“พาณิชย์” บินถก FTA ไทย-อินเดีย หวังสามารถหาข้อสรุปกันได้เพื่อลดอุปสรรคทางการค้า เพิ่มโอกาสในการส่งออกและนำเข้า หลังยืดเยื้อมานานกว่า 10 ปี และผู้นำต่างเร่งรัดให้สรุปผลการเจรจาโดยเร็ว เผยไทยสามารถใช้อินเดียเจาะไปยังเอเชียใต้ ตะวันออกกลาง และเข้าไปลงทุนได้ ส่วนอินเดียใช้ไทยเป็นฐานเจาะอาเซียน และเอเชียตะวันออก
น.ส.ศิรินารถ ใจมั่น อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า จะเป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการเจรจาการค้าไทย-อินเดีย ครั้งที่ 30 ระหว่างวันที่ 13-14 ก.ค. 2559 ณ กรุงนิวเดลี อินเดีย โดยไทยหวังว่า หากการเจรจาครั้งนี้สามารถสรุปผลการเจรจาจัดทำข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) ระหว่างกันได้ ก็จะทำให้เกิดการแก้ไขอุปสรรคทางการค้าในรูปแบบภาษีและไม่ใช่ภาษี การเพิ่มโอกาสการส่งออกและนำเข้าสินค้า รวมถึงวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตระหว่างกันมากขึ้น ซึ่งจะเป็นโอกาสในการขยายการค้าและการลงทุนระหว่างกัน
ทั้งนี้ การเจรจา FTA ไทย-อินเดีย ยืดเยื้อมานานกว่า 10 ปี เนื่องจากทั้งสองฝ่ายยังไม่สามารถตกลงกันได้ในหลายประเด็น เช่น ข้อเสนอการเปิดตลาดสินค้า การเปิดตลาดการค้าบริการ การเปิดเสรีด้านการลงทุน เป็นต้น โดยการประชุมครั้งนี้จะเป็นการประชุมหลังเว้นว่างมากว่า 1 ปี ทั้งๆ ที่การพบปะหารือระหว่างผู้นำไทย-อินเดีย ที่ผ่านมาหลายครั้ง สองฝ่ายมีความเห็นพ้องกันให้เร่งหาข้อสรุปการเจรจาโดยเร็ว
สำหรับการเจรจาครั้งนี้จะประกอบด้วย การประชุมคณะกรรมการเจรจาการค้า (TNC) ควบคู่ไปกับการประชุมคณะทำงานกลุ่มย่อย เช่น คณะทำงานด้านการค้าสินค้า คณะทำงานด้านกฎถิ่นกำเนิดสินค้าและศุลกากร คณะทำงานด้านการค้าบริการ คณะทำงานด้านการลงทุน คณะทำงานด้านมาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช (SPS) และคณะทำงานด้านมาตรการอุปสรรคที่เป็นเทคนิคทางการค้า (TBT)
น.ส.ศิรินารถกล่าวว่า ไทยสามารถใช้อินเดียเป็นจุดเชื่อมโยงไปยังประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชียใต้ และตะวันออกกลาง และยังสามารถเข้าไปลงทุนในอินเดียในอุตสาหกรรมต่างๆ ได้ โดยที่ผ่านมามีบริษัทไทยที่เข้าไปลงทุนในอินเดียแล้ว เช่น บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด บริษัท อิตาเลียนไทย เดเวล๊อปเมนต์ จำกัด และบริษัท ศรีไทยซุปเปอร์แวร์ จำกัด
ส่วนอินเดียนั้นสามารถใช้ไทยเป็นศูนย์กลางลอจิสติกส์เพื่อเชื่อมโยงไปยังประเทศอาเซียนอื่น รวมไปถึงประเทศในเอเชียตะวันออก เช่น จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ เป็นต้น โดยจะเป็นศูนย์กลางในการกระจายสินค้าและแหล่งลงทุนใหม่ให้แก่อินเดียได้ ในขณะที่อินเดียมีนโยบาย Act East ที่สอดคล้องกับไทยที่มีนโยบาย Look West และนโยบาย Make in India ที่จะดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศมากยิ่งขึ้น
ในปี 2558 อินเดียเป็นคู่ค้าอันดับที่ 15 ของไทย และเป็นคู่ค้าอันดับที่ 1 ของไทยในภูมิภาคเอเชียใต้ โดยการค้าสองฝ่ายมีมูลค่า 7,924.25 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 8.44 จากปีก่อนหน้า โดยไทยส่งออกมูลค่า 5,295.87 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 5.68 และนำเข้ามูลค่า 2,628.39 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 13.53 และไทยได้เปรียบดุลการค้า 2,667.48 ล้านเหรียญสหรัฐ
โดยสินค้าที่มีศักยภาพส่งออกของไทยไปอินเดีย เช่น เพชรพลอย อัญมณีและเครื่องประดับ สินค้าอุปโภคบริโภค น้ำผลไม้ ผลไม้แปรรูปอื่นๆ อาหารแปรรูป ของเล่น เครื่องใช้ไฟฟ้า และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น และสินค้าที่ไทยนำเข้าจากอินเดีย เช่น เครื่องเพชรพลอย อัญมณี เคมีภัณฑ์ สินแร่โลหะ เศษโลหะ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์เวชกรรม เภสัชกรรม เป็นต้น