ผู้จัดการรายวัน 360 - มหกรรมงานแสดงสินค้าระดับนานาชาติ THAIFEX 2016 เปิดฉากอย่างยิ่งใหญ่กว่าทุกปี ผู้ประกอบการอาหารและเครื่องดื่มไทยฉวยโอกาสจัดแสดงสินค้าและนวัตกรรมพร้อมเจรจาธุรกิจ มุ่งเป้าสร้างรายได้เพิ่ม
ผู้สื่อข่าวรายงานจากศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี ว่า กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ร่วมด้วยหอการค้าไทย และโคโลญเมสเซ ประเทศเยอรมนี จัดงานแสดงสินค้าอาหารระดับนานาชาติครั้งใหญ่ของไทยและภูมิภาคเอเชีย THAIFEX-World of Food Asia 2016 โดยกำหนดให้มีวันเจรจาธุรกิจระหว่างวันที่ 25-27 พฤษภาคม 2559 เวลา 10.00-18.00 น. และวันจำหน่ายปลีกสำหรับประชาชนทั่วไป ในวันที่ 28-29 พฤษภาคม 2559 เวลา 10.00-20.00 น. ณ อาคารชาลเลนเจอร์ 1-3 และอาคาร Impact Exhibition Center Hall 1-4
*** “ซีพีเอฟ” มั่นใจยอดโตเพิ่ม 15% ***
นายวิทวัส ตันติเวสส รองกรรมการผู้จัดการบริหาร ด้านการตลาด บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ “ซีพีเอฟ” กล่าวว่า การเข้าร่วมงาน THAIFEX 2016 ครั้งนี้ บริษัทฯ นำเสนอผลิตภัณฑ์ภายใต้แนวคิด “Sustainable Kitchen of the World” ด้วยแนวคิดต้องการสร้างคุณค่าของความยั่งยืนผ่านผลิตภัณฑ์ของ “ซีพีเอฟ” ตลอดห่วงโซ่อุปทานตั้งแต่ต้นน้ำไปยังปลายน้ำ โดยแบ่งพื้นที่ออกเป็น 3 ส่วน คือ 1. Products แสดงความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ไก่ หมู ไข่ อาหารทะเล ไส้กรอก และอื่นๆ 2. Food Outlet แสดงธุรกิจร้านค้าของบริษัทฯ ที่นำเสนอผลิตภัณฑ์คุณภาพสูงและปลอดภัยด้วยบริการที่เป็นมาตรฐาน เช่น ร้านเชสเตอร์, ร้านห้าดาว, ซีพีคิทเช่น เป็นต้น 3. Business นำเสนอธุรกิจของ “ซีพีเอฟ” ตั้งแต่ Feed-Farm-Food
ปัจจุบันบริษัทฯ ดำเนินกิจการครอบคลุม 14 ประเทศ ได้แก่ อังกฤษ เบลเยียม รัสเซีย ตุรกี แทนซาเนีย จีน อินเดีย ไต้หวัน ลาว เวียดนาม กัมพูชา มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และไทย ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารมากกว่า 2.5 พันชนิด พร้อมส่งออกไปยัง 40 ประเทศทั่วโลก คิดเป็นมูลค่ามากกว่า 3 หมื่นล้านบาท
นายวิทวัสกล่าวด้วยว่า ภาพรวมของตลาดอาหารพร้อมรับประทาน (Ready Meal) ของประเทศไทยในปี 2558 มีมูลค่าประมาณ 31,1160 ล้านบาท แบ่งเป็นอาหารแช่แข็ง (Frozen) 56% และอาหารแช่เย็น (Chilled) 44% มีการเติบโต 1.3% โดย “ซีพีเอฟ” มีส่วนแบ่งตลาดทั้ง 2 ประเภทรวม 21% มีการเติบโต 5-7% และคาดว่าจะเติบโตขึ้นเป็น 15% ในปี 2559 เนื่องจากมีการออกผลิตภัณฑ์ใหม่อย่างต่อเนื่องในช่วงไตรมาสแรกที่ผ่านมา ประกอบกับผู้บริโภคเริ่มให้การยอมรับอาหารแช่เย็นมากขึ้น แต่ในส่วนอาหารแช่แข็งอาจต้องมีการปรับตัวอีกสักระยะ
