xs
xsm
sm
md
lg

พ.ร.บ.หลักประกันทางธุรกิจ ทางเลือกใหม่ SMEs ในการกู้ยืมเงิน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


พ.ร.บ.หลักประกันทางธุรกิจ พ.ศ. 2558 จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 2 ก.ค. 2559 ที่จะถึงนี้ โดยถือเป็นกฎหมายที่สำคัญอีกฉบับหนึ่งในหลายๆ กฎหมายของประเทศไทย ที่จะเข้ามาช่วยผลักดันและสร้างการเติบโตให้ผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็ก (SMEs) ของไทย และยังช่วยปิดจุดอ่อน และสร้างทางเลือกในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ซึ่งถือเป็นปัญหาหลักของ SMEs ไทยในช่วงที่ผ่านมา

ในอดีต ปัญหาสำคัญของ SMEs ไทยอย่างหนึ่งก็คือ การเข้าถึงแหล่งเงินทุน เพราะแม้จะมีความคิด มีไอเดียในการประกอบธุรกิจ แต่มักจะจนมุมในเรื่องของแหล่งเงินทุนที่เข้าถึงได้ยาก เพราะการจะเข้าถึงแหล่งเงินทุนก็ต้องมีหลักทรัพย์ไปค้ำประกันเพื่อขอกู้เงินจากแบงก์ แต่ พ.ร.บ.หลักประกันทางธุรกิจที่กำลังจะมีผลบังคับใช้นี้จะช่วยพลิกโฉมในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของ SMEs ชนิดที่เรียกว่าหน้ามือเป็นหลังมือ

นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า กฎหมายฉบับนี้จะช่วย SMEs ที่มีอยู่ในระบบกว่า 2.8 ล้านราย ให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้เพิ่มมากขึ้น โดยสามารถนำทรัพย์สินที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจที่มีอยู่ในการประกอบกิจการมาใช้เป็นหลักประกันการชำระหนี้ได้โดยไม่ต้องส่งมอบทรัพย์สิน และสามารถใช้ทรัพย์สินนั้นไปผลิตเป็นสินค้าหรือบริการเพื่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มได้ ผิดจากเดิมที่ต้องใช้หลักทรัพย์ที่เป็นอสังหาริมทรัพย์ และสังหาริมทรัพย์ที่มีทะเบียนบางประเภทเท่านั้น ที่จะสามารถนำไปใช้เป็นหลักประกันในการขอกู้เงิน

ที่ผ่านมาการนำทรัพย์สินมาใช้เป็นหลักประกันจะทำได้ใน 2 รูปแบบ คือ การจำนอง จะจำกัดเฉพาะอสังหาริมทรัพย์ เช่น ที่ดิน อาคาร เป็นต้น และสังหาริมทรัพย์มีทะเบียนบางประเภท เช่น เครื่องจักร เรือ เป็นต้น เพื่อเป็นประกันการชำระหนี้ ส่วนการจำนำ จะกำหนดเฉพาะสังหาริมทรัพย์เท่านั้นที่สามารถจำนำเพื่อเป็นประกันการชำระหนี้ และต้องส่งมอบทรัพย์สินนั้นให้แก่ผู้รับจำนำ

“กฎหมายหลักประกันทางธุรกิจ จะปลดล็อกข้อจำกัดที่มีอยู่ทั้งหมด สามารถใช้ทรัพย์สินที่มีอยู่ในกิจการ เช่น วัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตสินค้า สินค้าคงคลัง หรือลูกหนี้การค้า รวมถึงทรัพย์สินทางปัญญา เช่น ลิขสิทธิ์ สิทธิบัตร เครื่องหมายการค้า เป็นต้น ไปใช้ค้ำประกันในการขอกู้เงินจากแบงก์ได้ และไม่ต้องส่งมอบทรัพย์สิน ยังสามารถใช้ทรัพย์สินที่มีอยู่ไปประกอบกิจการต่อไปได้ ทำให้มีเงินทุนในการประกอบธุรกิจ และไม่ต้องหันไปพึ่งเงินทุนนอกระบบ ซึ่งมีแต่สร้างปัญหาให้แก่ธุรกิจและปัญหาต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ” นางอภิรดีกล่าว

