xs
xsm
sm
md
lg

มีเป็นหมื่นบริษัท! กรมพัฒน์ฯ จ่อลบรายชื่อทิ้งหลังพบไม่ทำธุรกิจแล้ว ป้องกันคนโดนโกง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กรมพัฒน์ฯ เตรียมลบรายชื่อนิติบุคคลกว่า 1 หมื่นชื่อออกจากสารบบ หลังเจ้าของไม่ส่งงบการเงิน และไม่มีผู้ชำระบัญชี เพื่อป้องกันประชาชนถูกหลอกลวงว่ายังดำเนินการอยู่ และป้องกันความเสียหายทางเศรษฐกิจที่อาจเกิดขึ้น คาดขีดชื่อทิ้งได้หมดภายในเดือน ก.ย.นี้

น.ส.ผ่องพรรณ เจียรวิริยะพันธ์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า กรมฯ ได้ทำการตรวจสอบนิติบุคคลที่มีสำนักงานใหญ่ในเขตกรุงเทพฯ พบว่ามีนิติบุคคลที่มีมูลเหตุชัดเจนว่าเป็นธุรกิจร้างอยู่กว่า 10,701 ราย จากนิติบุคคลที่ดำเนินกิจการอยู่ทั่วประเทศจำนวน 635,024 ราย แบ่งกรณีไม่ส่งงบการเงินย้อนหลัง 3 ปีติดต่อกัน จำนวน 8,821 ราย และกรณีจดทะเบียนเลิกแล้ว แต่ไม่มีผู้ชำระบัญชีทำการอยู่ จำนวน 1,880 ราย โดยคาดว่าจะออกคำสั่งขีดชื่อห้างหุ้นส่วนบริษัทร้างออกจากทะเบียนได้ภายในเดือน ก.ย. 2559 นี้

“นิติบุคคลกว่า 1 หมื่นรายนี้สร้างความคลุมเครือให้กับธุรกิจไทย เพราะไม่ทราบสถานะที่แท้จริงของนิติบุคคลว่ายังดำเนินการอยู่หรือไม่ อาจเกิดการหลอกลวงประชาชนให้เข้าใจผิดว่านิติบุคคลนั้นยังดำเนินการอยู่ และส่งผลกระทบต่อการประเมินเศรษฐกิจของประเทศตามมา จึงต้องทำการปรับปรุงข้อมูลนิติบุคคลให้ตรงกับความเป็นจริงมากที่สุด”

อย่างไรก็ตาม การถอนทะเบียนร้างของนิติบุคคล แม้จะมีผลให้สิ้นสภาพการเป็นนิติบุคคล แต่ความรับผิดชอบของหุ้นส่วนผู้จัดการ ผู้เป็นหุ้นส่วน กรรมการ ผู้จัดการ และผู้ถือหุ้นยังคงต้องมีอยู่ และสามารถเรียกบังคับได้เสมือนยังไม่ได้สิ้นสภาพนิติบุคคล และนิติบุคคลดังกล่าวอาจฟื้นคืนสู่ทะเบียนได้อีกครั้ง ถ้าผู้มีส่วนได้ส่วนเสียยื่นคำร้องต่อศาลหากได้รับผลระทบที่ไม่เป็นธรรมจากการที่นิติบุคคลนั้นถูกขีดชื่อออกจากทะเบียน โดยศาลจะเป็นผู้พิจารณาว่าเหมาะสมที่จะกลับคืนสู่ทะเบียนหรือไม่ โดยการยื่นคำร้องต้องกระทำภายใน 10 ปีนับตั้งแต่วันที่นายทะเบียนขีดชื่อออกจากทะเบียน

น.ส.ผ่องพรรณกล่าวว่า ผู้ที่ประกอบธุรกิจและมีการจัดตั้งเป็นนิติบุคคล มีหน้าที่ต้องจัดทำงบการเงินประจำปียื่นต่อกรมฯ เพื่อแสดงสถานะทางการเงินและผลการดำเนินธุรกิจประจำปี โดยถือเป็นหน้าที่ที่จะต้องรับผิดชอบ เพื่อให้การทำธุรกิจเป็นไปอย่างโปร่งใส มีธรรมาภิบาล และยังช่วยให้ภาครัฐสามารถนำตัวเลขงบการเงินไปใช้ประเมินวิเคราะห์ทิศทางของเศรษฐกิจไทยว่ามีการเติบโตมากน้อยเพียงไร เพื่อจะได้กำหนดยุทธศาสตร์ทางการค้าของประเทศไทยได้อย่างถูกต้อง

สำหรับขั้นตอนการดำเนินการถอนทะเบียนร้าง กรมฯ จะดำเนินการใน 2 กรณี คือ 1. กรณีเชื่อว่านิติบุคคลไม่ได้ประกอบธุรกิจหรือกิจการใดๆ นายทะเบียนจะมีหนังสือฉบับแรกถึงนิติบุคคลเพื่อสอบถามว่ายังประกอบกิจการอยู่หรือไม่ เมื่อครบ 30 วัน นับแต่วันที่ส่งหนังสือฉบับแรกแล้ว นายทะเบียนยังไม่ได้รับแจ้งจากนิติบุคคล หรือได้รับแจ้งจากนิติบุคคลว่าไม่ได้ประกอบกิจการแล้ว นายทะเบียนจะโฆษณาลงหนังสือพิมพ์ พร้อมกับมีหนังสือฉบับที่ 2 ถึงนิติบุคคลที่นายทะเบียนไม่ได้รับแจ้ง ว่ายังประกอบกิจการอยู่ เพื่อแจ้งว่าเมื่อพ้น 90 วันนับแต่วันที่ส่งหนังสือฉบับที่ 2 นิติบุคคลนั้นจะถูกขีดชื่อออกจากทะเบียน เว้นแต่จะแสดงเหตุให้เห็นเป็นอย่างอื่น

2. กรณีเชื่อว่าไม่มีตัวผู้ชำระบัญชีทำการอยู่ นายทะเบียนจะมีหนังสือฉบับแรกถึงนิติบุคคลและผู้ชำระบัญชีเพื่อแจ้งให้ดำเนินการเพื่อให้มีตัวผู้ชำระบัญชี หรือยื่นรายงานการชำระบัญชี หรือจดทะเบียน เสร็จการชำระบัญชี แล้วแต่กรณี หากไม่ดำเนินการดังกล่าวภายใน 180 วันนับแต่วันที่ส่งหนังสือฉบับแรก นายทะเบียนจะโฆษณาลงหนังสือพิมพ์ พร้อมกับมีหนังสือฉบับที่ 2 ถึงนิติบุคคลและผู้ชำระบัญชี เพื่อแจ้งว่า เมื่อพ้น 90 วันนับแต่วันที่ส่งหนังสือฉบับที่ 2 นิติบุคคลนั้นจะถูกขีดชื่อออกจากทะเบียน เว้นแต่แสดงเหตุให้เห็นเป็นอย่างอื่น
กำลังโหลดความคิดเห็น