จากกรณีน้ำส้มคั้นปลอมที่มีการผลิตขึ้นโดยผู้ประกอบการต่างชาติที่อำเภอมวกเหล็ก และหลอกขายตามท้องตลาดทั่วไปในจังหวัดสระบุรีราคาขวดละ 20 บาทนั้น กลายเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากในโลกออนไลน์และจากประชาชนทั่วไปที่ได้รับรู้ข่าวสารอย่างทั่วถึง ซึ่งต่อมาทางตำรวจและทหารในท้องที่ได้นำกำลัง พร้อมเจ้าหน้าที่จากกระทรวงสาธารณสุขเข้าจับกุมทันที พร้อมของกลางที่ใช้ในการผลิตทั้งหมด โดยเนื้อหาในข้อมูลออนไลน์ก่อนหน้านั้นระบุว่า “..ทำน้ำส้มปลอมใส่ขัณฑสกรนิดเดียวลงถังกะละมังซักผ้า แล้วเติมน้ำก๊อกผสมสีส้ม” และสำหรับคำให้การของผู้ต้องหาที่ถูกจับกุมต่อมาอ้างว่า “จริงๆ น้ำส้มถูกคั้นจากผลส้ม เพียงแต่มีหัวเชื้อและนำมาผสมกับน้ำประปา” ซึ่งหากพิจารณาตามข้อกำหนดคณะกรรมการอาหารและยา กรณีนี้น่าจะเข้าข่ายความผิดการผลิตอาหารปลอมและอาหารที่ไม่มีฉลาก
ดร.กฤษกมล ณ จอม ภาควิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ให้ความรู้กับข่าวน้ำส้มปลอมครั้งนี้คงจะกลายเป็นประเด็นสำคัญในสังคม ทำให้เกิดความตระหนักเอาใจใส่ของพ่อค้าแม่ค้าน้ำส้มคั้นสด และเกิดการเฝ้าระวังและสนใจของผู้บริโภคโดยทั่วไป สำหรับการเลือกซื้อน้ำส้มคั้นสดนั้น หากเป็นไปได้ควรเลือกแบบที่มีฉลากแสดงเสมอ แต่โดยปกติทั่วไปเรามักจะซื้อน้ำส้มคั้นสดตามตลาดนัด ซึ่งก็จะเป็นการคั้นสดๆ ที่จุดขายและมีการบรรจุขวดพลาสติกไว้สำหรับแช่เย็นบางส่วนด้วย ตามปกติวิสัยโดยทั่วไปของผู้ซื้อน้ำส้มคั้นสดก็มักจะเปิดขวดดื่มเลยทันที โดยอาจจะซื้อเก็บไปแช่เย็นไว้ดื่มบ้าง แต่ส่วนใหญ่ก็เก็บไว้ไม่นาน แค่ 2 ถึง 3 วันก็ดื่มหมดแล้ว ดังนั้น น้ำส้มคั้นสดตามตลาดสดส่วนใหญ่จึงไม่ได้มีการแสดงฉลากอะไรมาก เพียงแต่ระบุป้ายหน้าร้านและราคาขายไว้ให้เห็น ผู้บริโภคก็จะเลือกซื้อตามร้านประจำที่คุ้นเคยดี แต่หากต้องซื้อที่อื่นที่ไม่ใช่เจ้าประจำแล้วก็ควรจะต้องเพิ่มความใส่ใจในการเลือกซื้อเป็นพิเศษสักนิด
