xs
xsm
sm
md
lg

เปิดมหากาพย์งาบการบินไทย สินบนซื้อเครื่องจ่ายงามๆ 3%

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายจรัมพร โชติกเสถียร (ที่ 3 จากซ้าย) กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) นายเอริค ชัลซ์ (Mr. Eric Schulz , ที่ 2 จากซ้าย) กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ด้านการบินพลเรือนและการบินพาณิชย์ (President for Civil Large Engine) บริษัท โรลส์-รอยซ์ จำกัด และนายมาร์ค เคนท์ (ที่ 1 จากซ้าย) เอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทย ร่วมกันเปิดงาน “50 Years A Celebration of Partnership into the Future” โดยมีแขกผู้มีเกียรติในวงการธุรกิจการบิน การท่องเที่ยวร่วมงาน ณ โรงแรม โนโวเทล สุวรรณภูมิ เมื่อวันที่ 23 พ.ย. 2559 ที่ผานมา  ทั้งนี้   เมื่อปี พ.ศ. 2507 การบินไทยเริ่มทำการบินเครื่องบินแบบคาราแวล 3 (Caravelle III) ด้วยเครื่องยนต์แบบเอวอน (Avon) ของบริษัท โรลส์-รอยซ์ และยังใช้เครื่องยนต์ของโรลส์-รอยซ์ กับเครื่องบินแบบต่างๆ มาอย่างต่อเนื่อง จนถึงปัจจุบันนับเป็นความสัมพันธ์ระหว่าง 2 บริษัทฯ ครบรอบ 50 ปี
การบินไทยจากอดีตสู่ปัจจุบัน จุดเปลี่ยนการเมืองครอบงำเต็มตัว เริ่มสมัยชาติชาย - บูมสุดยุคแม้ว แฉขบวนการส่งคนนั่งประธานบอร์ด - ดีดี ปั้นเส้นทางบิน วางแผนจัดซื้อเครื่องบินล่วงหน้า ต่างชาติสบช่องวิ่งฝุ่นตลบ จ่ายเน้นๆ ค่าคอมฯ 3% แลกซื้อเครื่อง

กรณีที่บริษัท โรลส์-รอยซ์ ผู้ผลิตรถยนต์และเครื่องยนต์สำหรับอากาศยาน ยอมรับต่อสำนักงานปราบปรามการทุจริตของประเทศอังกฤษ (Serious Fraud Office หรือ SFO) ว่า ได้มีการจ่ายสินบนในหลายประเทศที่ได้ทำการซื้อขายเครื่องยนต์ของโรลส์-รอยซ์รวมถึงประเทศไทยในระหว่างปี พ.ศ. 2534 - 2548 นั้น รวมเป็นเงินถึง 1,260 ล้านบาท เพื่อให้ได้สัญญา 3 ฉบับ ซึ่งการบินไทยได้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบเรื่องดังกล่าวแล้วนั้น

การบินไทยเริ่มอย่างไม่เป็นทางการประมาณ 50 กว่าปีที่แล้ว ปี 2503 เส้นทางแรกบินระหว่าง กรุงเทพฯ-ฮ่องกง-โตเกียว ไทเป-โตเกียว ด้วยเครื่องบินใบพัด DC-6 ตอนหลังพัฒนาเป็นเครื่องบินเจ็ต

จากนั้นก็ก่อตั้งเป็นบริษัท โดยในการเริ่มต้นของการบินไทย ยังไม่มีความชำนาญ จึงเชิญให้ต่างชาติเข้ามาถือหุ้น คือ บริษัท SAS Scandinavian Airlines system เขาเลยส่งผู้บริหารเข้ามา บริหารตามตำแหน่งสำคัญต่างๆ นั่นคือยุคแรก

