xs
xsm
sm
md
lg

เอกชนมั่นใจเศรษฐกิจครึ่งปีหลัง จี้รัฐเร่งลดภาษีนำเข้าสินค้าหรู กระตุ้นกำลังซื้อในประเทศ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นางสาววัลยา จิราธิวัฒน์ ประธานสมาคมศูนย์การค้าไทย
ผู้จัดการรายวัน 360 - สมาคมศูนย์การค้าไทยมั่นใจกำลังซื้อครึ่งปีหลังฟื้นตัวขึ้น เหตุนักท่องเที่ยวต่างชาติช่วยสร้างรายได้เพิ่มขึ้นกว่า 20% วอนรัฐเร่งออกมาตรการลดภาษีนำเข้าสินค้าแบรนด์ดัง พร้อมมาตรการลดภาษีต่อเนื่องเพื่อเพิ่มบรรยากาศการจับจ่าย ด้านสมาคมผู้ค้าปลีกไทยแนะผู้ประกอบการเร่งใช้เทคโนโลยีเพิ่มประสิทธิภาพการจ้างงาน หวังมีส่วนช่วยผลักดันการเติบโตทางจีดีพี 70% จากปัจจุบันที่มีเพียง 15% เผยครึ่งปีแรกซูเปอร์มาร์เกตเติบโตสูงสุด 8% รองลงมาคือร้านสะดวกซื้อ 3% และไฮเปอร์มาร์เกต 2% ขณะที่ห้างสรรพสินค้าเติบโตเพียง 1-2% ลดลงจากปี 2553 ซึ่งเคยเติบโต 8-10%

นางสาววัลยา จิราธิวัฒน์ ประธานสมาคมศูนย์การค้าไทย เปิดเผยว่า ภาพรวมเศรษฐกิจไทยในครึ่งปีหลังมีแนวโน้มดีขึ้นและเชื่อมั่นกำลังซื้อของผู้บริโภคจะเริ่มฟื้นตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วงครึ่งปีหลังซึ่งมีเทศกาลต่างๆ อย่างหลากหลาย เช่น วันแม่แห่งชาติ วันพ่อแห่งชาติ รวมถึงเทศกาลคริสต์มาส ตลอดจนช่วงส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ซึ่งคาดว่าจะทำให้มีบรรยากาศการใช้จ่ายที่ดีขึ้น จึงคาดหวังว่ารัฐบาลจะมีการออกมาตรการต่างๆ เพื่อกระตุ้นผู้บริโภคให้มีการจับจ่ายสูงขึ้น โดยเฉพาะมาตรการชอปเพื่อชาติซึ่งได้ผลอย่างน่าพอใจเมื่อปี 2558

สัญญาณบวกชัดเจนที่จะส่งผลให้ภาวะเศรษฐกิจดีขึ้นคือการเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยวต่างชาติซึ่งคาดว่าในปี 2559 น่าจะมีจำนวนมากกว่า 30 ล้านคน ทั้งยังนำรายได้เข้าประเทศเพิ่มขึ้นจากปีก่อนถึง 20% ซึ่งถือเป็นจำนวนที่มากกว่าภาคเกษตรกรรม ศูนย์การค้าจึงควรเร่งจัดโปรโมชันต่างๆ เพื่อเพิ่มแรงจูงใจให้นักท่องเที่ยวต่างชาติมีการจับจ่ายภายในประเทศไทยมากขึ้น

*** ดันใช้มาตรการลดภาษีนำเข้าสินค้าแบรนด์ดังต้นปี 60 ***
“ขณะนี้สมาคมฯ กำลังเร่งผลักดันให้รัฐบาลอนุมัติมาตรการลดภาษีนำเข้าสินค้าแบรนด์หรู หรือสินค้าลักชัวรี โดยคาดว่าหากได้รับการอนุมัติภายในสิ้นปี 2559 จะสามารถมีผลบังคับใช้ภายในต้นปี 2560 ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ดึงความสนใจให้มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามายังประเทศไทยเพื่อจับจ่ายมากขึ้นจากที่นิยมเดินทางไปยังประเทศสิงคโปร์และฮ่องกงซึ่งใช้นโยบายนี้จนประสบความสำเร็จมาแล้ว”

