xs
xsm
sm
md
lg

ครึ่งปีแรก 2559 ใช้น้ำมัน-ไฟ พีกสูงสุดเป็นประวัติการณ์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


  มื่อปี 2557 ราคาน้ำมันดิบตลาดโลกเฉลี่ยยังอยู่ในระดับ 100 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล แต่หลังจากนั้นราคาได้ไต่ลงมาเรื่อยๆ และจนถึงปี 2559 มีการคาดการณ์กันว่าราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยน่าจะอยู่ในระดับ 40-45 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล โดยล่าสุดขณะนี้ดูไบราคาช่วงต้น มิ.ย.เคลื่อนไหวอยู่ที่กว่า 45 เหรียญฯ ต่อบาร์เรล เบรนท์กว่า 49 เหรียญฯ ต่อบาร์เรล

  ทั้งนี้ ปัจจัยสำคัญที่ฉุดให้ราคาน้ำมันตลาดโลกตกต่ำมาจาก 2-3 ปัจจัยหลักที่เป็นองค์ประกอบ ได้แก่ 1. การผลิตน้ำมันจากหินดินดาน (Shale Oil) ที่เพิ่มขึ้น 2. กลุ่มประเทศโอเปกและนอกโอเปกต่างก็ยังคงระดับการผลิตไว้โดยไม่ปรับลดลง และ 3. ภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ด้วยปัจจัยทั้งหมดทำให้การผลิตน้ำมันมีมากกว่าความต้องการหรือพูดง่ายๆ ว่าน้ำมันล้นตลาดนั่นเอง

  ราคาน้ำมันตลาดโลกที่คงระดับต่ำส่งผลดีต่อประเทศที่นำเข้าน้ำมันอย่างไทยที่ทำให้เราควักจ่ายเงินกับค่านำเข้าน้ำมันดิบได้ต่ำลง โดยจะเห็นว่าปี 2558 นั้น ปริมาณการนำเข้าน้ำมันดิบรวมอยู่ที่ 50,750 ล้านลิตร เฉลี่ยวันละ 139.0 ล้านลิตร หรือ 874,553 บาร์เรลต่อวัน โดยปริมาณเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 4,039 ล้านลิตร คิดเป็น 8.6% ขณะที่มูลค่าการนำเข้าลดลง 385,961 ล้านบาท คิดเป็น 9.4% จะเห็นว่าไทยประหยัดเงินนำเข้าได้มากทีเดียวแม้ว่าปริมาณการนำเข้าจะสูงขึ้นก็ตาม

  นอกจากนี้ ราคาขายปลีกน้ำมันของไทยก็ยังมีระดับที่ต่ำลงตามทิศทางน้ำมันตลาดโลก เพราะโครงสร้างราคาน้ำมันของไทยนั้นได้ถูกจัดระเบียบจนสะท้อนกลไกตลาดโลกได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยราคาน้ำมันขายปลีกของไทยช่วงต้นเดือน เม.ย. 59 เบนซิน 95 อยู่ที่ 30.76 บาทต่อลิตร, แก๊สโซฮอล์ 95 อยู่ที่ 23.80 บาทต่อลิตร, แก๊สโซฮอล์ 91 เฉลี่ยอยู่ที่ 23.38 บาทต่อลิตร, E20 อยู่ที่ 21.44 บาทต่อลิตร, E85 เฉลี่ยอยู่ที่ 17.99 บาทต่อลิตร และดีเซลอยู่ที่ 21.99 บาทต่อลิตร หากเทียบกับช่วงต้นเดือน เม.ย. 2558 พบว่าราคาเบนซิน 95 จะลดลง 2.70 บาทต่อลิตร แก๊สโซฮอล์เฉลี่ยลดลงไป 4 บาทต่อลิตร ขณะที่ดีเซลลดลงเฉลี่ย 3 บาทต่อลิตร