เมื่อมีต่างชาติถือหุ้นก็บริหารแบบฝรั่ง ซึ่งโดยพื้นฐานแล้ว เมื่อเขาเข้ามาบริหารประเทศไทยก็ส่งทหารอากาศ เข้ามาร่วมบริหาร แต่คนบริหารจริงๆ ในระดับเรียก VP: Vice President คือ พวกฝรั่งหมด ช่วงนั้น 50 ปีที่แล้ว จึงเป็นช่วงที่การบินไทยเขาฝึกคนขึ้นมา ต่อมาเติบโตขึ้นเป็นใหญ่เป็นโตในการบินไทย แต่ตอนนี้เกษียณอายุไปหมดแล้ว เช่น ฉัตรชัย บุญยะอนันต์ (อดีตกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ : ดีดี ปี 2535 - 2536) กัปตันโยธิน ภมรมนตรี กัปตันชูศักดิ์ พาชัยยุทธ ล้วนเติบโตจากการฝึกอบรมของ SAS

ฉัตรชัย บุญยะอนันต์ เคยมีประสบการณ์การขายมาจากบริษัท BOAC ก็คือ British Airways นั่นเอง สมัยก่อนเขาเรียกว่า BOAC สมัยนี้เรียก BA ต้องถือว่า ฉัตรชัย เป็นคนซึ่งมีประสบการณ์ในเรื่องการตลาดมาก่อน แต่ก็มาอยู่การบินไทย

พอถึงช่วงๆ หนึ่ง SAS เริ่มถอนหุ้น การบินไทยเริ่มซื้อหุ้นคืนมา จึงเข้าสู่ยุคที่ 2 เรียกว่า มืออาชีพคนไทยที่ได้รับการฝึกจากฝรั่ง มาบริหารการบินไทย โดยที่ฝรั่งก็ยังช่วยบริหาร สายการบินก็เจริญเติบโตไปเรื่อยๆ ว่าไปแล้วสมัยก่อนนั้นกิจการการบินมันไม่สลับซับซ้อน ไม่มีปริมาณมากเหมือนปัจจุบัน แข่งขันก็น้อย อย่างมากก็มีเครื่อง BC 8 คือ เครื่องบินเจ็ต เจ็ตขนาดเล็กบินกรุงเทพฯ-ฮ่องกง

ต่อมาหมดยุคฝรั่ง ยุคมืออาชีพคนไทยบริหารจัดการ กองทัพอากาศก็เริ่มเข้ามามีบทบาทในการบินไทย เพราะสมัยก่อนกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ก็คือ นายพลทหารอากาศ

สมัยก่อนตำแหน่งของผู้อำนวยการใหญ่การบินไทย ก็คือ ตำแหน่งที่คนช่วงชิงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารอากาศแล้วไม่ได้ ก็จะส่งคนที่ไม่ได้มานั่ง หรือว่า เป็นเพื่อนสนิทของผู้บัญชาการทหารอากาศ เขาก็จะส่งมานั่ง เหมือนกับผู้บัญชาการทหารบก ใครเป็น ผบ.ทบ. ก็จะส่งเพื่อนสนิทรุ่นเดียวกันที่รักมาก ไปนั่งเป็นผู้อำนวยการช่อง 5

ในช่วงที่ผู้บริหารมืออาชีพที่เป็นลูกน้องฝรั่งบริหารอยู่ กองทัพอากาศเริ่มส่งกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ก็คือ พล.อ.อ. ทั้งหลายมานั่ง สมัยก่อนมานั่ง 1 - 2 ปีเกษียณ 1 ปีเกษียณ

ในช่วงนั้นทหารอากาศทั้งหลายที่เข้ามานั่งเป็นใหญ่ในการบินไทยแล้วทำอะไรไม่ได้ เริ่มมีความหงุดหงิดใจ จากปัญหาทั้ง การคอร์รัปชัน หรือ การที่เอื้อประโยชน์กับตัวเองหรือพวกพ้องในการบินไทยที่มีมากขึ้นๆ แต่ว่าก็ทำอะไรมากไม่ได้ เพราะว่าส่วนใหญ่จะมากันปีหนึ่งเกษียณ 2 ปีเกษียณ จนกระทั่งมาถึงยุคที่เขาเรียกว่ายุค พล.อ.อ.บัญชา สุขานุศาสน์

