xs
xsm
sm
md
lg

กรมเจรจาฯ ยันอังกฤษออกจากอียู ไม่กระทบการเจรจาการค้า แต่ต้องจับตาเรื่องขึ้นไม่ขึ้นภาษีศุลกากร

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศยันอังกฤษออกจากอียู ไม่กระทบการเจรจาการค้าทั้งในกรอบไทยและอาเซียน จับตาหากอังกฤษปรับขึ้นภาษีศุลกากร ไทยเตรียมเจรจาขอให้ชดเชย แต่ถ้าคงภาษีเดิมเหมือนอยู่ในอียูก็ไม่มีปัญหา

น.ส.ศิรินารถ ใจมั่น อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยถึงผลกระทบจากกรณีอังกฤษขอออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป (อียู) ว่า อังกฤษต้องดำเนินการภายในอีกอย่างน้อย 2 ปีจึงจะออกจากอียูได้ แต่ไม่น่ามีผลกระทบต่อการเจรจาการค้า หรือการเจรจาจัดทำข้อตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ของไทยกับอังกฤษ หรือกับอียู โดยในส่วนของเอฟทีเอไทย-อียู ขณะนี้สองฝ่ายได้เจรจากันในส่วนของเจ้าหน้าที่ไปก่อน เพราะคณะกรรมาธิการยุโรป ยังไม่มีการเจรจากับไทย ส่วนเอฟทีเออาเซียน-อียู ยังไม่เริ่มการเจรจา หลังจากหยุดการเจรจามาแล้วหลายปี

“การออกจากอียูทำให้อังกฤษมีอิสระในการดำเนินนโยบายต่างๆ มากขึ้น เช่น หากอังกฤษต้องการเจรจาสองฝ่ายกับไทยก็สามารถเจรจาได้ทันที ไม่ต้องขอความเห็นชอบจากคณะกรรมาธิการยุโรปอีกต่อไป”

ทั้งนี้ สิ่งที่จะต้องติดตามต่อไปก็คือ การที่อังกฤษออกจากอียูแล้วจะมีการใช้อัตราภาษีศุลกากรแบบใด จะใช้อัตราภาษีเหมือนเดิมกับที่เคยอยู่ในอียู หรือปรับขึ้นภาษี หากใช้อัตราภาษีแบบเดิมก็ไม่มีปัญหา แต่ถ้าขึ้นภาษีก็ต้องมีการชดเชยให้แก่ประเทศที่ได้รับผลกระทบ เพราะเป็นไปตามหลักการขององค์การการค้าโลก (WTO)

ส่วนในกรอบของความร่วมมือเอเชีย-ยุโรป (อาเซม) ไม่น่าจะได้รับผลกระทบ เพราะส่วนใหญ่เป็นกรอบความร่วมมือด้านการเมือง และการต่างประเทศ ส่วนในด้านเศรษฐกิจ ไม่มีความร่วมมือมาหลายปีแล้ว

น.ส.ศิรินารถกล่าวว่า เมื่ออังกฤษออกจากอียูแล้ว เริ่มมีการมองกันว่าอนาคตของอาเซียนจะเป็นอย่างไร สมาชิกอาเซียนอาจถอนตัวออกจากการเป็นสมาชิกหรือไม่นั้น เห็นว่าอาเซียนคงไม่ถึงขนาดนั้น เพราะอาเซียนแต่ละประเทศยังมีความเป็นเอกเทศในการบริหารประเทศ มีกฎหมายของตนเอง ไม่รวมกันอย่างใกล้ชิดเหมือนอียู ไม่ได้ใช้เงินสกุลเดียวกัน ที่สำคัญประเทศสมาชิกเก่า (ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และบรูไน) ไม่ได้ใช้งบประมาณของตนเองช่วยเหลือสมาชิกใหม่ (กัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนาม) ที่พัฒนาน้อยกว่า หรือสมาชิกเก่ายังไม่ต้องรับเลี้ยงสมาชิกใหม่เหมือนกรณีของอียู
กำลังโหลดความคิดเห็น