  หากเทียบกับช่วง เม.ย. 2557 เบนซิน 95 จะลดลงถึง 7.60 บาทต่อลิตร แก๊สโซฮอล์เฉลี่ยลดลง 8-17 บาทต่อลิตร ดีเซลเฉลี่ย 8 บาทต่อลิตร การปรับตัวลดลงของราคาขายปลีกน้ำมันตามราคาน้ำมันดิบดังกล่าวมีส่วนผลักดันอย่างยิ่งต่อการใช้น้ำมันของคนไทยที่สูงขึ้นต่อเนื่องเช่นกัน โดยพบว่าเดือน ก.พ. 2559 การใช้น้ำมันดีเซลขยับมาอยู่ที่ 65.89 ล้านลิตรต่อวัน สูงสุดเป็นประวัติการณ์ เช่นเดียวกับกลุ่มเบนซินที่การใช้เดือนเมษายน 2559 ขยับมาอยู่ที่ 30.048 ล้านลิตรต่อวันซึ่งถือเป็นตัวเลขการใช้สูงสุดเป็นประวัติการณ์เช่นเดียวกัน โดยเพิ่มขึ้น 5% จากเดือน มี.ค. 2559 และเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน 12.2%

  การใช้น้ำมันที่เพิ่มขึ้นดังกล่าวไม่อาจปฏิเสธว่าส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการที่ราคาน้ำมันที่ยังทรงตัวระดับต่ำต่อเนื่องมา 2 ปีนี้ แต่อีกส่วนหนึ่งก็เป็นผลมาจากจำนวนรถยนต์ที่เพิ่มขึ้นทั้งทางตรงและทางอ้อมที่ผู้ใช้รถบางส่วนที่เคยเติมแอลพีจี เมื่อรัฐมีการปรับโครงสร้างราคาแอลพีจีให้สะท้อนกลไกตลาดจึงหันมาเติมน้ำมันที่มีราคาถูกแทน และรถยนต์ใหม่แทบจะไม่มีการติดตั้งแอลพีจีเลย และประการสุดท้าย รัฐได้กระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการท่องเที่ยวนี่จึงอาจเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้คนใช้น้ำมันกลุ่มเบนซินเพิ่มขึ้นในช่วง เม.ย.ซึ่งมีวันหยุดยาวพอสมควร ขณะที่ดีเซลอาจมาจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ที่เริ่มขับเคลื่อนและช่วง ก.พ.เป็นฤดูเก็บเกี่ยวผลผลิต โดยเฉพาะอ้อย ฯลฯ

  หันมาดูไฟฟ้า บ้างก็จะพบว่ามีความน่าสนใจไม่แพ้ฟากน้ำมัน เริ่มจากราคาก็จะพบว่า ค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ หรือ Ft ที่เรียกเก็บในบิลค่าไฟประชาชนซึ่งจะมีการพิจารณาทุก 4 เดือน เพื่อให้สะท้อนตามต้นทุนราคาเชื้อเพลิงกำกับดูแลโดยคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เริ่มจากงวดแรก (ม.ค.-เม.ย. 2559) กกพ.มีมติลดลง 1.57 สตางค์/หน่วย ทำให้ค่า Ft ในงวดดังกล่าวอยู่ที่ -4.80 สตางค์ต่อหน่วย ต่อมางวด พ.ค-ส.ค. 2559 ลดลง 28.49 สตางค์ต่อหน่วยทำให้ค่า Ft อยู่ที่ -33.29 สตางค์ต่อหน่วยและเมื่อรวมกับค่าไฟฐานจะทำให้ค่าไฟเฉลี่ยจะเรียกเก็บอยู่ที่ 3.4227 บาทต่อหน่วยโดย Ft ในงวดนี้ลดลงมากสุดเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่มีการใช้สูตร Ft ในปี 2535

