“SME ผู้จัดการ” จัดเสวนา “ทายาทธุรกิจพิชิต AEC” สสว.ชี้เปิด AEC โอกาส SME ช่วง ศก.ขาลง เผยตัวเลขส่งออกอาเซียนปี 58 โตเท่าตัวกว่า 8 หมื่นล้านบาท ด้านกรมการค้าต่างประเทศมอบเคล็ดลับบุก CLMV ทำธุรกิจแบบเพื่อน มองเพื่อนบ้านเหมือนเป็นจังหวัดหนึ่งของประเทศไทย มิสเตอร์ AEC เชื่อสินค้าไทยยังสดใส ระบุทุกประเทศชื่นชอบสินค้าไทย เพียงต้องเข้าใจ ทำธุรกิจแบบตรงไปตรงมา
นางสาลินี วังตาล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยภายในงานสัมมนาใหญ่ประจำปี ครั้งที่ 2 ทายาทธุรกิจพิชิต AEC จัดโดย “SME ผู้จัดการ” ว่า การเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC ช่วยให้ผู้ประกอบการ SMEs สามารถขายสินค้าได้มากขึ้น เพราะจากสถิติที่ทาง สสว.ได้รวบรวมพบว่า หลังจากเปิด AEC ยอดขายในกลุ่มของ SMEs เพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว จาก 4 หมื่น 5 พันล้านบาท เพิ่มเป็น 8 หมื่น 6 พันล้านบาท ในปี 2558 เป็นการเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด โดยตัวเลขการส่งออกของ SMEs ไทยในช่วงที่ผ่านมา ตัวเลขอยู่ที่ประมาณ 2 ล้านล้านบาท ดังนั้น จากตัวเลขเห็นว่าตลาดอาเซียนยังคงเป็นตลาดที่น่าสนใจ และมีการเติบโตสูง ซึ่ง SMEs จะต้องให้ความสำคัญ ประกอบกับในช่วงที่เศรษฐกิจของประเทศอยู่ในช่วงขาลง การจับจ่ายใช้สอยในประเทศอย่างเดียวไม่สามารถช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ได้
ทั้งนี้ ประเทศที่น่าสนใจก็คงเป็นทุกประเทศในอาเซียน แต่ถ้าเริ่มต้นก็คงต้องมาประเทศใกล้ๆ อย่าง CLMV ก่อน ตัวอย่างประเทศกัมพูชา มีสมาคมมิตรภาพไทย-กัมพูชา ซึ่งมีการรวมกลุ่มกันของนักธุรกิจ และผู้ค้าคนไทยตามชายแดนเข้าไปจัดงานแสดงสินค้าเปิดบูทขายสินค้า ได้รับการตอบรับที่ดีมาก หรือประเทศลาว เป็นประเทศที่หลายประเทศมองข้าม แต่สิ่งที่หลายคนมองข้ามอาจจะเป็นโอกาสของเราก็ได้ เพราะคู่แข่งน้อย ในขณะที่ประเทศมาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เป็นตลาดที่มุสลิมอยู่มาก เป็นโอกาสของผู้ประกอบการที่จะเข้าไปทำตลาดผลิตภัณฑ์ฮาลาล ส่วนสถิติสินค้าที่ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีในตลาดอาเซียนที่ สสว.สำรวจมาจะเป็นกลุ่มร้านอาหาร สปา ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ และความงาม สินค้าในกลุ่มนี้เป็นค้าที่มีการเติบโตอย่างมากในกลุ่มของคนที่มีกำลังซื้อ
อย่างไรก็ตาม หัวใจสำคัญของการทำตลาด AEC หรือการทำสินค้าขายที่ไหนก็ตาม นั่นคือมาตรฐานสินค้า โดยเฉพาะมาตรฐานของอาหารและยา หรือ อย. ที่ต้องการเห็นผู้ประกอบการ SMEs ให้ความสำคัญอย่างมาก ถ้าจะไปแข่งขันในเวทีระดับโลก ซึ่งทาง สสว.ยังได้มีการทำโครงการร่วมกับ อย.ในการช่วย SMEs ในขั้นตอนการขอ อย.ให้ง่ายและสะดวกมากขึ้น นอกจากนี้ สิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งซึ่งเป็นปัญหาของ SMEs มาตลอด คือ การเงิน การเข้าถึงสถาบันการเงินถ้าเป็นเอกชนในช่วงนี้อาจจะเป็นเรื่องยาก ดังนั้น ทางออกที่ดีที่สุดของคือการพึ่งพาสถาบันการเงินของภาครัฐ ตอนนี้มี 2 แห่งที่ช่วยได้ คือ เอสเอ็มอีแบงก์ และ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้า หรือเอ็กซิมแบงก์
