xs
xsm
sm
md
lg

กฟผ.หวังเร่งโรงไฟฟ้าถ่านหินลดเสี่ยงช่วงรอยต่อประมูลก๊าซฯ อ่าวไทย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

โรงไฟฟ้าพระนครเหนือ
“กฟผ.” หวังโรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.กระบี่ และเทพา จ.สงขลา เดินหน้าตามแผนเพื่อลดความเสี่ยงปัญหารอยต่อปริมาณก๊าซฯ ลดต่ำในช่วงรอยต่อประมูลแหล่งก๊าซฯ ในอ่าวไทยที่จะสิ้นสุดอายุสัมปทานปี 65-66 เดินหน้าเปิดโรงไฟฟ้าพระนครเหนือชุดที่ 2 รองรับความต้องการใช้ไฟที่สูงขึ้น  



นายสุนชัย คำนูณเศรษฐ์ ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยหลังเป็นประธานในพิธีเปิดโรงไฟฟ้าพระนครเหนือ ชุดที่ 2 อ.บางกรวย จ.นนทบุรี เมื่อวันที่ 1 มิ.ย.ว่า ปัญหาก๊าซธรรมชาติที่เป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้า 70% ขณะนี้อาจเกิดปัญหาลดลงหรือขาดตอนช่วงรอยต่อประมูลแหล่งสัมปทานปิโตรเลียมที่จะหมดอายุในอ่าวไทยในช่วงปี 2565-66 นั้น โรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.กระบี่ และเทพา จ.สงขลา เกิดขึ้นตามแผนจะมีส่วนสำคัญที่จะจัดการความเสี่ยงช่วงดังกล่าวได้เป็นอย่างดีที่จะไม่ทำให้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าแพงจากการต้องนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG) เข้ามา รวมถึงยังสามารถสร้างสมดุลของเชื้อเพลิงที่จะกระจายให้เกิดขึ้นตามแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า (PDP 2015) ด้วยการลดสัดส่วนก๊าซฯ ลงมา

“กฟผ.เองก็อยากเร่งให้โรงไฟฟ้าถ่านหินเกิดขึ้นได้ตามแผน เพราะส่วนของโรงไฟฟ้ากระบี่ก็ล่าช้ามา 1 ปีแล้ว และคิดว่าเร็วๆ นี้คณะกรรมการไตรภาคีที่พิจารณาเดินหน้าโรงไฟฟ้าถ่านหินซึ่งจะใช้เวลา 8 เดือนซึ่งจะครบเดือน ส.ค.นี้ ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการลงพื้นที่ไปดูหลายครั้ง ผมเชื่อว่าเร็วๆ นี้น่าจะคุยและเดินหน้าได้ ส่วนเทพา ทาง กฟผ.ก็ส่งข้อมูลรอบด้านเพิ่มเติมแก่คณะกรรมการชำนาญการสิ่งแวดล้อม หากอนุมัติเสร็จสิ้นเดือนมีนาคมนี้ ก็จะสามารถก่อสร้างได้ตามแผนงานที่กำหนด” นายสุนชัยกล่าว

ส่วนเรื่องที่คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) อนุมัติให้ กฟผ.สร้างคลังลอยน้ำนำเข้า LNG (เอฟเอสอาร์ยู) 5 ล้านตันนั้น กฟผ.ก็จะศึกษารายละเอียดให้เสร็จโดยเร็ว ซึ่งเดิมศึกษาว่าจะสร้างคลังลอยน้ำที่บริเวณปากน้ำบางปะกงเพื่อส่งก๊าซเข้าโรงไฟฟ้าบางปะกงได้ทันที แต่ก็ต้องมีการขออนุญาตจากหน่วยงานเกี่ยวข้อง รวมทั้งต้องทำผลศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมทุกด้านต้องใช้เวลานานไม่ต่ำกว่า 4 ปี
พิธีเปิดโรงไฟฟ้าพระนครเหนือชุดที่2
เปิดโรงไฟฟ้าพระนครเหนือชุดที่ 2 อย่างเป็นทางการ

สำหรับโรงไฟฟ้าพระนครเหนือประกอบด้วย 2 ชุด ชุดแรกมีกำลังผลิต 700 เมกะวัตต์ชุดที่ 2 มีกำลังการผลิต 850 เมกะวัตต์ โดยโรงไฟฟ้าแห่งนี้จะรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าที่สูงขึ้นในภาคกลางโดยเฉพาะในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยเป็นโรงไฟฟ้าประเภทพลังความร้อนร่วมกังหันก๊าซแบบแกนเพลาเดียว (Single Shaft Combined Cycle) ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างเครื่องกังหันก๊าซ เครื่องกังหันไอน้ำ และเครื่องกำเนิดไฟฟ้า โดยใช้ก๊าซธรรมชาติผสมจากสองแหล่งเป็นเชื้อเพลิง คือก๊าซธรรมชาติจากแหล่งสหภาพพม่า (ฝั่งตะวันตก) และแหล่งอ่าวไทย (ฝั่งตะวันออก) รวมทั้งก๊าซ LNG ในอนาคต

ทั้งนี้ พิธีเปิดโรงไฟฟ้าพระนครเหนือ ชุดที่ 2 มีนายนิสิต จันทร์สมวงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนนทบุรี พร้อมด้วยนายโจ มาสเทรนเจโล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร แก๊ซ พาวเวอร์ ซิสเต็ม จีอี พาวเวอร์ (Mr. Joe Mastrangelo : President & CEO, Gas Power Systems GE Power) และนายยูจิ วาตานาเบะ ผู้อำนวยการสำนักงานใหญ่ประเทศญี่ปุ่น ฝ่ายก่อสร้างโรงไฟฟ้าและระบบส่ง บริษัท ซูมิโตโม คอร์ปอเรชั่น ผู้แทนบริษัทคู่สัญญา (Mr. Yuji Watanabe : General Manager Power Plant EPC Dept. No.1, Sumitomo Corporation) ผู้บริหาร กฟผ. หัวหน้าส่วนราชการ ผู้นำชุมชน และประชาชนในพื้นที่ร่วมพิธีเป็นจำนวนมาก ณ โรงไฟฟ้าพระนครเหนือ อำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี
กำลังโหลดความคิดเห็น