ปัจจัยที่ทำให้ค่าไฟฟ้าลดลงมาจากราคาก๊าซธรรมชาติที่เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าหลักถึง 70% ส่วนหนึ่งสะท้อนสูตรราคาน้ำมันเตาย้อนหลัง 6-12 เดือน โดยราคาน้ำมันที่ลดต่ำในปี 2558 เพิ่งจะเริ่มมาสะท้อนในโครงสร้างราคาก๊าซฯมากในช่วงนี้นั่นเอง ประกอบกับค่าบาทได้แข็งค่าขึ้นมาเล็กน้อย ฯลฯ

หันมาดูสถิติการใช้ไฟปีนี้ภาพรวม 5 เดือนแรก (ม.ค.-พ.ค.) โต 6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดย ม.ค.เติบโต 6.7% เดือน ก.พ.เติบโต 1.9% เดือน มี.ค.เติบโต 4.5% เดือน เม.ย.เติบโต 8.3% และเดือน พ.ค.เติบโต 8.9% ส่งผลให้ 5 เดือนแรก ขณะที่ปริมาณการใช้ไฟฟ้าสูงสุด หรือพีก มีตัวเลขที่น่าสนใจที่เป็นการทำสถิติสูงสุดต่อเนื่อง 8 ครั้ง และจบด้วยสถิติครั้งที่ 8 สูงสุดเป็นประวัติการณ์ ดังนี้

  ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 21 เม.ย. 2559 เวลา 14.13 น. ได้เกิดค่าความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดใหม่ (Glossary Link Peak) อยู่ที่ 27,139 เมกะวัตต์ อุณหภูมิสูงถึง 38.3 องศาเซลเซียส ทำลายสถิติเดิมเมื่อวันที่ 7 เม.ย. 2558 เวลา 14.28 น. ที่ 27,056.8 เมกะวัตต์ ในอุณหภูมิ 36.4 องศาเซลเซียส

  ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2559 เวลา 14.17 อุณหภูมิ 36.6 องศาเซลเซียส ทำยอดการใช้ไฟฟ้าสูงสุด หรือ Peak อยู่ที่ 28,351.7 เมกะวัตต์ ที่อุณหภูมิ 36.6 องศาเซลเซียส

  ครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2559 เวลาประมาณ 14.53 น. มีปริมาณการใช้ไฟฟ้าสูงสุด หรือพีก (Peak) อยู่ที่ 28,475.3 เมกะวัตต์ ที่อุณหภูมิ 36.6 องศาเซลเซียส

  ครั้งที่ 4 เมื่อวันที่ 26 เม.ย. 2559 เวลา 14.13 น. ปริมาณการใช้ไฟฟ้าสูงสุด อยู่ที่ 29,004.6 เมกะวัตต์ อุณหภูมิ 38.1 องศาเซลเซียส

  ครั้งที่ 5 เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2559 เมื่อเวลา 14.33 ได้เกิดปริมาณการใช้ไฟฟ้าสูงสุด อยู่ที่ 29,249.4 เมกะวัตต์ ที่อุณหภูมิ 38.1 องศาเซลเซียส

  ครั้งที่ 6 เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2559 เมื่อเวลา 14.23 น. ปริมาณการใช้ไฟฟ้าสูงสุด อยู่ที่ 29,403.7 เมกะวัตต์ ที่อุณหภูมิ 37.8 องศาเซนเซียส

  ครั้งที่ 7 เมื่อวันที่ 11 พ.ค. 2559 เวลา 14.12 น. ปริมาณการใช้ไฟฟ้าสูงสุด อยู่ที่ 29,600.8 เมกะวัตต์ ที่อุณหภูมิ 36.4 องศาเซลเซียส

  ครั้งที่ 8 เมื่อวันที่ 11 พ.ค. 2559 เมื่อเวลา 22.28 น. ที่ 29,618 เมกะวัตต์ อุณหภูมิ 33 องศาเซลเซียส