ด้าน นายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ รองอธิบดีกรมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ กล่าวภายในงานสัมมนาทายาทธุรกิจพิชิต AEC ในครั้งนี้ว่า ในส่วนของกรมการค้าระหว่างประเทศมีหน้าที่ดูแลการค้าชายแดน หลังจากนี้มองตลาดอาเซียนเป็นหลักเพราะตลาดอาเซียนจะเป็นพระเอกที่จะเข้ามาช่วยเหลือ SMEs โดยมีโปรแกรมที่ช่วยเหลือหลายราย แต่หัวใจสำคัญที่เราให้ความสำคัญ คือ การบุกตลาดอาเซียน แบบลงลึกในแบบของเพื่อนช่วยเพื่อน ผ่านโครงการ YEN-D โครงการดังกล่าวนี้เป็นการนำผู้ประกอบการ ซึ่งเป็นเจ้าของโรงงาน เป็นคนรุ่นใหม่อายุไม่เกิน 45 ปี คัดมาจำนวน 30 ราย และคัดผู้ประกอบการจากประเทศเพื่อนบ้าน CLMV จำนวน 30 รายมาพบปะและอบรมร่วมกัน อยู่ด้วยกันแบบเพื่อน ไม่เน้นวิชาการ แต่จะเน้นความเป็นเพื่อนร่วมธุรกิจมากกว่า ไม่ได้เน้นการขายของ แต่เน้นความเป็นเพื่อน ซึ่งความเป็นเพื่อนตรงนี้ประสบความสำเร็จมาก หลังจากเป็นเพื่อนกันแล้วธุรกิจก็จะมาเองภายหลัง หลังจากจบงานมีเกิดการเจรจาธุรกิจและมีการซื้อขายกันไม่ต่ำกว่า 1,500 ล้านบาท แต่โครงการนี้ทำให้เราพบว่าจริงแล้วประเทศเพื่อนบ้านมีนักธุรกิจที่ร่ำรวยกับประเทศไทยของเราอยู่เป็นจำนวนมาก โครงการนี้ทำให้นักธุรกิจไทยเข้าถึง และได้รู้จักนักธุรกิจในประเทศเพื่อนบ้านแบบเจาะลึกมากขึ้น โดยจะเปิดรุ่นที่ 2 ผู้ประกอบการ SMEs รุ่นใหม่คนไหนที่สนใจสามารถสมัครได้ ซึ่งรุ่นนี้เพิ่มเป็นฝั่งละ 40 ราย โครงการนี้ส่วนหนึ่งช่วยให้การทำธุรกิจของ SMEs ในอาเซียนในแบบที่ยั่งยืนและมั่นคงกว่าการเข้าไปแบบฉาบฉวย
ทั้งนี้ ส่วนผู้ประกอบการ SMEs ที่ต้องการเข้าไปทำตลาดอาเซียน ปัจจุบันนี้มีศูนย์บิซิเนสเซ็นเตอร์ใน AEC เกือบทุกประเทศ ยกเว้นบรูไน บางครั้งการเข้าไปเราไม่รู้ว่าจะไปที่ไหนก็ขอให้เข้าไปที่ตรงจุดนี้ หรือ ยืมใช้สถานที่ได้ซึ่งเปิดอยู่ที่สถานทูตแต่ละประเทศ และยังมีที่ปรึกษาคอยให้การช่วยเหลือและคำแนะนำ ในแต่ละประเทศด้วย ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องยากสำหรับSMEs หน้าใหม่ที่สนใจเปิดตลาด AEC และอยากให้มองประเทศเพื่อนบ้านเสมือนเป็นจังหวัดหนึ่งของประเทศไทย จะได้กล้าที่จะเข้าไปลุยอาเซียนแบบไม่ต้องกังวลหรือกลัวอะไร
