xs
xsm
sm
md
lg

เตรียมสัมผัสแอร์บัส A350 XWB การบินไทยงัดบริการระดับพรีเมียมมัดใจผู้โดยสาร

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“แอร์บัส เอ350 เอ็กซ์ดับเบิลยูบี” เครื่องบินไฮเทครุ่นล่าสุดจ่อเข้าประจำการฝูงบิน “การบินไทย” ในไตรมาส 3/59 วางแผนเริ่มให้บริการเส้นทางไป-กลับ กรุงเทพฯ-เมลเบิร์น ภายใต้การออกแบบโครงสร้างด้วยนวัตกรรมที่ทันสมัย วัสดุพิเศษ น้ำหนักเบา ประหยัดน้ำมัน รูปลักษณ์สะดุดตา ห้องโดยสารกว้างขวางสร้างบริการโดดเด่นระดับพรีเมียม มัดใจลูกค้ายุคการบินแข่งขันรุนแรง



บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ได้นำสื่อมวลชนเยี่ยมชมขั้นตอนการผลิตเครื่องบินแอร์บัส เอ350 เอ็กซ์ดับเบิลยูบี ณ เมืองตูลูส ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งการบินไทยสั่งทั้งหมด 12 ลำ โดยซื้อตรง 4 ลำ และอีก 8 ลำเป็นการเช่าซื้อจากบริษัทผู้ให้บริการเช่าซื้อเครื่องบิน ซึ่งขณะนี้เครื่องบินลำแรกซึ่งเป็นเครื่องเช่าซื้อนั้นได้เดินหน้าการผลิตสู่ขั้นตอนสุดท้าย โดยเสร็จสิ้นการทาสี พร้อมลวดลายอันเป็นเอกลักษณ์ของการบินไทยแล้ว และเข้าสู่ขั้นตอนการผลิตขั้นต่อไป ซึ่งประกอบด้วยการติดตั้งเครื่องยนต์และการตกแต่งห้องโดยสาร ก่อนที่จะเริ่มขั้นตอนการทดสอบภาคพื้น และการทดสอบเที่ยวบิน โดยเตรียมส่งมอบให้การบินไทยได้ภายในไตรมาส 3/2559 ส่วนลำที่ 2 ซึ่งเป็นเครื่องเช่าซื้อเช่นกัน ผ่านการประกอบขั้นตอนสุดท้ายแล้ว โดยมีกำหนดส่งมอบช่วงปลายปี 2559

นายจรัมพร โชติกเสถียร กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (ดีดี) การบินไทย ระบุว่า บริษัทฯ จะทยอยรับมอบเครื่องบินแอร์บัส เอ350 เอ็กซ์ดับเบิลยูบี รวม 2 ลำในปี 2559 และที่เหลือรับมอบในปี 2560 โดยในระยะแรกบริษัทฯ จะนำมาให้บริการเฉพาะในเส้นทางไป-กลับ กรุงเทพฯ-เมลเบิร์น

“อลัน พาร์โด” หัวหน้าฝ่ายสื่อสารด้านการตลาด แอร์บัส กล่าวว่า ความโดดเด่นของ เครื่องบินแอร์บัส เอ350 เอ็กซ์ดับเบิลยูบี อยู่ที่การออกแบบ โดยมีชิ้นส่วนถึง 3 ล้านชิ้น ซึ่งแอร์บัสได้ทำโรงงานประกอบขึ้นเฉพาะ ส่วนโครงสร้างเครื่องบินออกแบบโดยใช้วัสดุผสมชั้นสูง น้ำหนักเบา กินน้ำมันน้อย ทนต่อการสึกกร่อน ทำให้ซ่อมบำรุงง่ายและประหยัดค่าใช้จ่าย ประกอบด้วย คาร์บอนไฟเบอร์ (คอมโพสิต) 53% ซึ่งแข็งแรง ไม่ขึ้นสนิม, อะลูมิเนียมลิเทียม 19%, ไทเทเนียม 14%, เหล็ก 6%, อื่นๆ 8%

การขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์โรลส-รอยซ์ รุ่นเทรนท์ ซึ่งดีที่สุดเท่าที่โรลส-รอยซ์เคยผลิตมา มีประสิทธิภาพในการเผาผลาญเชื้อเพลิง ช่วยลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ลงถึง 25% และลดต้นทุนบำรุงรักษาได้มาก นอกจากนี้ การปฏิบัติการการฝึกอบรมนักบิน ได้รับการรับรองแบบ Commom Type Rating โดยอนุญาตทำการบินประเภทเดียวกันกับตระกูล เอ 330 ทำให้สายการบินลดระยะเวลาฝึกนักบินได้ 65% และใช้นักบินกลุ่มเดียวกันสำหรับรุ่น เอ 330 และ เอ 350 ทำให้สายการบินมีต้นทุนต่ำลง เพิ่มประสิทธิภาพในการทำกำไรได้

“แอร์บัสใช้พนักงานสำหรับรุ่นเอ 350 เอ็กซ์ดับเบิลยูบี ประมาณ 1,800 คน โดยใช้เวลาจากจุดเริ่มต้นของสายการประกอบขั้นสุดท้ายจนถึงส่งมอบประมาณ 2 เดือนครึ่ง”

ห้องโดยสารออกแบบด้วยนวัตกรรมสุดทันสมัย ชั้นธุรกิจ (Royal Silk Class) แสนสบาย, ชั้นประหยัดที่นั่งกว้าง 18 นิ้ว

แอร์บัส เอ 350 เอ็กซ์ดับเบิลยูบี เป็นเครื่องบินพิสัยบินระยะไกลขนาดกลาง มีการออกแบบห้องโดยสารกว้างขวาง สามารถแบ่ง 3 ชั้นโดยสาร ชั้นประหยัด ที่นั่งมาตรฐานขนาด 18 นิ้ว เรียงแถวละ 9 ที่นั่ง นอกจากนี้ยังมีชั้นประหยัด พรีเมียม เรียงแถวละ 8 ที่นั่ง ส่วนชั้นธุรกิจ เรียงแถวละ 4 ที่นั่ง ซึ่งจะสร้างโอกาสในการทำกำไรอย่างน้อย 10%

สำหรับการบินไทย จัดวางที่นั่งภายใต้ลำตัวที่มีขนาดกว้างเป็นพิเศษ โดยเพิ่มเติมพื้นที่สำหรับการเดินทางเพื่อความสะดวกสบายของผู้โดยสารในทุกชั้นโดยสาร ได้รับการดีไซน์ให้มีพื้นที่ใช้สอยมากขึ้น ขนาดของบานกระจกหน้าต่างกว้างขึ้น พื้นที่เหนือศีรษะถูกขยายสัดส่วนเพื่อลดความอึดอัด และมีพื้นที่เก็บสัมภาระมากขึ้น โดยรองรับผู้โดยสาร 321 ที่นั่ง แบ่งเป็น 2 ชั้นโดยสาร ได้แก่

ที่นั่งผู้โดยสารชั้นธุรกิจ รอยัล ซิลค์ คลาส (Royal Silk Class) จำนวน 32 ที่นั่ง ได้รับการออกแบบมาเพื่ออำนวยความสะดวกสบายอย่างเต็มเปี่ยมแบบส่วนตัวสำหรับผู้โดยสารชั้นธุรกิจ แต่ละที่นั่งมีความกว้าง 21 นิ้ว สามารถปรับเอนนอนราบได้ 180 องศา การเดินเข้า-ออกจากที่นั่งสามารถทำได้อย่างเป็นอิสระในทุกที่นั่งซึ่งจะไม่รบกวนผู้โดยสารในที่นั่งติดกัน ทุกที่นั่งมีการติดตั้งจอโทรทัศน์ระบบสัมผัสขนาด 16 นิ้ว สามารถเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตระบบ Wi-Fi อุปกรณ์สื่อสาร และปลั๊กไฟสำหรับอุปกรณ์ไฟฟ้าต่างๆ

ที่นั่งชั้นประหยัด (Economy Class) จำนวน 289 ที่นั่ง มีระยะห่างระหว่างแถวที่นั่ง 32 นิ้ว แต่ละที่นั่งมีความกว้าง 18 นิ้ว ทำให้ไหล่ไม่ชนกับคนนั่งข้างๆ ติดตั้งจอโทรทัศน์ระบบสัมผัสขนาด 11 นิ้วทุกที่นั่ง สามารถเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตระบบ Wi-Fi อุปกรณ์สื่อสาร และปลั๊กไฟสำหรับอุปกรณ์ไฟฟ้าต่างๆ

