xs
xsm
sm
md
lg

ก.อุตฯ กางแผนปั้นผู้ประกอบการธุรกิจ SMEs รุ่นใหม่ปี 60 อีก 4,000 ราย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กระทรวงอุตสาหกรรมกางแผนปั้น SMEs รุ่นใหม่ภายใต้โครงการ Spring Up กระโดดสู่ความเป็นผู้นำธุรกิจ เตรียมเปิดอีก 2 รุ่นในสิ้นปีนี้พร้อมจัดงบปี 60 ทุ่ม 80 ล้านบาทติวเข้ม 4,000 ราย

นายสมชาย หาญหิรัญ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยถึงความก้าวหน้าของโครงการ SMEs Spring Up ว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการฝึกอบรมเป็นเวลา 7 สัปดาห์ โดยจะสิ้นสุดในเดือนกรกฎาคมนี้ จากที่ได้มีการคัดเลือกผู้ประกอบการ SMEs รุ่นใหม่ อายุระหว่าง 30-40 ปี หรือเป็นทายาทธุรกิจที่มีความสำเร็จในระดับหนึ่งเข้าร่วมโครงการครอบคลุมหลายสาขากิจการ และในช่วงปลายปีนี้จะเปิดอบรมอีก 2 รุ่น รวม 200 ราย ประมาณเดือนกันยายน และพฤศจิกายน 2559 ตามลำดับ โดยโครงการดังกล่าวเป็นหลักสูตรการพัฒนา SMEs ระดับสูงสุด เกิดขึ้นภายใต้คณะกรรมการร่วมทั้งภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อสร้างผู้ประกอบการที่มีศักยภาพสูงให้กลายเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงในสาขาธุรกิจเพื่อก้าวไปสู่ระดับสากล โดยจะเป็นโครงการต่อเนื่องที่จัดเป็นประจำทุกปี

สำหรับในปี 2560 กระทรวงอุตสาหกรรม โดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) ได้รับงบประมาณ 80 ล้านบาท มีเป้าหมายสร้างผู้ประกอบการสตาร์ทอัพ 4,000 ราย แบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มเทคสตาร์ทอัพ 900 ราย ซึ่งส่วนนี้จะเป็นการสร้างธุรกิจด้วยนวัตกรรม และความคิดสร้างสรรค์ กลุ่มผู้ประกอบการทั่วไป หรือเอสเอ็มอี สตาร์ทอัพ 2,800 ราย และกลุ่มนักศึกษาจบใหม่ที่เริ่มต้นทำธุรกิจอีก 300 ราย โดยในกลุ่ม “เทค สตาร์ทอัพ” ใช้งบประมาณต่อหัวประมาณ 4-5 หมื่นบาท เน้นด้านบริหารจัดการองค์กร และเทคโนโลยี แต่จะเกิดเป็นธุรกิจใหม่ได้น้อยกว่าการสร้างผู้ประกอบการสตาร์ทอัพทั่วไป ที่ใช้งบประมาณต่อหัวประมาณ 2-3 หมื่นบาท

นอกจากนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมยังมีนโยบายปฏิรูปภาคอุตสาหกรรมครั้งใหญ่โดยยกระดับไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 ตามแนวทางประเทศไทย 4.0 ของรัฐบาล โดยมีกรอบการดำเนินงาน 3 ด้านด้วยกัน ดังนี้ 1. การปฏิรูปอุตสาหกรรม ประกอบด้วย (1) การปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอนาคต ด้วยการเพิ่มศักยภาพด้านการวิจัยและพัฒนา (R&D) นำนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ และพัฒนาเครือข่ายอุตสาหกรรมอนาคต (2) การขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก ด้วยการเพิ่มขีดความสามารถสู่ SMEs (3) การยกระดับผลิตภาพ มาตรฐานและนวัตกรรมในสถานประกอบการ

2. การปฏิรูปนิเวศอุตสาหกรรม เช่น การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน/เขตเศรษฐกิจพิเศษ/นิคมอุตสาหกรรม พัฒนาทุนมนุษย์ร่วมกับกระทรวงที่เกี่ยวข้อง ระบบความร่วมมือแบบประชารัฐ มีการบูรณาการการดำเนินงานร่วมกับภาคเอกชน ภาคการเงิน สถาบันการศึกษาและสถาบันวิจัย และปรับกลไกภาครัฐ กฎระเบียบ ให้เอื้อต่อการค้าและการลงทุน 3. การสร้างความเชื่อมโยงอุตสาหกรรมไทยกับเศรษฐกิจโลก ด้วยการเชื่อมโยงการผลิต/การตลาดโดยใช้ดิจิตอล การส่งเสริมและพัฒนาคลัสเตอร์ใหม่ที่เชื่อมโยงห่วงโซ่การผลิต การค้าและการลงทุนในภูมิภาค
กำลังโหลดความคิดเห็น