วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม (วทส.) กระตุ้นคนไทยร่วมเป็นสมาชิกสมาคมอินเตอร์เน็ตแห่งประเทศไทย (Internet Society Thailand) คู่ขนานไปกับการเติบโตของผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ต เพื่อเป็นพลังผลักดันให้ไทยมีบทบาทในนโยบายอินเทอร์เน็ตโลก
อาจารย์พรพิสุทธิ์ มงคลวนิช อธิการบดี วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม กล่าวว่า สมาคมอินเตอร์เน็ตแห่งประเทศไทย (Internet Society : ISOC) เป็นองค์กรความร่วมมือและประสานงานของสมาชิกอินเทอร์เน็ตระหว่างประเทศ ถือเป็นองค์กรที่ไม่แสวงผลกำไรและมีนโยบายสนับสนุนการใช้อินเทอร์เน็ตเป็นโครงสร้างพื้นฐาน สำหรับการศึกษาและงานวิจัย รวมทั้งทำหน้าที่ส่งเสริมและเผยแพร่ความรู้ให้แก่ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตทั่วไป นอกจากนี้ ยังทำหน้าที่พัฒนามาตรฐานและเทคโนโลยีเพื่อใช้ในอินเทอร์เน็ต โดยมีคณะทำงานอาสาสมัครร่วมวางแนวทางพัฒนาอินเทอร์เน็ตให้สมาชิกถือปฏิบัติ แต่ไม่มีหน้าที่ดูแลหรือควบคุมการบริหารเครือข่าย ซึ่งส่วนใหญ่ร่วมกันพิจารณานโยบายผ่านองค์กรต่างๆ เช่น Internet Governance Forum (IGF) หรือ The Internet Corporation for Assigned Names and Numbers (ICANN) เป็นต้น
ในช่วงที่ผ่านมา ISOC มีการดำเนินงานภายใต้ความร่วมมือของสถานศึกษาเป็นหลัก เน้นการพัฒนาและปรับปรุงองค์ความรู้ทางด้านอินเทอร์เน็ตและเทคโนโลยีเครือข่าย รวมถึงการวิจัยและพัฒนา แต่ไม่มีส่วนกำหนดในเชิงนโยบายและสิทธิมนุษยชน เนื่องจากภาครัฐบาลและเอกชนเป็นผู้ดำเนินการ
เมื่ออินเทอร์เน็ตมีความสำคัญมากขึ้นในยุคปัจจุบัน ทั้งการใช้งานด้านความปลอดภัย สุขภาพ และพลังงาน การกำหนดทิศทางและมาตรฐานในการปฏิบัติร่วมกัน เพื่อให้ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตสามารถใช้งานภายใต้วัตถุประสงค์ต่างๆ ได้อย่างถูกต้องที่สุด การกำหนดบทบาทของอินเทอร์เน็ตจึงมีความสำคัญ หลายประเทศมีการผลักดันและเพิ่มความสำคัญในนโยบายนานาชาติให้โน้มเอียงไปที่ประเทศของตน และความโน้มเอียงดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในนโยบายอินเทอร์เน็ตระดับโลก
“ด้วยนโยบายของประเทศต่างๆ ที่มีต่อทิศทางของอินเทอร์เน็ตในระดับโลก ทำให้ ISOC พยายามผลักดันให้คนไทยมีส่วนร่วมแสดงบทบาทในเวทีโลกเพื่อให้การเติบโตของผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตเป็นพลังคู่ขนานไปกับการเติบโตของจำนวนสมาชิกสมาคมอินเตอร์เน็ตแห่งประเทศไทย อีกทั้งเป็นการสนับสนุนให้คนไทยมีโอกาสแสดงความคิดเห็นบนเวทีอินเทอร์เน็ตสากลมากขึ้น”
ข้อมูลจาก สมาคมอินเตอร์เน็ตแห่งประเทศไทย ยังชี้ให้เห็นว่าการใช้อินเทอร์เน็ตผ่านช่องทางการสื่อสารต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นคอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ หรืออุปกรณ์สารสนเทศ ส่งผลต่อการใช้พลังงานไฟฟ้าและการปล่อยสารคาร์บอนไดออกไซด์ เริ่มตั้งแต่เปิดมือถือเชื่อมต่อกับผู้ให้บริการ ผู้ให้บริการมีการให้บริการจากศูนย์ดาต้า จากศูนย์ดาต้าเชื่อมต่อกลับไปศูนย์รวมทวีป รวมทั้งการเชื่อมต่อผ่านระบบคลาวด์ ล้วนใช้ไฟฟ้า หรือพลังงานมหาศาลทั้งสิ้น ดังนั้น องค์กร รัฐบาลจากทุกมุมโลกมาหันมากำหนดนโยบายร่วมกัน เช่น ลดความล่าช้าในการเชื่อมต่อข้อมูล เพื่อช่วยลดกำลังการผลิตไฟฟ้า ลดน้ำมัน ลดถ่านหิน ลดการทำลายโอโซน ดังนั้นการร่วมกันขับเคลื่อนนโยบายการใช้อินเทอร์เน็ต จึงมีส่วนในการลดการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน
ร่วมค้นหาคำตอบและเป็นอีกหนึ่งพลังในการมีส่วนร่วมของนโยบายอินเทอร์เน็ตไทยในเวทีโลก วันพุธที่ 29 มิถุนายน 2559 ในงาน “ประชาสัมพันธ์บริหารจัดการขยะและสิ่งแวดล้อม” จัดโดย กรมประชาสัมพันธ์ และภาคีเครือข่าย ณ ลานเอาท์ดอร์อีเวนท์ ศูนย์การค้าสยามดิสคัฟเวอรี่ ชั้น G สมัครสมาชิก ISOC Thailand ฟรีได้ที่บูธ วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม ตั้งแต่เวลา 10.00-21.00 น. และกิจกรรมบนเวที เวลา 17.45-18.00 น.