ลอยเต็มทะเลบริเวณอ่าวสีวิกา อุทยานแห่งชาติเขาแหลมหญ้า-หมู่เกาะเสม็ด ต.เพ อ.เมือง จ.ระยอง ทำให้มีนักท่องเที่ยวจำนวนมากพากันแห่ชม และถ่ายภาพแมงกะพรุนหลากสี ที่ลอยอยู่บริเวณท่าเทียบเรือของอุทยานฯ โดยส่วนใหญ่เป็นแมงกะพรุนที่มีลักษณะลำตัวสีขาว สีน้ำตาล และสีดำ
ทั้งนี้หลังเกิดปรากฏการณ์ดังกล่าว นายสุเมธ สายทอง หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาแหลมหญ้า-หมู่เกาะเสม็ด ได้ออกมากเปิดเผยว่า แมงกะพรุน ที่พบเป็นแมงกะพรุน(ถ้วย) สี ซึ่งบริเวณท่าเทียบเรืออ่าวสีวิกาของอุทยานฯ เป็นพื้นที่ที่ไม่มีการทำการประมง จึงทำให้น้ำทะเลใสสะอาด และไม่มีคลื่น โดยในช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายนของทุกปี จะมีแมงกะพรุนหลากสีเข้ามาอาศัยหากินแพลงก์ตอนบริเวณนี้เป็นจำนวนมาก และมักมีนักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวชมปรากฏการณ์ทางธรรมชาติดังกล่าวอยู่เสมอ โดยขณะนี้ อุทยานฯ ได้ประกาศห้ามนักท่องเที่ยวไม่ให้ลงเล่นน้ำแล้ว เพราะเกรงว่าอาจได้รับอันตรายจากแมงกะพรุนสี
“ส่วนมากจะพบแมงกะพรุนหลากสีในช่วงเช้า และเย็นของทุกวัน ซึ่งขณะนี้ทางอุทยานฯ ได้เตรียมสถานที่เพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยวที่จะเข้ามาชมปรากฏการณ์ธรรมชาติของแมงกะพรุนหลากสีที่บริเวณท่าเทียบเรือแล้ว โดยจะจัดสถานที่สำหรับกางเต็นท์ให้นักท่องเที่ยวได้เข้ามาชม และคาดว่าน่าจะมีนักท่องเที่ยวหลั่งไหลเข้ามาชม เพราะขณะนี้มีนักท่องเที่ยวโทรศัพท์สอบถามรายละเอียดต่างๆ เป็นจำนวนมาก”
ขณะที่ในเพจ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ก็ได้ออกมาให้ข้อมูลเบื้องต้นในวันเดียวกัน ว่า...
"ปีนี้พบมาก ที่เขาแหลมหญ้า"
วันที่ ๒๒ สิงหาคม ๒๕๕๗ กรม ทช. โดยศูนย์อนุรักษ์ ทช. ที่๑ (จ.ระยอง) เข้าพื้นที่ตรวจสอบปรากฎการณ์แมงกะพรุนถ้วยหลากสีจำนวนมาก บริเวณท่าเทียบเรือ ในอ่าวอุทยานฯ เขาแหลมหญ้า จ.ระยอง ทั้งนี้ไม่ควรสัมผัสเพราะบางคนอาจแพ้ ทำให้เป็นผื่นคัน และจะพบมากในช่วงเช้าและช่วงเย็นในช่วงที่คลื่นสงบ
นอกจากนี้ ในช่วงเย็นของวันเดียวกัน ทางเพจ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ก็ได้ออกมาให้ข้อมูลว่า
"สรุปปรากฏการณ์แมงกะพรุนหลากสี ระยอง"
วันที่ ๒๒ สิงหาคม ๒๕๕๗ กรม ทช. โดยศูนย์วิจัยและพัฒนา ทช. อ่าวไทยตะวันออก เข้าพื้นที่ตรวจสอบปรากฎการณ์แมงกะพรุนหลากสีสะพรั่งบริเวณท่าเทียบเรือในอ่าวอุทยานฯ เขาแหลมหญ้า จ.ระยอง พบว่าเป็นแมงกะพรุนถ้วยชนิด Catostylus townsendii ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีพิษไม่รุนแรง พบกระจายทั่วไปบริเวณชายฝั่งตะวันออก พบมากในเดือน ส.ค.-พ.ย. สาเหตุการสะพรั่ง เนื่องจากช่วงนี้เป็นช่วงฤดูของกุ้งเคย ที่เป็นอาหารของแมงกะพรุน