*** “เบทาโกร” เพิ่มสินค้าใหม่-ขยายร้านสาขา ***
ดร.ณรงค์ชัย ศรีสันติแสง รองกรรมการผู้จัดการใหญ่บริหาร สายงานปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจอาหาร เครือเบทาโกร กล่าวว่า ทิศทางการดำเนินธุรกิจอาหารในปี 2559 มุ่งเน้นพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่สำหรับผู้บริโภคที่ใส่ใจสุขภาพและต้องการความสะดวกสบาย พร้อมขยายช่องทางจัดจำหน่ายให้ครอบคลุมทั่วประเทศ โดยมีเป้าหมาย 1 แสนล้านบาท แบ่งเป็นในประเทศ 85% และต่างประเทศ 15% เติบโตขึ้น 8% เท่ากับปี 2558 จากปกติที่เติบโตเฉลี่ย 12-14% เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่ยังคงชะลอตัวและราคาสัตว์ไม่ดีเท่าที่ควร
ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2559 มีรายได้รวม 2.5 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นรายได้จากธุรกิจอาหาร 1.7 หมื่นล้านบาท และธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรม 8 พันล้านบาท โดยมีแผนออกผลิตภัณฑ์ใหม่ในกลุ่มไส้กรอกไขมันต่ำให้มีความหลากหลายเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันยังมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพในกลุ่ม Reduce, Plus, Free เตรียมจำหน่ายมากกว่า 10 รายการ และพัฒนาสินค้าพร้อมรับประทาน (Ready to Cook / Ready to Eat) อีกมากกว่า 100 รายการจากปัจจุบันที่มีประมาณ 300 รายการของผลิตภัณฑ์ทั้งหมด 500 รายการ
ดร.ณรงค์ชัยกล่าวด้วยว่า ปัจจุบันบริษัทฯ มีช่องทางจำหน่ายครบทุกช่องทางทั้งในกลุ่มโมเดิร์นเทรด, กลุ่มร้านค้าทั่วไป และกลุ่ม Horeca โดยในปี 2559 มีแผนขยายร้าน “เบทาโกร ชอป” เพิ่มเป็น 170 สาขาจากปัจจุบันที่มี 150 สาขา ครอบคลุมในประเทศ 165 สาขา ประเทศลาว 3 สาขา และกัมพูชา 2 สาขา ใช้งบฯ ลงทุนสาขาละ 5-8 ล้านบาท บนพื้นที่ 32-48 ตารางเมตร
นอกจากนี้ยังมีแผนเพิ่มการลงทุนร้าน “เบทาโกร เดลี่” เน้นพื้นที่ขนาดเล็ก 32-38 ตารางเมตรภายในอาคารสำนักงานต่างๆ เพื่อเจาะกลุ่มเป้าหมายคนทำงานรุ่นใหม่ที่ต้องการบริโภคอาหารพร้อมรับประทานมากขึ้น โดยปัจจุบันมี 4 สาขา และจะเพิ่มเป็น 10 สาขา ใช้เงินลงทุนสาขาละประมาณ 5 ล้านบาท
“ในปี 2559 บริษัทฯ ยังมีแผนขยายการลงทุนในกลุ่มประเทศ CLMV อย่างต่อเนื่อง โดยจะมีการลงทุนในลาวประมาณ 700 ล้านบาท และกัมพูชาประมาณ 500 ล้านบาท ส่วนในพม่ากำลังอยู่ในระกว่างการเจรจารายละเอียด”
ดร.ณรงค์ชัยกล่าวด้วยว่า ในส่วนของผลิตภัณฑ์ภายใต้แบรนด์ S-Pure ปัจจุบันมีการขยายช่องทางนำร่องอาหารสุขภาพสู่โรงพยาบาล โดยเริ่มแห่งแรกที่ศูนย์ตรวจสุขภาพ โรงพยาบาลสมิติเวช สุขุมวิท จากนั้นจะเริ่มกระจายไปยังภูมิภาคต่างๆ ทั้งในกลุ่มฟูดเซอร์วิส เช่น ร้านอาหารและโรงแรมในเมืองใหญ่ๆ เช่น สมุย, หาดใหญ่, ปากช่อง, ขอนแก่น, เชียงใหม่ เป็นต้น รวมถึงการขายในร้าน “เบทาโกร ชอป” และ “เบทาโกร เดลี่” ทั่วประเทศ
