เอเปกตกลงเร่งเจรจาจัดทำเขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก (FTAAP) เตรียมเสนอผู้นำเห็นชอบปลายปีนี้ พร้อมเดินหน้าช่วย SMEs เข้าสู่ตลาดโลก ไทยเตรียมนำประสบการณ์ช่วยเหลือ SMEs ของประเทศสมาชิกใช้อี-คอมเมิร์ซค้าขาย หลังได้รับรางวัลจากยูเอ็น เผยยังได้หารือกับสมาชิกเพื่อขอข้อคิดเห็นเกี่ยวกับ TPP และถกเกาหลีใต้เร่งตรวจโรงงานไก่ และเปิดตลาดมะม่วงพันธุ์มหาชนกให้ไทย
นายวินิจฉัย แจ่มแจ้ง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงผลการเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีการค้าเอเปก ครั้งที่ 22 เมื่อเร็วๆ นี้ ที่เมืองอาเรกีปา สาธารณรัฐเปรู ว่าที่ประชุมได้ผลักดันให้มีการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจในภูมิภาคให้เข้มแข็งมากขึ้น เพื่อมุ่งไปสู่การเจรจาจัดทำเขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก (FTAAP) ซึ่งถือเป็นเป้าหมายต่อไปของเอเปก หลังจากการเปิดเสรีการค้าและการลงทุนภายใต้เป้าหมายโบกอร์จะสิ้นสุดลงในปี 2563 โดยขณะนี้สมาชิกเอเปกได้ร่วมกันจัดทำการศึกษาเชิงยุทธศาสตร์ และได้ทำข้อเสนอแนะแนวทางสำหรับการจัดทำความตกลง FTAAP คาดว่าจะแล้วเสร็จ และเสนอต่อที่ประชุมผู้นำเอเปกได้ในปลายปีนี้
ทั้งนี้ สมาชิกเอเปกยังได้หารือถึงการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็ก (SMEs) เข้าสู่ตลาดโลก เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้ SMEs และให้ SMEs เป็นกลไกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ซึ่งไทยได้แจ้งต่อที่ประชุมว่าไทยให้ความสำคัญต่อการส่งเสริม SMEs โดยถือเป็นวาระแห่งชาติตั้งแต่ปี 2557 และได้ส่งเสริม ให้ความรู้แก่ SMEs ในการใช้พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (อี-คอมเมิร์ซ) ในการค้าขาย และเข้าสู่ตลาดโลก และพร้อมที่จะนำความรู้และประสบการณ์ให้ความช่วยเหลือ SMEs ของสมาชิกเอเปกในการเข้าสู่ตลาดโลก
“ปัจจุบันไทยได้ให้ความสำคัญในการส่งเสริมและผลักดัน SMEs เข้าสู่ตลาดโลก โดยมีนโยบายในการสนับสนุนชัดเจน ตั้งแต่การช่วยเหลือ SMEs ตั้งแต่เริ่มต้นทำธุรกิจ ไปจนถึงการพัฒนาสินค้าและบริการ จนสามารถเข้าสู่ตลาดได้ ทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งผลการทำงานในด้านการผลักดันให้ SMEs ใช้อี-คอมเมิร์ซในการค้าขาย ทำให้ไทยได้รับรางวัล World Summit of Information Society Prize (WSIS) ปี 2015 ในประเภทการเสริมสร้างความสามารถสำหรับโครงการ Smart Online SMEs (S.O.S.) จากองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) มาแล้ว” นายวินิจฉัยกล่าว
สำหรับการสนับสนุนระบบการค้าพหุภาคีภายใต้องค์การการค้าโลก (WTO) ที่ประชุมขอให้ประเทศต่างๆ เร่งการเจรจาในประเด็นคงค้างของการเจรจารอบโดฮาให้แล้วเสร็จโดยเร็ว โดยจัดลำดับความสำคัญและกำหนดเป้าหมายให้ชัดเจน และการเจรจาต้องตั้งอยู่บนความโปร่งใส ไม่เลือกปฏิบัติ
ส่วนการพบปะหารือกับประเทศต่างๆ ในการประชุมครั้งนี้ ไทยได้หารือกับเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น รัสเซีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และเปรู เพื่อแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นและประสบการณ์เกี่ยวกับความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (TPP) เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับการเตรียมการของไทย และยังได้หารือเพื่อแก้ไขปัญหาอุปสรรคทางการค้า โดยเฉพาะการเร่งรัดให้เกาหลีใต้ส่งผู้เชี่ยวชาญเข้ามาตรวจสอบโรงงานไก่แช่แข็ง และเร่งกระบวนการพิจารณาเปิดตลาดมะม่วงพันธุ์มหาชนกให้กับไทย
การประชุมเอเปกในปีนี้จะมีอีก 2 ครั้ง คือ การประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสเอเปก ครั้งที่ 3/2559 ในเดือน ส.ค. 2559 และการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปก ในเดือน พ.ย. 2559 ซึ่งจะมีความชัดเจนมากขึ้น ในเรื่องการจัดทำความตกลงเขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก และจะเป็นการวางรากฐานสำหรับการดำเนินงานของเอเปกต่อไปในอนาคต