ผู้จัดการรายวัน 360 - ตลาดไก่ทอดแข่งรุนแรง “บอนชอน” เดินเครื่อง รุกขายแฟรนไชส์ ขยายตลาดต่างจังหวัดจริงจังปี 60 หลังจากปีนี้ทดลองระบบก่อนรับมือคู่แข่งมากหน้าหลายตา คาดว่าปีนี้จะเปิดสาขาใหม่รวม 8 แห่ง ผนึกพันธมิตรเพิ่มอีก 1 ราย “กินจัง” รวมเป็น 3 ราย รุกดีลิเวอรี ซุ่มพัฒนาระบบแอปฯ ต่างๆ รองรับตลาด
นางสาวธัญญา ศรีพัฒนาสกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท มาชิสโสะ จำกัด ผู้ถือลิขสิทธิ์ร้านไก่ทอดจากเกาหลี “บอนชอน” เปิดเผยว่า ปัจจุบันตลาดร้านอาหารไก่ทอดมีการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้น เพราะมีผู้เล่นรายใหม่เข้าสู่ตลาดจำนวนมาก ทั้งที่เป็นแบรนด์จากต่างประเทศและแบรนด์ของคนไทยเอง ทำให้ผู้บริโภคมีทางเลือกที่หลากหลายซึ่งผู้ประกอบการเองก็ต้องมีกลยุทธ์ในการทำตลาดเพื่อดึงดูดผู้บริโภคให้ได้
ในส่วนของ “บอนชอน” ถือเป็นแบรนด์แรกที่เป็นไก่ทอดจากเกาหลีที่เข้ามาเปิดตลาดในไทยและไม่ได้เป็นเซกเมนต์ไก่ทอดอย่างเดียว แต่อยู่ในเซกเมนต์ของร้านอาหารแคชวลไดนิ่ง เพราะมีเมนูไก่ 50% และอีก 50% เป็นเมนูอื่นเพื่อรองรับความต้องการที่หลากหลายของผู้บริโภคได้ด้วย
สำหรับแผนธุรกิจจากนี้ในปีหน้า 2560 บริษัทฯ จะรุกตลาดด้วยระบบแฟรนไชส์และตลาดต่างจังหวัดอย่างจริงจัง โดยจะเน้นขยายในทำเลศูนย์การค้าและแหล่งชุมชนมากกว่าคอมมูนิตีมอลล์ หลังจากช่วง 5 ปีที่ดำเนินกิจการมารุกหนักในตลาดกรุงเทพฯ และปริมณฑลด้วยการลงทุนเอง กระทั่งมีสาขารวมทั้งสิ้น 22 สาขา (กรุงเทพฯ และปริมณฑล 21 สาขา และพัทยา 1 สาขา )
ทั้งนี้ ปีนี้ได้เริ่มทำการทดลองระบบแฟรนไชส์บ้างแล้วแต่ยังไม่เต็มตัว โดยมีการขายแฟรนไชส์ไปแล้ว 3 สาขาให้ผู้รับสิทธิ์รายเดียว คือ บริษัท เอสพีพี ในเครือไมเนอร์ เปิดสาขาที่สนามบินสุวรรณภูมิ 1 แห่ง และดอนเมือง 2 แห่ง ส่วนในต่างจังหวัด 1 สาขาที่พัทยา ซึ่งเป็นระบบร่วมทุนกับคนท้องถิ่น โดยการขยายการลงทุนในต่างจังหวัดจากนี้จะเปิดกว้างทั้งลงทุนเอง ร่วมลงทุน และการขายแฟรนไชส์ แล้วแต่ความเหมาะสมแต่ละกรณี
“ตามแผนงานอีก 2 ปีคาดว่าจะสามารถให้บริการร้านไก่ทอดบอนชอนได้ครอบคลุมพื้นที่ในกรุงเทพฯ ได้แล้ว ด้วยจำนวนสาขาในกรุงเทพฯ ตอนนั้นที่คาดว่าจะมีประมาณ 30 สาขา ซึ่งเมื่อถึงเวลานั้นจะรุกตลาดต่างจังหวัดหัวเมืองใหญ่ได้เต็มที่ เช่น เชียงใหม่ อุดรธานี ภูเก็ต ขอนแก่น ซึ่งก็มีผู้สนใจติดต่อมามากเหมือนกัน” นางสาวธัญญากล่าว
ส่วนแผนงานโดยรวมในปี 2559 ตั้งเป้าหมายที่จะเปิดร้านบอนชอนสาขาใหม่รวม 8 แห่ง แต่อาจจะได้ถึง 10 สาขา โดยเปิดไปแล้ว 5 สาขา ที่เอ็มบีเค, เซ็นทรัล บางนา, เซ็นทรัล ปิ่นเกล้า, ดอนเมือง และสุวรรณภูมิ โดยเตรียมที่จะเปิดอีกที่เซ็นทรัล พระราม 2, เดอะมอลล์ บางกะปิ และเซ็นทรัล ลาดพร้าว ขณะที่ปีที่แล้วเปิดร้านใหม่ประมาณ 7 สาขา ส่งผลให้สิ้นปีที่แล้วมีสาขารวม 17 สาขา ลงทุนเฉลี่ยสาขาละ 7-8 ล้านบาท ซึ่งปีนี้ได้เริ่มขยายสาขาขนาดใหญ่ 200-250 ตารางเมตร จากเดิมที่เฉลี่ย 100-120 ตารางเมตร เพื่อรองรับความต้องการที่มากขึ้น
นอกจากนั้นยังรุกตลาดช่องทางดีลิเวอรีมากขึ้นด้วย โดยขณะนี้เป็นพันธมิตรกับผู้ให้บริการจัดส่งอาหารแล้ว 3 ราย คือ ฟู้ดแพนด้า, เชฟเอ็กซ์พี และล่าสุดคือ กินจัง ซึ่งสัดส่วนรายได้จากดีลิเวอรียังน้อยมากแค่ 2% รวมทั้งยังร่วมมือกับพันธมิตรในการพัฒนาแอปพลิเคชันบริการใหม่ให้ลูกค้าสามารถจองคิวผ่านแอปฯ ได้เมื่อต้องการมารับประทานอาหารที่ร้าน ในอนาคตเตรียมที่จะพัฒนาระบบให้สามารถสั่งเมนูอาหารได้ก่อนด้วย เพื่อจะได้ไม่ต้องเสียเวลารอคิวหน้าร้านและรออาหารในร้านนานเกินไป
นางสาวธัญญากล่าวว่า ที่ผ่านมามีลูกค้าเข้ามาใช้บริการประมาณ 7,000-8,000 คนต่อวันในวันธรรมดา และประมาณ 9,000-10,000 คนต่อวันในวันเสาร์และอาทิตย์จากสาขาทุกแห่งรวมกัน ขณะที่ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อคนอยู่ที่ 300-500 บาท โดยที่บริษัทฯ ยังไม่ได้ปรับราคาอาหารแต่อย่างใด อย่างน้อยถึงสิ้นปีนี้ แม้ว่าต้นทุนวัตถุดิบและน้ำมันจะเพิ่มขึ้น
ปีนี้บริษัทฯ ตั้งเป้าหมายรายได้ประมาณ 800 ล้านบาท เติบโตเกือบ 50% จากปีที่แล้วที่รายได้รวม 580 ล้านบาท เพิ่มจากปี 2557 ที่ทำได้ 240 ล้านบาท โดยใช้งบการลงทุนด้านสาขาปีนี้รวม 40 ล้านบาท และงบการตลาด 15 ล้านบาท