พล.อ.อ.บัญชา สุขานุศาสน์ เป็นผู้อำนวยการการบินไทยที่อยู่ยาวที่สุด 4 ปี และ นั้นก็ตามด้วยทหารอากาศอีก 3 คน คือ พล.อ.อ.จรรยา สุคนธทรัพย์ พล.อ.อ.ประหยัด ดิษยะศริน และ พล.อ.อ.วีระ กิจจาทร เป็นช่วงซึ่งแต่ละคนเข้ามาระยะเวลามี ต้องการที่จะทวงคืนสิทธิ์ของทหารอากาศ และช่วงนั้นเป็นช่วงที่ บดท. บริษัท เดินอากาศไทย เข้ามารวมการบินไทย บทบาทของทหารอากาศจึงเริ่มมีมากขึ้น เพราะว่าพอเครื่องบินมีมากขึ้น นักบินกลุ่มแรกที่เข้ามาบิน ก็คือ ทหารอากาศทั้งสิ้น

เมื่อทหารอากาศมีบทบาทมากขึ้น ในเครื่องบิน ในบริษัทสายการบิน โครงสร้างอำนาจในการบินไทยตกเป็นของทหารอากาศ ซึ่งสายการบินของต่างประเทศจะไม่มีลักษณะเช่นนี้ ยกตัวอย่างแค่กัปตันเครื่องบิน ก็มีอำนาจสูงมาก เมื่อทุกส่วนรวมกันจึงมีอำนาจต่อรองมากขึ้น พอมีอำนาจต่อรองมากขึ้น บทบาทของพวกมืออาชีพที่เป็นลูกจ้างฝรั่งก็ลดน้อยลง เพราะว่ากรรมการผู้อำนวยการใหญ่สามารถจะใช้พวกกัปตันเป็นตัวเข้าไปแทรกแซงแต่ละจุด นี่คือ เหตุการณ์ในช่วงของทหารอากาศเป็นใหญ่

จุดเปลี่ยนยุครัฐบาลชาติชาย การเมืองรุมทึ้งซื้อเครื่องบิน

พอมาถึงยุครัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ การเมืองก็เข้ามาการบินไทยเต็มตัว โดยทหารอากาศเป็นใหญ่นั้น เป็นช่วงสุดท้ายที่ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี พอช่วง พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ คราวนี้การเมืองเข้ามาแล้ว เรื่องราวก็เริ่มเปลี่ยน เริ่มจากเปลี่ยนจากตัวกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ อาจจะไม่ใช่ทหารอากาศ หรือไม่ต้องเป็นทหารอากาศก็ได้ ตัวประธานกรรมการอาจจะไม่ต้องเป็นทหารอากาศก็ได้เลยเริ่มมีพลเรือนเข้ามาบริหาร

เมื่อพลเรือนเข้ามาบริหาร พอดีเป็นจังหวะซึ่งธุรกิจการบินกำลังเริ่มที่จะเฟื่องฟู การบินไทยจึงเป็นสายการบินที่กำไรมาก มีชื่อเสียงมาก แล้วก็ได้รับความนิยมอันดับต้นๆ ของเอเชีย หรือของโลก

การเจริญเติบโตของการบินไทยเจริญเติบโตเร็วมาก ก็เลยมีกระบวนการซึ่งเรียกว่า การสั่งซื้อเครื่องบิน เพราะเครื่องบินในยุคช่วงปี ค.ศ. 1960 ต่อ ค.ศ. 1980 เป็นช่วงที่เครื่องบินเปลี่ยนเร็วมาก

จากเครื่องบินเจ็ต BC-8 มาเป็น MD-8 จาก MD-8 มาเป็นโบอิ้ง 707 เครื่องเจ็ต 4 ตัว จากโบอิ้ง 707 มาเป็นโบอิ้ง 747 แล้วทางยุโรปก็เริ่มทำแอร์บัสเข้ามาแข่ง เพราะฉะนั้นการขายเครื่องบินแข่งกันก็เลยเริ่มมีบทบาทมากขึ้น เพราะว่า รูทต่างๆ เริ่มเพิ่มมากขึ้นเต็มไปหมด