ดร.กฤษกมลกล่าวว่า “ประเด็นแรกที่พอจะสังเกตได้ คือ น้ำส้มคั้นสดนั้นควรมีความขุ่นของเนื้อส้มอยู่บ้าง ถ้าตั้งทิ้งไว้สักพักควรมีตะกอนเนื้อส้มแยกอยู่ด้านล่างให้มองเห็นได้บ้างด้วยตาเปล่า หากไม่มีตะกอนเลยสักนิด เป็นน้ำสีส้มใสๆ ให้สงสัยไว้ก่อนว่าอาจจะเป็นน้ำส้มผสมขึ้นมา และหากเมื่อซื้อแล้วเปิดขวดออกมา ก่อนดื่มให้ลองดมกลิ่นดูสักนิด เพราะน้ำส้มคั้นสดจริงๆ จะมีกลิ่นส้มธรรมชาติออกมาให้คนดื่มได้หอมชื่นใจกันบ้าง หากไม่มีกลิ่นอะไรเลยหรือกลิ่นจางมากๆ ก็จะไม่ใช่น้ำส้มคั้นสดแน่ๆ เพราะลักษณะของน้ำส้มคั้นสดทั่วไปต้องมีสี กลิ่น รสตามธรรมชาติของส้ม กรณีข่าวน้ำส้มปลอมครั้งนี้ มีประเด็นที่ผู้บริโภครับไม่ได้ที่ควรกล่าวถึง คือ การใช้น้ำก๊อกผสม การใส่ขัณฑสกร การใส่สีผสมอาหาร และการผสมน้ำส้มในกะละมังซักผ้านั่นเอง โดยปกติน้ำส้มคั้นสดจะมีความเป็นกรด เป็นอาหารที่มีความเป็นกรดค่อนข้างต่ำ โดยมีค่าความเป็นกรด-ด่าง (pH) อยู่ระหว่าง 3.0 ถึง 4.0 ซึ่งสามารถตรวจวัดง่ายๆ ด้วยกระดาษตรวจวัดค่าความเป็นกรด-ด่างหรือกระดาษวัดพีเอช ที่จะมีสีเปรียบเทียบให้เห็นข้างกล่องตั้งแต่ค่า 0 ถึง 14 การมีความเป็นกรด-ด่างต่ำนี้จึงเป็นข้อดีของน้ำส้มในการจำกัดชนิดและปริมาณจุลินทรีย์ที่สามารถรอดชีวิตหรือเจริญเติบโตได้ ซึ่งหากเป็นน้ำส้มปลอมหรือมีการเจือจางด้วยน้ำก๊อกมากขนาดนั้นจริงจะทำให้น้ำส้มนั้นมีค่าความเป็นกรด-ด่างสูงขึ้น ซึ่งถ้าลองตรวจด้วยกระดาษวัดพีเอชแล้วพบว่าค่าเกิน 5.0 ขึ้นไป ย่อมเป็นไปได้แล้วว่าน้ำส้มคั้นนั้นเจือจางมา แต่หากผู้ประกอบการกรณีนี้มีการเติมกรดอื่นๆ ลงไปในน้ำส้มเจือจางเพื่อรักษาค่าความเป็นกรด-ด่างให้ต่ำไว้ตามเดิม
ประเด็นที่สอง คือ การเติมขัณฑสกรหรือแซ็กคาริน ซึ่งสารสังเคราะห์โดยกรรมวิธีทางวิทยาศาสตร์ตัวนี้เป็นวัตถุเจือปนอาหารให้ความหวานแทนน้ำตาล หรือเรียกว่า น้ำตาลเทียม มีลักษณะเป็นผลึกสีขาวขุ่น และมีความหวานกว่าน้ำตาลทราย 300 ถึง 500 เท่า ปกติเวลาเราซื้อน้ำตาลทราย 1 กิโลกรัม ราคาประมาณ 25 ถึง 30 บาท มาทำน้ำเชื่อมสัก 1 ลิตร ถ้าต้องการน้ำเชื่อมสัก 300 ลิตร ก็ต้องซื้อน้ำตาลทรายมาไม่ต่ำกว่า 300 กิโลกรัม ราคารวมไม่ต่ำกว่า 7,500 บาท แต่ขัณฑสกร 1 กิโลกรัม ราคาประมาณ 300 บาท สามารถนำมาทำน้ำเชื่อมได้ทีเดียว 300 ลิตรเลย โดยที่มีความหวานใกล้เคียงน้ำเชื่อมจากน้ำตาลทราย จึงถือว่าราคาไม่แพงเลยสำหรับการผลิตขนาดใหญ่ ซึ่งถ้าผู้ประกอบการเติมขัณฑสกรแทนน้ำตาลทรายลงไปในน้ำส้ม แน่นอนว่าจะต้องใช้ปริมาณน้อยมากในระดับมิลลิกรัมต่อขวด ไม่อย่างนั้นจะหวานมากเกินไป ซึ่งอาจจะหวานจนติดลิ้นได้ ดังนั้นจึงต้องใช้ปริมาณน้อยมากๆ ซึ่งจะทำให้ปริมาณของแข็งที่ละลายได้ทั้งหมดต่ำมากๆ ไปด้วย การตรวจสอบทางวิทยาศาสตร์การอาหารสามารถวัดได้ด้วยเครื่องวัดปริมาณของแข็งที่ละลายได้ทั้งหมด (refractometer) ซึ่งเป็นเครื่องมือขนาดพอดีมือที่สามารถพกพาใส่กระเป๋าออกภาคสนามได้ ค่าที่ได้มีหน่วยเป็นบริกซ์ เช่น ถ้าวัดได้ค่า 8 บริกซ์ หมายถึงในน้ำส้ม 100 กรัมมีน้ำตาลและของแข็งอื่นๆ ละลายอยู่ 8 กรัม เป็นต้น ซึ่งโดยปกติน้ำส้มคั้นทั่วไปจะมีปริมาณของแข็งที่ละลายได้ทั้งหมดอยู่ระหว่าง 10 ถึง 15 บริกซ์ ถ้าน้ำส้มคั้นที่ซื้อมาหวานจริงๆ แต่พอลองตรวจวัดค่าบริกซ์ออกมาแล้วได้ต่ำมากๆ แสดงว่าน้ำส้มคั้นที่ท่านซื้อมาน่าจะมีการเจือจางและผลิตขึ้นมาโดยมีส่วนผสมของน้ำตาลเทียมก็เป็นได้ สำหรับความปลอดภัยของขัณฑสกรนั้น ยังคงเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ในหมู่นักวิชาการ มีรายงานว่าสารตัวนี้ทำให้เกิดมะเร็งในกระเพาะปัสสาวะของหนูทดลอง แต่ได้มีการแย้งว่าปริมาณที่ทำการทดลองกับหนูนั้นเป็นปริมาณที่ใช้มากเกินกว่าที่จะเป็นจริงได้สำหรับมนุษย์ ในสหรัฐอเมริกาจึงอนุญาตให้ใช้ได้ตามปกติ แต่ต้องอยู่ในความควบคุมและระบุปริมาณที่ฉลากไว้ด้วย ส่วนในยุโรปอนุญาตให้ใช้ได้สูงสุดที่ 80 ถึง 100 มิลลิกรัมต่อลิตรเท่านั้น สำหรับประเทศไทย กระทรวงสาธารณสุขอนุญาตให้ใช้ได้ในเครื่องดื่มไดเอตหรือสำหรับผู้จำกัดอาหารและน้ำหนักตัว อาหารสำหรับผู้ป่วยเบาหวานและผู้ป่วยโรคอ้วนซึ่งต้องจำกัดปริมาณน้ำตาล จึงไม่ควรนำมาใช้กับอาหารทั่วไป โดยเฉพาะอาหารที่เด็กๆ กินได้ เพราะอยู่ในช่วงอายุที่ต้องการพลังงานสูง ส่วนเรื่องการใช้น้ำผสมสีส้มในการผลิตน้ำส้มปลอม กรณีนี้ต้องตรวจดูว่าสีส้มนั้นมาจากธรรมชาติ หรือเป็นสีผสมอาหารสังเคราะห์ที่อนุญาตให้ใช้และใช้ในปริมาณที่กำหนดหรือไม่ ปัจจุบันมีชุดทดสอบสีผสมอาหารที่ห้ามใช้ ซึ่งหากเป็นสีผสมอาหารที่ไม่อนุญาตให้ใช้หรือนำมาจากสีย้อมผ้า สีทาผนังบ้าน อาจจะมีการปนเปื้อนสารปรอทและโลหะหนักอื่นๆ เป็นพิษภัยแก่ผู้บริโภคได้ ส่วนการผสมน้ำส้มในกะละมังซักผ้าที่เป็นภาพถ่ายให้เห็นนั้น แสดงถึงการใช้อุปกรณ์ที่ผิดประเภทและผิดวัตถุประสงค์ในการผลิต กะละมังซักผ้าไม่ใช่วัสดุสัมผัสอาหาร ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความไม่เอาใจใส่ในการผลิตอาหารเพื่อความปลอดภัยของผู้ประกอบการ ถือว่าไม่มีหลักเกณฑ์และวิธีการที่ดีในการผลิตอาหารอย่างชัดเจน เมื่อพิจารณาถึงผลกระทบต่อผู้บริโภคในกรณีน้ำส้มคั้นปลอมในครั้งนี้ สามารถเรียงลำดับได้ดังนี้ คือ ผู้ประกอบการไม่มีหลักเกณฑ์และวิธีการที่ดีในการผลิตอาหาร อาจจะทำให้มีจุลินทรีย์ปนเปื้อนในระหว่างการผลิต และประกอบกับมีการเจือจางน้ำส้มด้วยน้ำก๊อก ทำให้ค่าความเป็นกรดเจือจางและปริมาณของแข็งที่ละลายได้ทั้งหมดต่ำลง จะส่งผลให้จุลินทรีย์ที่ปนเปื้อนมานั้นเพิ่มจำนวนเจริญเติบโตได้อย่างรวดเร็วในสภาวะอากาศร้อนของประเทศไทย ปัญหาแรกที่เร็วที่สุดในกรณีนี้ต่อผู้บริโภค คือ ปวดท้อง ท้องเสีย หรือท้องร่วงจากจุลินทรีย์ปนเปื้อน ปัญหาถัดมา คือ สีส้มที่ใช้ผสมลงไป หากเป็นสีที่เป็นอันตรายและมีปริมาณมากเกินไป จะส่งผลต่อระบบย่อยอาหารและทางเดินอาหาร และยังสะสมในร่างกาย ซึ่งจะเป็นสาเหตุของโรคเรื้อรังในอนาคต
ประเด็นที่สาม เรื่อง ขัณฑสกร ในกรณีนี้นั้นยังถือว่าไม่น่าเป็นห่วงเท่ากับเรื่องการปนเปื้อนของเชื้อจุลินทรีย์และสีผสมอาหารดังที่กล่าวมาข้างต้น เนื่องจากหลักฐานผลกระทบทางสุขภาพในมนุษย์ของขัณฑสกรที่ยังไม่ชัดเจนและยังเป็นที่ยอมรับให้ใช้ในอาหารได้ในปริมาณหนึ่ง สำหรับประเด็นน้ำส้มคั้นปลอมครั้งนี้ให้ถือเป็นบทเรียนในด้านความปลอดภัยอาหารครั้งสำคัญ โดยผู้ผลิตต้องคำนึงถึงหลักเกณฑ์และวิธีการที่ดีในการผลิตอาหารให้ถูกสุขลักษณะและมีความปลอดภัย เพื่อให้ความมั่นใจ และสามารถมัดใจให้ผู้บริโภคเชื่อมั่นในอาหารที่ผลิตขึ้น ซึ่งจะทำให้มีลูกค้าประจำและเหนียวแน่นสม่ำเสมอไป ส่วนผู้บริโภคเอง เมื่อได้รับข่าวสารใดๆ โดยเฉพาะการแบ่งปันหรือแชร์ข่าวอย่างรวดเร็วในโลกออนไลน์ ก็ไม่ควรตื่นตระหนกไป จนพากันไม่ซื้อไม่ดื่มน้ำส้มคั้นสดตามท้องตลาดทั้งหมดจนพ่อค้าแม่ค้าน้ำส้มรายอื่นๆ เดือดร้อนขายน้ำส้มคั้นไม่ได้และขาดทุนไปตามๆ กัน ผู้บริโภคก็ควรพิจารณาข้อมูลข่าวสารให้ถี่ถ้วนอย่างแยบยลให้เห็นถึงข้อเท็จจริง โดยเฉพาะเรื่องเกี่ยวกับอาหารที่มีผลกระทบโดยตรงต่อสุขภาพของเราเองและคนรอบข้าง ทั้งนี้ น้ำส้มคั้นสดจริงๆ ที่ผลิตอย่างดีและปลอดภัยจากผู้ผลิต ยังคงสามารถดื่มแก้กระหายคลายร้อนและมีประโยชน์ต่อร่างกายของผู้บริโภคเหมือนเช่นที่ผ่านมา