สำหรับแมงกะพรุนถ้วย ข้อมูลในวิกิพีเดีย ระบุว่า ...เป็นสัตว์น้ำไม่มีกระดูกสันหลังจำพวกแมงกะพรุนชนิดหนึ่ง อยู่ในสกุล Aurelia
มีรูปร่างคล้ายกับถ้วย คือ เมดูซ่าด้านบนของร่างกายจะโค้งนูน ส่วนด้านล่างเว้าเข้าเป็นด้านที่มีปาก ตรงบริเวณขอบมีนวดโดยรอบและมีอวัยวะรับความรู้สึกที่เรียกว่า เทนตาคูโลซีสต์ เรียงอยู่ตรงขอบเป็นระยะ ๆ เทนตาโคลูซีสต์แต่ละหน่วยประกอบด้วย ด้านล่างของลำตัวเป็นช่องปากอยู่บนมานูเบรียม รอบ ๆ ปากมีออรัลอาร์ม ลักษณะแบนและยาวรวม 4 อัน บริเวณนี้มีเนมาโตซิสต์ หรือเข็มพิษอยู่มาก ออรัลอาร์มทำหน้าที่จับเหยื่อเข้าปากเช่นเดียวกับหนวดของไฮดรา ต่อจากช่องปากเป็นเอนเตอรอนซึ่งแยกออกเป็น 4 กระเปาะ ต่อจากกระเปาะแต่ละอันมีท่อรัศมีมากมายผ่านมีโซเกลียไปยังท่อวงแหวน ที่อยู่รอบขอบของร่างกาย และในแต่ละกระเปาะจะมีอวัยวะสืบพันธุ์รูปตัวยู กระเปาะละอัน ติดอยู่กับพื้นล่างของเยื่อแกสโตรเดอร์มีส ทำหน้าที่สร้างเซลล์สืบพันธุ์ผิวนอกของร่างกายทั้งหมดเป็นเซลล์เอปิเดอร์มี ส่วนเซลล์ที่บุในระบบย่อยอาหาร ตลอดจนท่อต่าง ๆ ภายในร่างกาย รวมทั้งอวัยวะสืบพันธุ์เป็นเซลล์ในชั้นแกสโตรเดอร์มีส
แมงกะพรุนถ้วย ถือเป็นแมงกะพรุนที่มีพิษ แต่ไม่ร้ายแรงถึงขั้นมีอันตรายต่อชีวิต แมงกะพรุนถ้วยมีสีสันต่าง ๆ กันที่หลากหลาย อาศัยอยู่ทั้งในเขตน้ำตื้นและน้ำลึก ในช่วงเช้าส่วนมากจะพบมากในเขตน้ำตื้น เพราะจะถูกน้ำทะเลพัดมาในเวลากลางคืน และก็จะหาอาหารในเขตน้ำตื้นไปด้วยในช่วงที่อยู่ในเขตน้ำตื้น ซึ่งอาหารก็ได้แก่ ปลาและสัตว์น้ำขนาดเล็กต่าง ๆ โดยการใช้เข็มพิษให้หมดสติ และกินเป็นอาหาร...
สำหรับในเมืองไทยในช่วงปลายฝนต้นหนาวราวเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาได้เกิดปรากฏการณ์แมงกะพรุนถ้วยลอยมาร่วมใกล้ชายฝั่งร่วมกับแมงกะพรุนชนิดอื่นเป็นจำนวนที่ชายฝั่งทะเลตราด ขณะที่ในปีนี้ก็ได้เกิดปรากฏการณ์ดังกล่าวขึ้นที่ทะเลระยองตามที่กล่าวมาข้างต้น ซึ่งนายสุเมธ ได้ฝากเตือนนักท่องเที่ยว และประชาชนในพื้นที่ว่า ไม่ควรตื่นตระหนกต่อปรากฏการณ์การเปลี่ยนแปลงสมดุลของระบบนิเวศทางทะเล พร้อมแนะนำไม่ให้นักท่องเที่ยวลงเล่นน้ำบริเวณดังกล่าว เพราะอาจสัมผัสถูกแมงกะพรุน หรือแพลงก์ตอนที่เป็นอาหารจนก่อให้เกิดอาการแพ้ได้
นอกจากนี้ ทางอุทยานฯ ยังได้ประกาศห้ามลงเล่นน้ำในบริเวณดังกล่าว เพื่อป้องกันการได้รับอันตรายจากการสัมผัสกับแมงกะพรุนถ้วย และห้ามจับแมงกะพรุนถ้วย พร้อมกับให้คำแนะนำนักท่องเที่ยวที่จะมาชมแมงกะพรุนว่า ควรมาช่วงเช้าและ ช่วงเย็น จะมีแมงกะพรุนถ้วย เล่นบนผิวน้ำมากกว่า เนื่องจากเวลาดังกล่าวมีแดดไม่แรงมากนัก
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล travel_astvmgr@hotmail.com