นางอภิรดีกล่าวว่า ประโยชน์ที่จะเกิดจากการบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้ ในด้านของผู้ประกอบการ SMEs สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้น ทำให้สามารถนำเงินไปใช้เพื่อการลงทุน หรือนำไปใช้เพื่อการพัฒนาสินค้าและบริการ รวมทั้งเพื่อเป็นการเพิ่มสภาพคล่องให้กับกิจการได้เพิ่มมากขึ้น และยังสามารถใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินที่นำไปเป็นหลักประกัน ทำให้เกิดมูลค่าเพิ่มอีกทางหนึ่งด้วย รวมทั้งยังเป็นการลดต้นทุนทางการเงิน เนื่องจากการคิดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้แบบมีหลักทรัพย์ค้ำประกันจะมีอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าการกู้ยืมเงินแบบไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน

สำหรับสถาบันการเงิน สามารถขยายการให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบการได้เพิ่มมากขึ้น มีต้นทุนในการปล่อยสินเชื่อลดลง รวมทั้งสามารถลดความเสี่ยงกรณีลูกหนี้ผิดนัดการชำระหนี้ได้ เนื่องจากกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจมีกระบวนการบังคับหลักประกันรูปแบบใหม่ สามารถบังคับการชำระหนี้ได้อย่างรวดเร็ว และเป็นธรรม ทำให้ลดต้นทุนและระยะเวลาการบังคับชำระหนี้ได้

ส่วนประโยชน์ที่จะตกแก่รัฐบาล จะทำให้อันดับการรายงาน Doing Business ซึ่งเป็นการสำรวจโดยธนาคารโลก (World Bank) ดีขึ้น เพราะในปี 2016 ที่ผ่านมาธุรกิจไทยมีโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุน (Getting Credit) อยู่ในอันดับที่ 97 ซึ่งหากมีการประกาศใช้กฎหมายหลักประกันทางธุรกิจและสามารถทำให้ผู้ประกอบการ SMEs เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้น ก็จะส่งผลต่อตัวชี้วัดของประเทศไทยให้ถูกจัดอยู่ในลำดับที่ดีขึ้น ส่งผลต่อภาพลักษณ์ทางเศรษฐกิจและการลงทุนของประเทศได้เพิ่มมากขึ้น

นอกจากนี้ ยังจะส่งผลดีในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ เพราะการที่ SMEs มีการทำธุรกิจเพิ่มขึ้น ก็จะทำให้เกิดการจ้างงาน เกิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจตั้งแต่ระดับฐานราก ผู้ประกอบการ SMEs มีการพัฒนาสินค้าและบริการ เป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจของประเทศในภาพรวมให้ขยายตัวได้ดีขึ้น

น.ส.ผ่องพรรณ เจียรวิริยะพันธ์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กล่าวถึงความพร้อมในการรองรับการบังคับใช้กฎหมายว่า กรมฯ เป็นหน่วยงานที่ดูแลกฎหมายฉบับนี้ ได้เตรียมความพร้อมมาตั้งแต่กฎหมายประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 5 พ.ย. 2558 โดยได้หารือและทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์และแนวทางปฏิบัติรองรับการบังคับใช้กฎหมาย

โดยเริ่มแรกได้มีการปรับโครงสร้างองค์กร โดยจัดตั้งกองทะเบียนหลักประกันทางธุรกิจ เพื่อให้มีคนทำงานรองรับการบังคับใช้กฎหมาย และฝึกอบรมให้ความรู้แก่เจ้าหน้าที่ในการดำเนินการด้านการจดทะเบียน ซึ่งเป็นภารกิจใหม่ของกรมฯ จากนั้นได้มีการพิจารณาออกกฎกระทรวง ประกาศกระทรวง คำสั่งกระทรวง ประกาศกรมฯ และคำสั่งกรมฯ รวมถึงการสร้างผู้บังคับหลักประกัน ซึ่งถือเป็นอาชีพใหม่ เพื่อรองรับการบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้