ประจวบกับที่การบินไทยมีชื่อเสียงมาก ทั้งเรื่องการขับเครื่องบิน กัปตันการบินไทยมีชื่อมาก ทั้งสจ๊วร์ต ทั้งแอร์การบินไทย การบริการชั้น 1 ทุกอย่างการบินไทยสมบูรณ์แบบ และที่น่าสนใจอย่างหนึ่ง ในยุคนั้นเป็นยุคซึ่งพนักงานการบินไทยทุกคนมีความภูมิใจในความเป็นคนการบินไทย แล้วทุกคนรักกันเหมือนพี่เหมือนน้อง

ยุคนั้นการบินไทยเจริญเติบโตอย่างสูงสุด ไม่มีการแบ่งฝักฝ่าย ไม่มีการสร้างฐานอำนาจ และไม่มีการคอร์รัปชันกันอย่างหนัก เพราะฉะนั้นแล้ว การบินไทยก็เลยไปได้ดี

แต่พอเริ่มยุคการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องมากขึ้นๆ เริ่มส่งคนเข้ามาบริหาร ควบคุมตำแหน่งสำคัญๆ ตั้งแต่ประธานบอร์ด กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ อยู่ภายในการควบคุมของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม

สิ่งแรกที่เริ่มมี คือ การไล่ซื้อเครื่องบิน ทุกๆ รัฐบาลต้องการซื้อเครื่องบิน ทั้งๆที่มีแผน 10 ปี แล้ว 5 ปีแล้ว ยกตัวอย่าง สมัย สุวัจน์ ลิปตพัลลภ เป็นรัฐมนตรีคมนาคม แผน 10 ปีแล้วแต่ก็ประกาศซื้อเครื่องบิน 10 ปีล่วงหน้า

พอเปลี่ยนรัฐบาลมาก็จัดซื้ออีก แล้วบางครั้งพอมันซื้อหมดไปแล้ว บางปี เข้าไปซื้อก็หาเรื่องซื้อใหม่ เพราะการซื้อเครื่องบินโดยพื้นฐานแล้ว บริษัทต่างชาติ บริษัทใหญ่ๆ ไม่ว่าจะเป็นโบอิ้ง เจเนอรัล มอเตอร์ส หรือ บริษัท โรลส์-รอยซ์ บริษัทเครื่องบิน ถ้าซื้อของเขาเยอะๆ เขามีค่าคอมมิชชันให้ เขาเรียกว่า Sale Commission ถูกต้องตามกฎหมาย แต่ว่า Sale Commission เขาให้แน่นอน 3%

อย่าคิดว่า 3% เล็กน้อย เพราะ จาก 20,000 ล้าน จาก 60,000 ล้าน จาก แสนล้าน คิดออกมาเป็นตัวเลขมหาศาล ยกตัวอย่าง สมัย ทนง พิทยะ เป็นประธานการบินไทย ซื้อเครื่องบินประมาณเกือบแสนล้าน

การซื้อเครื่องบินมักมีเหตุผลหาความชอบธรรมในการซื้อด้วยการสร้างเส้นทางบินขึ้นมา ต้องใช้เครื่องบินอะไรบ้าง เครื่องยนต์อะไร สมัย ทนง พิทยะ ที่จัดซื้อไปกว่าแสนล้านนั้น ก็ระบุว่า ต้องเครื่องบินแอร์บัส 340-500 340-600 สามารถบินตรงแล้วกำไรได้ดีว่า จะมีรายได้เพิ่มอีก 5% เส้นทางเช่น กรุงเทพฯ-นิวยอร์ก ก็เกิดขึ้น (ต่อมายกเลิกเพราะขาดทุน)

นี่คือ วิธีการคอร์รัปชัน ประวัติศาสตร์แบบนี้ต้องมีคนเตือนความจำให้ฟัง

เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ชัดว่า เครื่องบินมีคอมมิชชัน 3% ตายตัว ทำไม บริษัทเครื่องบิน หรือเอเยนต์เครื่องบินถึงพร้อมให้ 3% เพราะอะไร? เพราะเขาจะได้กำไรจากการซื้ออะไหล่

