“อาคม” สั่ง ทช.หาทางออก เลี่ยงทุบสะพานตากสินและแก้ปัญหาคอขวดรถไฟฟ้าบีทีเอส โดยไม่ต้องยกเลิกสถานีสะพานตากสิน พร้องเร่ง กทม.ส่งรายละเอียดด้านเทคนิคและวิศวกรรมกรณีปรับแบบก่อสร้างใหม่ โดยขอทุบสะพานตากสินข้างละ 1.80 เมตร เพื่อใช้วางรางบีทีเอสเพิ่ม ระบุไม่มั่นใจทางเทคนิคจะทำได้
นายพิศักดิ์ จิตวิริยะวศิน อธิบดีกรมทางหลวงชนบท (ทช.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการปรับปรุงสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส สถานีสะพานตากสิน (S6) ว่าเมื่อวันที่ 8 ส.ค.ที่ผ่านมา นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้เรียกประชุมผู้เกี่ยวข้องเพื่อติดตามความคืบหน้าซึ่งก่อนหน้านี้ ทช.ได้ประชุมร่วมกับผู้แทนกรุงเทพมหานคร (กทม.) ในเดือน ก.พ.และ มี.ค. 2559 รวม 3 ครั้ง แต่ยังไม่ได้ข้อสรุป เนื่องจาก กทม.ยังไม่ส่งรายละเอียดเพิ่มเติมเข้ามาให้พิจารณา โดย รมว.คมนาคมได้มอบหมายให้ ทช. และสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) พิจารณาแนวทางในการดำเนินการที่เหมาะสมร่วมกับ กทม. พร้อมทั้งให้ ทช.พิจารณาหาทางออกที่ไม่ต้องทุบสะพานตากสิน เพื่อหารือกับ กทม.เพิ่มเติมด้วย
ทั้งนี้ จากที่มีผู้แทนกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจริมแม่น้ำเจ้าพระยาและชุมชนในเขตบางรัก ได้มีหนังสือถึงกระทรวงคมนาคมเมื่อปี 2558 คัดค้านการทุบสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส สะพานตากสิน (S6) เพื่อรองรับส่วนต่อขยายสายสีสม (ตากสิน-บางหว้า) โดยล่าสุด กทม.ได้เสนอปรับแบบก่อสร้างใหม่โดยคงสถานีตากสินไว้ แต่จะต้องรื้อชานชาลาที่พักผู้โดยสารปัจจุบันออกเพื่อขยายพื้นที่ชานชาลาเพิ่มเพื่อให้วางรางได้อีก 1 ราง ซึ่งจะใช้พื้นที่สะพานตากสินข้างละ 1.80 เมตร และขยายสะพานด้านแม่น้ำออกเพื่อทดแทนส่วนที่ถูกทุบ
โดยในส่วนของ ทช.นั้น เห็นว่าในด้านวิศวกรรมไม่น่าจะดำเนินการได้ ดังนั้นจึงให้ กทม.ทำแบบรายละเอียด รายการคำนวณทางวิศวกรรมต่างๆ ทั้งการวิเคราะห์แบบจำลอง การวิเคราะห์น้ำหนักบรรทุก ผลกระทบทางกาบภาพของสะพานก่อนและหลังการเปลี่ยนแปลงขั้นตอนและวิธีการก่อสร้าง ซึ่ง กทม.มีบริษัทที่ปรึกษาและออกแบบดำเนินการ แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่มีการชี้แจงรายละเอียดเพิ่มเติมตามที่ ทช.ขอไป จึงทำให้ยังไม่สามารถพิจารณาใดๆ ได้
“เมื่อเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา ทช.ได้ทำหนังสือสอบถามไปยัง กทม.แล้วครั้งหนึ่ง แต่ กทม.ยังไม่ได้ส่งรายละเอียดเข้ามา หลังจากนี้จะทำหนังสือสอบถามไปยัง กทม.อีกครั้ง อย่างไรก็ตาม รมว.คมนาคมมีความกังวลในประเด็นรถไฟฟ้าบีทีเอส สถานีสะพานตากสิน เนื่องจากมีสภาพเป็นคอขวดที่กระทบต่อระบบโดยรวม และหากไม่เร่งแก้ไขหรือทางออกจะเกิดปัญหาสำหรับระบบรางในอนาคตได้ ซึ่ง ทช.จะต้องเร่งหารือ กทม. รวมถึงหาทางออกในรูปแบบอื่นที่ไม่ต้องทุบสะพานตากสิน เพราะในด้านเทคนิคและวิศวกรรมเชื่อว่าจะมีผลกระทบอย่างมาก ในขณะเดียวกัน ทาง กทม.จะต้องยอมรับในค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นด้วย”