สำหรับกฎกระทรวงมีจำนวน 6 ฉบับ ได้แก่ 1. ร่างกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียม 2. กฎกระทรวงกำหนดค่าใช้จ่ายในการให้ผู้รับหลักประกันรับรองความถูกต้องของจำนวนหนี้ที่ยังไม่ได้ชำระ 3. ร่างกฎกระทรวงว่าด้วยการไต่สวนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเหตุบังคับหลักประกันที่เป็นกิจการ 4. ร่างกฎกระทรวงกำหนดให้บุคคลอื่นเป็นผู้รับหลักประกัน
สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) อยู่ระหว่างดำเนินการ 5. ร่างกฎกระทรวงกำหนดทรัพย์สินอื่นที่จะเป็นหลักประกัน (ยังไม่ออก) 6. ร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการจัดทำบัญชีทรัพย์สิน (ยังไม่ออก)

ส่วนประกาศกระทรวง มีจำนวน 1 ฉบับ ได้แก่ เรื่องหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการขอรับใบอนุญาต การขอต่ออายุใบอนุญาต และการขอรับใบแทนใบอนุญาตเป็นผู้บังคับหลักประกัน พ.ศ. 2559 ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อ 13 พ.ค. 2559 ซึ่งขณะนี้มีผลใช้บังคับแล้ว, คำสั่งกระทรวง จำนวน 1 ฉบับ อยู่ระหว่างการยกร่างคำสั่งตั้งคณะกรรมการเปรียบเทียบ, ประกาศกรมพัฒนาธุรกิจการค้า จำนวน 4 ฉบับ ได้แก่ 1. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการจดทะเบียนฯ และกำหนดรายการจดทะเบียนอื่นตามมาตรา 18 (10) 2. เรื่อง กำหนดแบบใบอนุญาตเป็นผู้บังคับหลักประกัน ประชาสัมพันธ์ในเว็บกรมแล้ว 3. เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการออกเลขทะเบียนสัญญาหลักประกันทางธุรกิจ ดำเนินการเรียบร้อยแล้ว 4. เรื่อง หลักเกณฑ์ และวิธีการขอรับ หรือยกเลิกชื่อผู้ใช้และรหัสผ่าน (Username และ Password) และวิธีการยืนยันตัวตน สำหรับใช้งานระบบจดทะเบียนสัญญาหลักประกันทางธุรกิจ รวมถึงแบบฟอร์มคำขอ ข้อตกลงและเงื่อนไข และหนังสือมอบอำนาจผู้ใช้งานระบบจดทะเบียน และคำสั่งกรมพัฒนาธุรกิจการค้า จำนวน 1 ฉบับ เรื่อง การมอบอำนาจให้ข้าราชการปฏิบัติราชการแทนอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า

น.ส.ผ่องพรรณกล่าวว่า กรมฯ ยังได้สร้างผู้บังคับหลักประกัน โดยผู้บังคับหลักประกันเปรียบเสมือนเป็นวิชาชีพใหม่ โดยกรมฯ มีภารกิจที่จะต้องสร้างผู้บังคับหลักประกันให้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ ปฏิบัติหน้าที่อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นธรรม ซึ่งได้ออกประกาศกระทรวง เรื่องหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการขอรับใบอนุญาต การขอต่ออายุใบอนุญาต และการขอรับใบแทนใบอนุญาตเป็นผู้บังคับหลักประกัน พ.ศ. 2559 และจัดทำหลักสูตรอบรมผู้บังคับหลักประกันแล้ว

นอกจากนี้ ยังได้เน้นการสร้างความรู้ความเข้าใจให้แก่ผู้มีส่วนได้เสีย ได้แก่ ผู้ประกอบธุรกิจ สถาบันการเงิน หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจถึงทางเลือกใหม่ในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน โดยมีแผนการสัมมนาเกี่ยวกับกฎหมายหลักประกันในปี 2560 กลุ่มเป้าหมาย 1,200 คน ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค

น.ส.ผ่องพรรณกล่าวว่า สำหรับการบังคับใช้กฎหมาย เมื่อกฎหมายมีผลบังคับใช้แล้วนั้น หากต้องการจดทะเบียนสัญญาหลักประกันทางธุรกิจ กำหนดไว้โดยเมื่อผู้ประกอบธุรกิจ หรือผู้ให้หลักประกันตกลงทำสัญญาหลักประกันทางธุรกิจกับสถาบันการเงิน หรือผู้รับหลักประกันแล้ว และยินยอมให้สถาบันการเงินนำสัญญาหลักประกันทางธุรกิจนั้นๆ มาจดทะเบียนหลักประกันทางธุรกิจกับกรมฯ โดยสถาบันการเงินยื่นคำขอจดทะเบียนออนไลน์ต่อกรมฯ ได้ตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งกระบวนการจดทะเบียนจะเป็นออนไลน์ทั้งหมด และสถาบันการเงินจะเป็นผู้รับผิดชอบความถูกต้องและครบถ้วนของข้อมูลที่ตนเป็นผู้แจ้ง โดยเจ้าพนักงานทะเบียนจะตรวจพิจารณาคำขอ และอนุมัติคำขอ และเมื่อจดทะเบียนสำเร็จแล้วสามารถตรวจค้นข้อมูลการจดทะเบียนสัญญาหลักประกันทางธุรกิจทางออนไลน์ได้ทันที

ทั้งนี้ หลังจากยื่นจดทะเบียนแล้ว “บุริมสิทธิ” จะเกิดขึ้นในวันและเวลาที่ยื่นคำขอ และจะมีผลต่อลำดับการชำระหนี้ กล่าวคือ ผู้รับหลักประกันที่ได้รับการจดทะเบียนก่อนมีสิทธิได้รับชำระหนี้ก่อนผู้รับหลักประกันที่ได้รับการจดทะเบียนภายหลัง

ส่วนการบังคับหลักประกัน จะเป็นหน้าที่ของผู้บังคับหลักประกันที่ได้รับอนุญาตจากกรมฯ ตามเงื่อนไขที่กำหนด โดยผู้บังคับหลักประกันจะเข้ามาทำหน้าที่ในการบังคับหลักประกัน โดยต้องได้รับความยินยอมทั้งจากผู้ให้หลักประกัน และผู้รับหลักประกัน ให้เป็นผู้มาบังคับหลักประกันตามสัญญาหลักประกันทางธุรกิจ โดยจะทำหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการบังคับหลักประกัน เช่น การไต่สวนข้อเท็จจริงเมื่อมีเหตุบังคับหลักประกัน การกำหนดวงเงินประกัน การวินิจฉัยเหตุบังคับหลักประกัน

นอกจากนี้ กรณีที่นำกิจการมาเป็นหลักประกัน ผู้บังคับหลักประกันยังต้องทำหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับกิจการ ทั้งการบำรุงรักษา การจัดการ และดำเนินการจนกว่าจะจำหน่ายกิจการได้ การตรวจสอบและประเมินราคากิจการ การกำหนดวิธีการจำหน่ายและดำเนินการจำหน่ายกิจการ รวมทั้งการจัดสรรเงินที่ได้จากการจำหน่ายกิจการ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม กรณีที่มีการบังคับหลักประกัน หากคู่กรณีไม่สามารถตกลงกันได้ และต้องมีการฟ้องร้องขึ้นสู่การพิจารณาของศาลก็จะไม่ล่าช้า เพราะกระบวนการทางศาล กฎหมายกำหนดให้ศาลนัดวันพิจารณาโดยเร็ว เมื่อได้รับคำร้องกรณีผู้ให้หลักประกันไม่ยอมส่งมอบทรัพย์ที่เป็นหลักประกัน และให้ศาลนั่งพิจารณาคดีติดต่อกันทุกวันจนกว่าจะเสร็จการพิจารณาและมีคำพิพากษาหรือคำสั่ง ซึ่งแตกต่างจากกระบวนการพิจารณาแบบเดิมที่ไม่ได้กำหนดไว้
กำลังโหลดความคิดเห็น