ตลาดเอเชียแปซิฟิกโตกระฉูด ต้องสร้างความโดดเด่นของบริการในทุกมิติ มัดใจผู้โดยสาร

ปัจจุบันแอร์บัส เอ 350 เอ็กซ์ดับเบิลยูบี มีคำสั่งซื้อแล้ว 802 ลำ ส่งมอบแล้ว 24 ลำ โดยกาตาร์ แอร์เวย์ รับมอบเป็นสายการบินแรก ตามด้วย เวียดนามแอร์ไลน์,ฟินแอร์, แทมแอร์ไลน์ และสิงคโปร์แอร์ไลน์ รับเมื่อต้นปี และสายการบินคาเธ่ย์แปซิฟิคแอร์เวย์เพิ่งรับมอบเมื่อ 1 มิ.ย. 59 โดยแอร์บัสวางแผนเพิ่มกำลังการผลิตเพื่อตอบสนองความต้องการ จาก 50 ลำในปี 2016 เพิ่มเป็น 120 ลำในปี 2018 (เดือนละ 10 ลำ)

หากประเมินด้วยเครื่องบินแอร์บัสที่มีทุกรุ่นประมาณ 8,600 ลำ จากลูกค้า 400 สายการบินนั้น เท่ากับทุกๆ 1.5 วินาทีจะมีเครื่องบินแอร์บัสมีการขึ้น-ลงคิดเป็น 28,000 เที่ยวบินต่อวัน โดยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมามีคำสั่งซื้อในทุกรุ่น 6,400 ลำ และขณะนี้มีคำสั่งซื้ออีก 6,746 ลำ ซึ่งยังไม่ได้ส่งมอบ สะท้อนให้เห็นความต้องการของตลาดที่สูงขึ้น ซึ่งแอร์บัสจะเพิ่มกำลังให้ได้ 900 ลำต่อปีภายในปี 2020

ทั้งนี้ จากสถิติอัตราการเดินทางด้วยเครื่องบินจะเติบโต 1 เท่าทุกๆ 15 ปี ซึ่งปัจจุบันมี 3,500 ล้านเที่ยวบิน และคาดการณ์ว่าอีก 15 ปีข้างหน้าหรือปี 2030 จะเพิ่มเป็น 7,000 ล้านเที่ยวบิน ซึ่งเป็นเหตุผลให้สายการบินต้องซื้อเครื่องบินเพิ่มขึ้นและขนาดเครื่องบินจะใหญ่ขึ้นเพื่อบรรทุกผู้โดยสารต่อเที่ยวได้มากๆ เนื่องจากสนามบินรวมถึงรันเวย์จะไม่สามารถสร้างขึ้นเพิ่มเพื่อรองรับการเดินทางที่เพิ่มขึ้นได้ทัน

จากแนวโน้มการเติบโตของธุรกิจการบินในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และพบว่าประชากรชนชั้นกลางมีการเดินทางมากขึ้น ด้วยเทคโนโลยีการซื้อตั๋วที่ง่ายขึ้น คนรุ่นใหม่จึงนิยม ดังนั้น การบินไทยจะต้องสร้างความโดดเด่นของบริการในทุกมิติเพื่อดึงดูดผู้โดยสาร โดยเฉพาะผู้โดยสารระดับพรีเมียม ที่สามารถสร้างกำไรได้เป็นกอบเป็นกำ...

ปัจจุบันฝูงบินการบินไทยมีเครื่องบินแอร์บัสรวม 38 ลำ ประกอบด้วยรุ่น เอ 380 / 6 ลำ, เอ 330 / 17 ลำ และ เอ 320 / 15 ลำ (ไทยสมายล์)

เครื่องบิน แอร์บัส เอ 350 เอ็กซ์ดับเบิลยูบี ขณะประกอบโครงสร้าง
ภายในเครื่องบินที่นั่งชั้น Business Class







กำลังโหลดความคิดเห็น