xs
xsm
sm
md
lg

กระทรวงอุตฯ นำร่องคัด 100 รายร่วม SMEs Spring Up

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กระทรวงอุตสาหกรรมเปิดตัวโครงการ SMEs Spring Up หลักสูตรเสริมความรู้เพื่อยกระดับเอสเอ็มอีไทยปี 59 เตรียมนำร่องคัดเลือกเอสเอ็มอี 100 รายเข้าร่วมโครงการ PTTGC ชี้เป็นนโยบายที่ดีที่จะทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตไปได้ด้วยกันทุกภาคส่วน


นางอรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยหลังเป็นประธานเปิดตัวโครงการ SMEs Spring Up หลักสูตรการอบรมระดับสูงที่รวบรวมผู้บริหารภาคเอกชนชั้นนำขนาดใหญ่ของประเทศ เพื่อถ่ายทอดความรู้การบริหารจัดการและด้านต่างๆ แก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ว่าปี 2559 กระทรวงอุตสาหกรรมจะนำร่องคัดเลือกผู้ประกอบการเอสเอ็มอีจากสาขาอุตสาหกรรมต่างๆ ที่มีศักยภาพรวมถึงผู้ประกอบการอุตสาหกรรมที่เคยได้รับรางวัลต่างๆ จากกระทรวงอุตสาหกรรม องค์กรธุรกิจที่มีกิจกรรมทางสังคมที่โดดเด่นและนักวิชาการที่มีชื่อเสียง ตลอดจนสถาบันการเงินต่างๆ ประมาณ 100 คน เข้าร่วมอบรมหลักสูตรครั้งนี้ คาดว่าหลังจากจบโครงการจะสามารถเพิ่มศักยภาพให้เอสเอ็มอีมากขึ้น

รวมทั้งเป็นการสร้างความตระหนักในเรื่องมาตรฐานผลิตภัณฑ์และนวัตกรรมให้กับเอสเอ็มอีในวงกว้างด้วย โดยผลลัพธ์จากการเรียนรู้หลักสูตรดังกล่าว กระทรวงอุตสาหกรรมจะพิจารณานำมาเป็นแผนการดำเนินงานในการพัฒนาเอสเอ็มอีของกระทรวงอุตสาหกรรมในอนาคตต่อไป

นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ ประธานกรรมการบริษัท พีทีที โกลบอลเคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ PTTGC ว่า สำหรับความร่วมมือระหว่างภาครัฐ และภาคเอกชนในการดำเนินโครงการเอสเอ็มอี สปริงอัพ (SMEs Spring Up) ถือเป็นแนวนโยบายประชารัฐที่มีเป้าหมายที่ดีในการส่งเสริมให้เศรษฐกิจไทยเติบโตไปด้วยกันในทุกภาคส่วนของอุตสาหกรรม ทั้งบริษัทขนาดใหญ่ และขนาดเล็ก ในการเข้าถึงเทคโนโลยีที่มีการเปลี่ยนแปลง จำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการให้ความสำคัญใน 3 ด้าน ไม่ว่าจะเป็นมาตรฐาน การเพิ่มผลผลิต (Productivity) และนวัตกรรมซึ่งทั้งหมดจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการขับเคลื่อนภาคการผลิตให้กับกลุ่มเอสเอ็มอีให้สามารถแข่งขันได้ และเติบโตแบบก้าวกระโดดอย่างมั่นคง

ทั้งนี้ จากมติ ครม.ที่กำหนดให้ 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคต (New Engine of Growth) ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ ซึ่งขณะนี้จากการหารือร่วมกันทั้งภาครัฐและเอกชน มีความเห็นร่วมกันชัดเจนแล้วในเรื่องของพื้นที่รองรับเพื่อการต่อยอดการลงทุนแล้วในภาคตะวันออก ได้แก่ ระยอง ชลบุรี ฉะเชิงเทรา ซึ่งจะเป็นการพัฒนาในรูปแบบคลัสเตอร์ ที่มี พ.ร.บ.มารองรับ โดยจะอยู่ในพื้นที่การลงทุนที่เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ เพื่อเป็นการดึงดูดการลงทุนให้มีความสะดวกแก่นักลงทุนเข้ามาในพื้นที่มากขึ้น

ขณะนี้ในส่วนของภาคเอกชนเริ่มมีความชัดเจนในเรื่องของเป้าหมายการต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่ม โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์จากภาคเกษตร ได้แก่ มันสำปะหลัง และอ้อย ซึ่งเป็นพืชนำร่องสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมไบโออีโคโนมี (Bioeconomy) ที่คาดว่าจะสร้างมูลค่าเพิ่มได้ถึง 2 เท่าในอีก 5-10 ปีข้างหน้า โดยในส่วนนี้จะดำเนินการลงทุนในรูปแบบคลัสเตอร์ที่มีโรงงานต้นแบบ (Bio Refinery) เพื่อแยกวัตถุดิบทางการเกษตรเช่น อ้อย มันสำปะหลัง ได้ผลิตภัณฑ์ อาทิ เชื้อเพลิงชีวภาพ (Biofuel) นำไปผลิตเป็นเอทานอล ไบโอแมส นำไปผลิตไฟฟ้า อาหารสัตว์ เครื่องมือแพทย์ และยา เป็นต้น
กำลังโหลดความคิดเห็น