อันที่สอง เครื่องบินเป็นตัวในการซื้อแล้วกำไร มีค่าคอมมิชชัน เครื่องบินมาลำพังไม่ได้ ต้องมีเครื่องยนต์มาด้วย เพราะฉะนั้น เวลาจัดซื้อ ซื้อเสร็จ การเซ็นสัญญาซื้อระบุชัดว่า ต้องการใช้เครื่อง จีอีของไทยไม่ได้ทำงานตามหลักเหตุผล ถ้าเป็นสิงคโปร์แอร์ไลน์ คาเธ่ย์แปซิฟิค ก็จะบอกว่า ควรใช้เครื่องบิน type เดียวกันหมด เช่น คาเธ่ย์แปซิฟิค 80 - 90% จะใช้เครื่องยนต์ของโรลส์-รอยซ์ เพราะจะได้ซ่อมแบบเดียวกันหมด

แต่เมืองไทย เนื่องจาก “นักวิ่ง” เยอะ นักการเมืองแต่ละยุคแต่ละสมัยก็ถูกล็อบบี้ เครื่อง จีอี เป็นเครื่องที่ช่างการบินไทยชอบ หัวหน้าช่างชอบ เขามีความรู้เขาก็เลยเคยชินใช้กันมานาน แต่ขณะเดียวกัน พอนักการเมืองมาหลายบริษัทก็วิ่งเข้าหา เสนอตัว เสนอผลประโยชน์

โรลส์-รอยซ์ อาศัยจังหวะนี้เข้ามา พอโรลส์-รอยซ์เข้าไปวิ่งในนักการเมือง สมัยก่อนการบินไทยใช้ 2 ตัว จีอี กับ โรลส์-รอยซ์ แต่ Pratt & Whitney หรือ P&W เข้ามาเป็นรายที่ 3 ซึ่งเกิดขึ้นในยุค พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ เพราะอะไรรู้ไหม จากคนผลักดัน พันศักดิ์ วิญญรัตน์ ที่ปรึกษาขณะนั้น ที่บอกว่า เราต้องเลือกอีกหนึ่งราย

เมื่อมาถึงจุดๆ หนึ่ง ทุกอย่างในการบินไทยก็คอร์รัปชันกันหมด ตั้งแต่เครื่องจนถึงเก้าอี้ เครื่องเอนเตอร์เทนเมนต์ ขึ้นอยู่กับหัวหน้าจัดซื้อ คนภายใน ขึ้นอยู่กับนักการเมืองคนไหน เพราะฉะนั้นแล้ว เมื่อเอาเครื่องบินแต่ละลำของการบินไทยมาวางคู่กับเครื่องบินของคาเธ่ย์ แปซิฟิค หรือของสิงคโปร์แอร์ไลน์ เอาของแต่ละชิ้นมาวางและเทียบราคากัน ของไทยจะแพงกว่าเขาหมดทุกอย่าง

เพราะฉะนั้น ด้วยต้นทุนที่สูงกว่า การบินไทยถึงทำกำไรได้น้อยลง จนเข้าสู่ยุคที่องค์กรถูกบั่นทอนกลายเป็นสายการบินที่มีแต่ปัญหาเรื่อยมาจนถึงวันนี้



หมายเหตุ : เรียบเรียงจาก “รายการเมืองไทยรายสัปดาห์” วันศุกร์ที่ 3 กันยายน 2553 นายสนธิ ลิ้มทองกุล นางจินดารัตน์ เจริญชัยชนะ และ นางสาวอุษณีย์ เอกอุษณีย์ ดำเนินรายการ ออกอากาศทาง นิวส์ 1

คำต่อคำ “สนธิ” ปูพื้นมหากาพย์ “งาบการบินไทย”- ชี้โกงทุกเม็ด สะท้อนภาพระดับชาติ
กำลังโหลดความคิดเห็น