นางสาววัลยายังกล่าวถึงมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมสินค้าท้องถิ่นไทย (OTOP Extravaganza) ว่า ศูนย์การค้าแต่ละแห่งต่างมีการสนับสนุนสินค้าโอทอปมาโดยตลอดอยู่แล้ว ซึ่งแม้ว่าสัดส่วนการขายจะไม่สูงมากนักแต่ก็ถือเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยกระตุ้นยอดจำหน่ายรวมของธุรกิจค้าปลีกให้เพิ่มมากขึ้น ตลอดจนเป็นส่วนสำคัญในการเสริมความแข็งแกร่งให้นโยบายประชารัฐด้วย โดยในส่วนของสมาคมฯ ยังให้การสนับสนุนการจัดงานจำหน่ายสินค้าโอทอปต่างๆ อย่างต่อเนื่อง รวมถึงมีการประชาสัมพันธ์ผ่านช่องทางออนไลน์เพื่อแสดงให้เห็นว่าผู้ค้าปลีกมีความเข้าใจและร่วมกันผลักดันสินค้าโอทอปสู่ผู้บริโภคมากขึ้น
ดร.ฉัตรชัย ดวงรัตนพันธ์ ผู้อำนวยการบริหารสมาคมผู้ค้าปลีกไทย
*** เร่งขับเคลื่อนค้าปลีกมีส่วน 70% ดันจีดีพี ***
ดร.ฉัตรชัย ดวงรัตนพันธ์ ผู้อำนวยการบริหารสมาคมผู้ค้าปลีกไทย กล่าวถึงภาวะเศรษฐกิจประเทศไทยในช่วงครึ่งหลังปี 2559 ว่า แม้ธนาคารแห่งประเทศไทยได้มีการประเมินว่ากำลังซื้อของผู้บริโภคยังไม่สูงมากนัก แต่เริ่มมีทิศทางที่ดีขึ้นดังจะเห็นได้จากอัตราการเติบโตทางจีดีพีในช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมาซึ่งอยู่ในระดับ 3% ส่วนในช่วงครึ่งปีหลังน่าจะอยู่ในระดับ 2.8% ส่งผลให้มีอัตราการเติบโตโดยรวมประมาณ 3%

ปัจจุบันภาคอุตสาหกรรมมีส่วนเพิ่มการเติบโตของอัตราจีดีพีถึง 40% พร้อมสร้างงาน 5.8 ล้านคน ขณะที่ภาคการค้าและบริการมีส่วนเพิ่มการเติบโต 45% สร้างงานรวม 14 ล้านคน โดยในส่วนของธุรกิจค้าปลีกมีส่วนเพิ่มการเติบโตประมาณ 15% พร้อมสร้างการจ้างงาน 6 ล้านคน ขณะที่ธุรกิจค้าปลีกในบางประเทศ เช่น ญี่ปุ่น และจีน มีส่วนเพิ่มการเติบโตทางจีดีพีสูงถึง 70% ธุรกิจค้าปลีกไทยจึงจำเป็นต้องมีการเร่งนำเทคโนโลยีเพิ่มประสิทธิภาพการจ้างงานมากขึ้นและมีส่วนช่วยผลักดันการเติบโตทางจีดีพีให้ได้ 70% เช่นกัน

อัตราการเติบโตทางจีดีพีของประเทศไทยยังคงขึ้นกับ 4 เสาหลักทางเศรษฐกิจ คือ ภาคการนำเข้าและส่งออก ภาคเกษตรกรรม ภาคการใช้จ่ายและการลงทุนของรัฐบาล และภาคการค้าและบริการ โดยในส่วนของธุรกิจค้าปลีกซึ่งอยู่ในภาคการค้าและบริการมีการเติบโตในช่วงครึ่งปีแรก 2.65% จึงคาดว่าเมื่อถึงสิ้นปีจะเติบโต 2.6-2.8%