ด้านอาจารย์เกษมสันต์ วีระกุล นักวิชาการ และผู้เชี่ยวชาญอาเซียน เจ้าของฉายา “มิสเตอร์ AEC” กล่าวว่า ตลาดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนว่า ปัจจุบันประเทศไทยถือว่าเป็นคนป่วยที่ต้องการรักษา เพราะมองว่า เศรษฐกิจโลกไม่ดีส่งออกไม่ได้ แต่ทำไมประเทศเพื่อนบ้าน หรือ AEC ยอดส่งออกของเขาถึงไม่ได้ลดลง มากเหมือนของเรา และมองเห็นการเติบโตของประเทศกลุ่มอาเซียนเพื่อนบ้าน โดย GDP การเติบโตไม่ต่ำกว่า 6-7% ในขณะที่ GDP ไทยเพียง 3% ซึ่งเราจะต้องรักษาอาการป่วยตรงนี้ให้ได้
สำหรับตลาด CLMV เป็นตลาดที่มีความชื่นชอบและรักอะไรทุกอย่างที่เป็นประเทศไทย โดยเฉพาะ กัมพูชา และพม่า ในขณะที่เราไม่เคยรักเขา ดังนั้น วันนี้ถ้าเราจะค้าขายกับเขา เราก็ต้องเริ่มรักเขาก่อน และเริ่มเรียนรู้เขาอย่างจริงจัง โดยเฉพาะภาษา เพราะเรามีสินค้าที่เขาชื่นชอบอยู่แล้ว ที่เหลือคือเราจะทำอย่างไรให้เขาซื้อสินค้าของเราแบบไม่เปลี่ยนใจไปซื้อสินค้าที่อื่นๆ และสิ่งสำคัญที่มองเห็น คือ คนของเขามีความจริงใจ เรียกว่า วิน-วิน อย่าไปโกง เช่น พม่า เป็นประเทศที่มีเคร่งในคำสอนของพระพุทธศาสนาอยู่ในหัวใจ ไม่ต้องกลัวว่าเขาจะโกง เช่นเดียวกับประเทศกัมพูชามีความจริงใจ และเป็นประเทศที่น่าไปลงทุนมากที่สุดเพราะรักคนไทย และอยากลงทุนร่วมกับคนไทย ส่วนประเทศเวียดนามเป็นประเทศไม่ได้รักประเทศไทย หรือคนไทย แต่ชื่นชอบสินค้าไทย การทำธุรกิจที่เวียดนามเราจะต้องระวังเรื่องความไม่ตรงไปตรงมา และเวียดนามมีการเติบโตค่อนข้างรวดเร็ว และน่าลงทุนเช่นกัน ข้อดีของเวียดนามคือเขากำลังจะพัฒนาตัวเองเป็นประเทศอุตสาหกรรมสีเขียว
สำหรับในส่วนของประเทศมาเลเซีย เป็นประเทศที่มีการพัฒนา และกำลังจะก้าวเข้าสู่ประเทศที่พัฒนาแล้วในอีก 4 ปีข้างหน้านี้แล้ว ประเทศมาเลเซียมีความน่าสนใจในเรื่องของอาหารฮาลาล เพราะมาเลเซียกำลังจะยกระดับประเทศตัวเองเป็นประเทศที่ผลิตอาหารฮาลาลที่ใหญ่ที่สุดในโลก ดังนั้น สิ่งที่เราควรทำคือ การไปจับมือกับเขาเพื่อผลิตอาหารฮาลาล คือมีแหล่งวัตถุดิบ ใช้วิธีการผลิตส่งให้เขา และให้เขานำออกไปขายอีกที่หนึ่ง ก็จะช่วยให้เราสามารถผลักดันผลิตภัณฑ์ฮาลาลของเราโตไปกับมาเลเซียได้
ส่วนประเทศฟิลิปปินส์ เป็นประเทศที่รักประเทศไทยเช่นกัน และชื่นชอบสินค้าไทย และฟิลิปปินส์เป็นประเทศขนาดใหญ่ และคนฟิลิปปินส์ เป็นประเทศที่ชื่นชอบการชอปปิ้งมาก มีเดือนที่เป็นเดือนชอปปิ้งหลายเดือน แต่การทำธุรกิจในประเทศฟิลิปปินส์ไม่ได้ง่ายเหมือนประเทศพม่า ลาว หรือกัมพูชา เพราะเขาก็จะกีดกั้นการค้าค่อนข้างมาก สำหรับนักธุรกิจในฟิลิปปินส์มีความขยัน และต่อสู้ เชื่อว่าประเทศฟิลิปปินส์เป็นประเทศที่มีอนาคต ถ้าเราสามารถเข้าได้ภูกทาง
ทั้งนี้ อาจารย์เกษมสันต์ฝากถึง SMEs ว่า การที่จะเข้าไปทำตลาดอาเซียนนั้นเราควรที่จะได้มีโอกาสเดินทางไปท่องเที่ยว และเรียนรู้เพื่อจะได้เรียนรุ้แบบรู้เขารู้เราก่อน และสุดท้ายก็จะได้ทำธุรกิจในอาเซียนอย่างยั่งยื่น และสามารถรักษาอาการป่วยของประเทศไทยได้
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SMEs ผู้จัดการ” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *