“กรมทางหลวงชนบท” ศึกษาวิจัยทางข้ามม้าลาย 3 มิติ (3 Pedestrian Crossing) เพื่อสร้างมิติใหม่แห่งการอำนวยความปลอดภัยของการใช้ถนนโดยร่วมมือกับ 4 มหาวิทยาลัยของรัฐ ทดลอง ติดตั้ง ศึกษาผลกระทบทางด้านวิศวกรรมจราจร ความปลอดภัยในสภาวะก่อนและหลังการติดตั้ง รวมทั้งความพึงพอใจของผู้ใช้ ก่อนตัดสินใจในการขยายผลการติดตั้งต่อไป
นายพิศักดิ์ จิตวิริยะวศิน อธิบดีกรมทางหลวงชนบท (ทช.) กล่าวว่า ทช.ได้ดำเนินการศึกษาวิจัยทางข้ามม้าลาย 3 มิติ (3 Pedestrian Crossing) เพื่อสร้างมิติใหม่แห่งการอำนวยความปลอดภัยของการใช้ถนน และศึกษาผลกระทบทางด้านวิศวกรรมจราจร ความปลอดภัยในสภาวะก่อนและหลังการติดตั้ง รวมทั้งความพึงพอใจของผู้ใช้ ก่อนตัดสินใจในการขยายผลการติดตั้งต่อไป
ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคมมีความประสงค์ที่จะทดลองติดตั้งทางข้ามม้าลาย 3 มิติ เพื่อศึกษาวิจัยและสร้างมิติใหม่แห่งการอำนวยความปลอดภัยของการใช้ถนน โดยการทดลองจะติดตั้งระบบทางม้าลาย 3 มิติในพื้นที่ปิด ระยะเวลาในการดำเนินการในระยะแรกประมาณ 4 เดือน หากผลการวิจัยได้ข้อสรุปแล้วอาจจะนำไปเป็นนวัตกรรมด้านความปลอดภัยของประเทศต่อไป เช่น ในบริเวณมหาวิทยาลัยเพื่อเป็นการศึกษาผลกระทบทางด้านวิศวกรรมจราจรและความปลอดภัย ในสภาวะก่อนและหลังการติดตั้งแล้วนำมาประเมินผล ก่อนตัดสินใจในการที่จะขยายผลการติดตั้งในอนาคต
โดยขอบเขตในการวิจัยจะใช้พื้นที่สถาบันการศึกษาโดยร่วมมือกับมหาวิทยาลัย 4 แห่งใน 4 ภูมิภาค ในส่วนของภาคใต้ได้มอบหมายให้แขวงทางหลวงชนบทสงขลาศึกษาทดลองร่วมกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ สำหรับภาคตะวันออกได้มอบหมายให้แขวงทางหลวงชนบทชลบุรีศึกษาทดลองร่วมกับมหาวิทยาลัยบูรพา ภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้มอบหมายให้แขวงทางหลวงชนบทขอนแก่นศึกษาร่วมกับมหาวิทยาลัยขอนแก่น และภาคเหนือได้มอบหมายให้สำนักงานทางหลวงชนบทที่ 10 (เชียงใหม่) ศึกษาร่วมกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่