“อาคม” กำชับเข้มงวดรักษาความปลอดภัยเต็มรูปแบบ คงมาตรการระดับ 3 ของสนามบินไทย และประสานข้อมูลข่าวสารต่อเนื่องทุกโหมด ทั้งสนามบิน รถไฟ และสถานีขนส่ง หลังเหตุเหตุระเบิดฆ่าตัวตายที่สนามบินอิสตันบูล ตุรกี ขณะที่สนามบินดอนเมืองฝึกซ้อมเหตุการณ์ขู่วางระเบิดอากาศยาน ส่วนแอร์พอร์ต เรลลิงก์ เพิ่มความเข้มงวดการตรวจสอบบุคคล-วัตถุต้องสงสัยและใต้ท้องรถยนต์
จากเหตุคนร้าย 3 คนใช้ปืนไรเฟิลอัตโนมัติกราดยิงใส่ผู้โดยสาร ก่อนจะกดระเบิดฆ่าตัวตายบริเวณทางเข้าสนามนานาชาติ อะตาเติร์ก ของนครอิสตันบูล ประเทศตุรกี เมื่อคืนที่ผ่านมาทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บเป็นจำนวนมากนั้น นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ในส่วนของมาตรการรักษาความปลอดภัยภายในท่าอากาศยานของไทยนั้น ในปัจจุบันท่าอากาศยานทุกแห่งของประเทศไทยได้ดำเนินมาตรการรักษาความปลอดภัยอยู่ในระดับ 3 เป็นระดับความเข้มงวดสูงสุดอยู่แล้ว ไม่เคยมีการปรับลดมาระยะหนึ่งแล้ว โดยทุกหน่วยงานที่ปฏิบัติภารกิจภายในท่าอากาศยานโดยเฉพาะหน่วยงานด้านความมั่นคงทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยแต่ละท่าอากาศยานได้มีการประสานการทำงานและข้อมูลข่าวสารกันอย่างต่อเนื่องเพิ่มความเข้มงวดของการรักษาความปลอดภัยทุกรูปแบบ รวมถึงมาตรการรักษาความปลอดภัยภายในสถานีขนส่งผู้โดยสาร และสถานีรถไฟทุกแห่งด้วย
สนามบินดอนเมืองฝึกซ้อมเต็มรูปแบบแผนฉุกเฉิน สมมติเหตุการณ์ขู่วางระเบิดอากาศยาน
โดยในวันนี้ (29 มิ.ย.) บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. ได้ดำเนินการจัดการฝึกซ้อมเต็มรูปแบบตามแผนฉุกเฉินท่าอากาศยาน ประจำปี 2559 ที่ท่าอากาศยานดอนเมือง เป็นการฝึกซ้อมร่วมของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยใช้สถานการณ์สมมติกรณีการขู่วางระเบิดอากาศยาน (Bomb Threat Aircraft)
นายเพ็ชร ชั้นเจริญ ผู้อำนวยการท่าอากาศยานดอนเมือง ทอท.กล่าวว่า การฝึกซ้อมดังกล่าวเป็นไปตามข้อบังคับของคณะกรรมการการบินพลเรือน และตามมาตรฐานและข้อเสนอแนะขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (International Civil Aviation Organization : ICAO) ระบุใน Annex 14 Aerodromes และ Document 9137 Airport Service Manual Part 7 Airport Emergency Planning ที่ระบุให้ท่าอากาศยานแต่ละแห่งจัดให้มีการฝึกซ้อมแผนฉุกเฉินของท่าอากาศยานเป็นประจำทุกปีอย่างสม่ำเสมอ นอกจากนั้นยังจะทำให้ทุกหน่วยที่เกี่ยวข้องทั้งภายในและภายนอกได้รับทราบและเข้าใจเกี่ยวกับแนวทางการปฏิบัติเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน รวมทั้งยังเป็นการทดสอบการสั่งการ การติดต่อสื่อสาร การแจ้งเหตุ ขั้นตอนการปฏิบัติของทุกหน่วย การประสานงานร่วมกันระหว่างหน่วยปฏิบัติการหลักและหน่วยสนับสนุนต่างๆ รวมทั้ง ทดสอบความเพียงพอของทรัพยากรในการจัดการสถานการณ์ฉุกเฉินของสนามบิน
ทั้งนี้ การฝึกซ้อมจะเป็นการจำลองสถานการณ์ โดยศูนย์รักษาความปลอดภัยท่าอากาศยานดอนเมืองได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่สายการบินสมมติ คือ Zoom Air ว่ามีบุคคลชายโทรศัพท์แจ้งมายังสายการบินว่ามีระเบิด ซุกซ่อนอยู่ในสัมภาระบรรทุกของผู้โดยสารในเที่ยวบิน ZA 2559 โดยศูนย์รักษาความปลอดภัยท่าอากาศยานดอนเมืองได้แจ้งหอบังคับการบินและด่านตรวจคนเข้าเมืองท่าอากาศยานกรุงเทพเพื่อขอระงับเที่ยวบินดังกล่าวเป็นการชั่วคราว และได้แจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมประเมินความเป็นไปได้ของสถานการณ์ซึ่งได้ผลประเมินว่ามีความเป็นไปได้และน่าเชื่อถือ แต่ไม่ใช่เป็นการก่อการร้าย ดังนั้น ผู้อำนวยการท่าอากาศยานดอนเมืองได้ประกาศเข้าสถานการณ์ฉุกเฉิน และขอให้ดำเนินการตามแผนฉุกเฉินของท่าอากาศยานดอนเมือง บทที่ 10 การขู่วางระเบิดอากาศยาน
ทั้งนี้ ได้ดำเนินการนำอากาศยานไปยัง Isolate Parking Stand การดำเนินการปิดล้อมพื้นที่โดยรอบอากาศยานในรัศมีอย่างน้อย 100 เมตรพร้อมกันบุคคลที่ไม่เกี่ยวข้องเข้าพื้นที่ การอพยพผู้โดยสาร ลูกเรือ ลงจากอากาศยาน รวมทั้งได้จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการ ฉุกเฉิน ทดม. (Emergency Operations Center : EOC) หลังจากนั้น สายการบินได้นำผู้โดยสารและลูกเรือทั้งหมดตรวจค้นร่างกายและสัมภาระติดตัวก่อนเข้าสู่พื้นที่พักคอยผู้โดยสาร (Passenger Holding Area) ในขณะที่เจ้าหน้าที่ทำลายวัตถุระเบิด ทดม.ร่วมกับเจ้าหน้าที่ทำลายวัตถุระเบิด กองทัพอากาศ เข้าตรวจค้นอากาศยาน สัมภาระ สินค้า และไปรษณียภัณฑ์ และไปรษณียภัณฑ์ทุกชิ้น ไม่พบว่ามีวัตถุต้องสงสัยตามคำขู่ หลังจากขั้นตอนตรวจค้นผู้โดยสาร สัมภาระติดตัวอากาศยาน และสัมภาระบรรทุกเสร็จสิ้นก็จะนำผู้โดยสารมาชี้สัมภาระและสิ่งของของตน ปรากฏว่าสัมภาระทุกชิ้นมีเจ้าของ ไม่ปรากฏวัตถุระเบิดหรือวัตถุอันตรายอื่นใด เมื่อผู้บัญชาการ ณ ที่เกิดเหตุ (On Scene Commander) ได้สรุปรายงานผลการตรวจค้นตามขั้นตอน รวมทั้งหน่วยงานเกี่ยวข้องตรวจสอบ รายงานผลการดำเนินงานว่าปลอดภัย พร้อมที่จะนำเที่ยวบินดังกล่าวกลับมาดำเนินการปกติ จึงยกเลิกสถานการณ์ฝึกซ้อม
แอร์พอร์ต เรลลิงก์ เข้มตรวจคน-รถยนต์-วัตถุต้องสงสัยก่อนเข้าระบบ
นายสุเทพ พันธุ์เพ็ง รักษาการรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ กลุ่มสายงานปฏิบัติการและซ่อมบำรุง บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท.จำกัด หรือผู้ให้บริการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรลลิงก์ เปิดเผยว่า หลังจากเกิดเหตุการณ์กลุ่มคนร้ายลอบยิงปืนและจุดระเบิดฆ่าตัวตายในท่าอากาศยานนานาชาติ “อะตาเติร์ก” ในนครอิสตันบูล ของประเทศตุรกี เมื่อวันอังคารที่ผ่านมาจนทำให้มีผู้บาดเจ็บและผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก บริษัทฯ จึงได้กำหนดให้เน้นย้ำความเข้มงวดด้านมาตรการรักษาความปลอดภัยสูงสุดในการให้บริการแก่ผู้โดยสารในระบบรถไฟฟ้าซึ่งเป็นมาตรการที่บริษัทได้บังคับใช้มาโดยตลอดภายหลังจากเกิดเหตุเกิดเหตุการณ์ระเบิดรถไฟฟ้าใต้ดิน ที่กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม เมื่อช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา โดยเน้นมาตรการรักษาความปลอดภัยเชิงป้องกันเป็นการเฉพาะเพิ่มเติมในช่วงระยะเวลาที่จำกัด โดยมีความเป็นไปได้สูงที่อาจเกิดเหตุการณ์ที่อาจส่งผลกระทบต่อระบบความปลอดภัยหรือเกิดภัยคุกคาม แม้ว่าจะไม่สามารถกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจน ซึ่งมีมาตรการต่างๆ ได้แก่
1. เพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบสัมภาระผู้โดยสารบริเวณสถานีรถไฟฟ้าทุกสถานี 2. เพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบบุคคลและวัตถุต้องสงสัยที่เข้าสู่ระบบรถไฟฟ้า 3. เตรียมกำลังพลชุดสุนัขตรวจวัตถุระเบิด (K9) 4. เพิ่มการตรวจใต้ท้องรถยนต์และท้ายรถยนต์ที่จะเข้ามาในลานจอดรถสถานีรถไฟฟ้ามักกะสัน หากผู้ใดพบเห็นสิ่งผิดปกติ สิ่งของหรือบุคคลต้องสงสัยหรือไม่น่าไว้วางใจให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ประจำสถานีโดยทันที หรือ Call Center 1690