จะเห็นว่าพีกปีนี้นั้นสูงกว่าสถิติเดิมปี 58 ที่ 27,345 เมกะวัตต์ ถึง 2,000 เมกะวัตต์ ซึ่งมีสาเหตุหลักมาจากสภาพอากาศที่ร้อนจัดกว่าทุกๆ ปีที่ผ่านมา อีกทั้งจะสังเกตได้ว่าเกิดไฟพีกในช่วงเวลากลางคืนด้วยเนื่องจากมีโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ หรือโซลาร์เซลล์ ในช่วงต้นปีทยอยเข้าระบบจำนวนมาก 400-500 เมกะวัตต์ ทำให้ไฟส่วนนี้สามารถตัดพีกในช่วงกลางวันได้ และแน่นอนว่ากลางคืนประชาชนได้หันมาเปิดเครื่องปรับอากาศเพื่อทำความเย็นกันมากขึ้นนั่นเอง

อย่างไรก็ตาม การใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นมาจากหลายสาเหตุทั้งอากาศที่ร้อนเป็นหลัก พฤติกรรมของคน พลังงานทดแทนที่เพิ่มเข้ามา ค่าไฟที่ต่ำลง รวมถึงเศรษฐกิจที่เริ่มดีขึ้น ฯลฯ แต่ภาพรวมของการจัดหาเราไม่อาจปฏิเสธได้ว่าพลังงานในส่วนของน้ำมันไทยยังเป็นประเทศที่ต้องพึ่งพิงการนำเข้าน้ำมันดิบเข้ามากลั่นเป็นหลัก ฟากไฟฟ้าก็ต้องซื้อเชื้อเพลิงทั้งการนำเข้าก๊าซฯ จากพม่า ก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) และการซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศ ทำให้แต่ละปีไทยต้องควักเงินนำเข้าพลังงานรวมไม่ต่ำกว่า 1 ล้านล้านบาทซึ่งถือเป็นเงินมหาศาล

หากพิจารณาในรายละเอียดเฉพาะการใช้น้ำมันปี 2558 นี้ ขยายตัวเพิ่มขึ้นถึง 8% หรือประมาณ 1.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งสูงกว่าอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ของประเทศที่เติบโตประมาณ 3% และยังสูงกว่าการบริโภคเฉลี่ยของโลกที่เติบโต 2% และในปี 2559 ก็คงจะต้องมาติดตามกันต่อว่าผลจะเป็นอย่างไร เพราะในช่วงครึ่งปีหลังนั้นสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกมีแนวโน้มจะเริ่มเป็นขาขึ้น โดยคาดการณ์ว่าราคาเฉลี่ยน่าจะอยู่ในระดับ 40-45 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล 

  การใช้น้ำมันและไฟฟ้าในครึ่งปีหลังนับเป็นสิ่งที่จะต้องติดตามใกล้ชิดว่าจะมีอัตราการเติบโตที่สูงขึ้นมากน้อยเพียงใดหากระดับราคามีแนวโน้มจะสูงขึ้น และยังหมายถึงการวางแผนด้านการจัดหาที่จะรองรับให้ทันในอนาคต โดยเฉพาะในฟากของไฟฟ้า เพราะการก่อสร้างโรงไฟฟ้าจะต้องใช้เวลานาน 4-5 ปีกว่าจะผ่านขั้นตอนต่างๆ ส่วนของน้ำมันที่เพิ่มขึ้นหากเพิ่มแล้วมีสัดส่วนของพลังงานทดแทนเข้าไปผสมมากแล้วประโยชน์ก็ต่อเนื่องไปถึงพี่น้องเกษตรกรก็น่าจะเป็นผลดีมากกว่า

  ทั้งนี้ หน่วยงานรัฐโดยเฉพาะกระทรวงพลังงานจำเป็นต้องพิจารณาให้ถ่องแท้และหาคำตอบให้ได้ว่าการใช้พลังงานมีประสิทธิภาพอันเกิดมาจากการเติบโตของเศรษฐกิจอย่างแท้จริงหรือไม่ เพื่อนำมาวางแผนบริหารจัดการที่รัดกุมมากยิ่งขึ้น ในการปลุกจิตสำนึกให้คนไทยรู้จักใช้พลังงานอย่างรู้คุณค่า
กำลังโหลดความคิดเห็น