*** ห้างฯ เติบโตลดลงต่อเนื่องเพียง 1-2% ***
ดร.ฉัตรชัยกล่าวด้วยว่า ภาพรวมของธุรกิจค้าปลีกในช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมาเมื่อแยกเป็นแต่ละเซกเมนต์พบว่า ซูเปอร์มาร์เกตมีการเติบโตสูงสุด 8% รองลงมาคือร้านสะดวกซื้อ 3% และไฮเปอร์มาร์เกต 2% ขณะที่ห้างสรรพสินค้าเติบโตเพียง 1-2% ลดลงจากปี 2558 ที่เติบโต 3.5% ถือว่าลดลงต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงก่อนปี 2553 ซึ่งเคยเติบโต 8-10% เนื่องจากสินค้าแบรนด์หรูจากต่างประเทศที่มีจำหน่ายในประเทศไทยมีราคาสูงกว่าต่างประเทศเนื่องจากต้องเสียภาษีนำเข้าในอัตราสูง จึงทำให้คนไทยนิยมเดินทางไปชอปปิ้งต่างประเทศมากขึ้น

“จากข้อมูลล่าสุดเมื่อปี 2557 พบว่าคนไทยมีการใช้จ่ายในการเดินทางไปท่องเที่ยวและช้อปปิ้งต่างประเทศ 1.7 แสนล้านบาท แยกเป็นการช้อปปิ้งสินค้าแบรนด์หรู 5.1 หมื่นล้านบาท สมาคมผู้ค้าปลีกไทย จึงมีการร่วมมือกับผู้ประกอบการ เพื่อผลักดันให้รัฐบาลอนุมัติใช้มาตรการลดภาษีนำเข้าสินค้าแบรนด์หรูโดยเร็วที่สุด เพื่อช่วยลดการใช้จ่ายด้านช้อปปิ้งสินค้าแบรนด์หรูจากต่างประเทศให้เหลือเพียง 2.5 หมื่นล้านบาทซึ่งจะช่วยสร้างรายได้หมุนเวียนให้ประเทศมากขึ้น”

ภาวะธุรกิจห้างสรรพสินค้าของประเทศไทยในปัจจุบันที่มีการเพิ่มจำนวนมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง เป็นเพราะการเปิดเขตประชมคมเศรษฐกิจอาเซียนส่งผลให้มีกลุ่มเป้าหมายเพิ่มขึ้นถึง 200 ล้านคน จากเดิมที่มีเพียง 65 ล้านคนในประเทศไทยเท่านั้น

ดร.ฉัตรชัย ยังกล่าวถึงการออกเสียงประชามติ ร่างรัฐธรรมนูญและคำถามเพิ่ม ในวันอาทิตย์ที่ 7 ส.ค.59 ว่า โดยส่วนตัวแล้วเห็นว่าการออกเสียงประชามติครั้งนี้ไม่ได้ส่งผลต่อกำลังซื้อและการบริโภคโดยตรง เพราะเชื่อว่าภาวะเศรษฐกิจของประเทศผ่านจุดต่ำสุดมาแล้ว แต่ในภาพรวมของภาคธุรกิจล้วนต้องการความแน่นอนทางการเมืองเพื่อการวางแผนและกำหนดกลยุทธ์ทางธุรกิจซึ่งหากสถานการณ์ทางการเมืองอยู่ในภาวะสงบย่อมส่งผลให้กำลังซื้อของผู้บริโภคฟื้นตัวขึ้นเพราะมีความมั่นใจ ขณะเดียวกันยังจะส่งผลต่อการขับเคลื่อนนโยบาย Thailand 4.0 ของภาครัฐให้เป็นไปตามเป้าหมายได้มากขึ้น



กำลังโหลดความคิดเห็น