เครือเบทาโกรได้มีการปรับเปลี่ยนและพัฒนาครั้งสำคัญ โดยปรับโครงสร้างองค์กรใหม่ ประกอบด้วย กลุ่มธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรม (Agro Business) และกลุ่มธุรกิจอาหาร (Food Business) 2 กลุ่มใหญ่ เพื่อให้การดำเนินธุรกิจเป็นไปในทิศทางเดียวกันอย่างชัดเจนมากยิ่งขึ้น ทั้งยังได้ลงทุนในระบบ ERP (Enterprise Resource Planning) อย่างเต็มรูปแบบ เพื่อเสริมประสิทธิภาพการดำเนินงานและเชื่อมโยงระบบงานต่างๆ ขององค์กรเข้าด้วยกันเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน
นอกจากนี้ยังก่อตั้งศูนย์นวัตกรรมอาหาร (Food Innovation Center) เพื่อเป็นศูนย์พัฒนาผลิตภัณฑ์ ทั้งในส่วนของตัวสินค้าใหม่และบรรจุภัณฑ์หลากหลายรูปแบบให้ตรงความต้องการของตลาดและผู้บริโภคมากขึ้น รวมถึงการพัฒนาองค์ความรู้ การให้ข้อมูลเชิงเทคนิค ตลอดจนการแก้ไขปัญหาให้ลูกค้าในกลุ่มธุรกิจอาหารอีกด้วย
*** “ลัคกี้ ยูเนี่ยน” เจาะตะวันออกกลาง ***
นางสาววันทนี แสงอุทัย กรรมการผู้จัดการ บริษัท ลัคกี้ ยูเนี่ยน ฟู้ดส์ จํากัด ผู้ผลิตและจัดจําหน่ายกลุ่มผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูปแช่แข็งจากเนื้อปลาทะเล ภายใต้แบรนด์ “LUCKY” กล่าวว่า บริษัทฯ เน้นการส่งออกเป็นหลักด้วยสัดส่วน 70% และจำหน่ายในประเทศ 30% โดยคาดว่าในปี 2559 จะมียอดขายรวมประมาณ 2.4 พันล้านบาท
ในปี 2559 คาดว่าการส่งออกจะเป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้คือ 1.6 พันบาท เติบโตเพิ่มขึ้นจากปี 2558 ประมาณ 20% โดยยังคงเน้นการขยายฐานลูกค้าเก่า ทั้งกลุ่มประเทศในยุโรป สหรัฐอเมริกา และเอเชีย พร้อมขยายฐานตลาดใหม่ๆ ในโซนตะวันออกกลางซึ่งกำลังอยู่ในช่วงระยะเวลาการเริ่มต้น โดยกลยุทธ์การขยายตลาดต่างประเทศจะเน้นพัฒนาสินค้าระดับพรีเมียมซึ่งเป็นสูตรที่พัฒนาขึ้นมาให้เหมาะสมกับตลาดและความต้องการของผู้บริโภคเป็นหลัก
ส่วนยอดขายในประเทศตั้งเป้าเพิ่มเป็น 750 ล้านบาทจากที่ทำได้ในปี 2558 ประมาณ 600 ล้านบาท แบ่งเป็นช่องทาง B2B รวมถึงกลุ่ม Horeca ประมาณ 450 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 60% และช่องทางโมเดิร์นเทรด 300 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 40% โดยมีการใช้งบประมาณกว่า 20 ล้านบาทเพื่อดำเนินกิจกรรมส่งเสริมการขายอย่างต่อเนื่อง พร้อมเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่อย่างต่อเนื่อง
“ผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูปแช่แข็งจากเนื้อปลาทะเลมีความโดดเด่นในด้านการสร้างคุณค่าเพิ่มได้หลากหลายรูปแบบ ทั้งยังมีราคาไม่สูงมากนักเมื่อเทียบกับวัตถุดิบชนิดอื่น โดยบริษัทฯ มีแผนเปิดตลาดอาหารฮาลาลเพิ่มขึ้นโดยจะเน้นที่ดูไบและเลบานอนก่อน หลังจากที่อาหารญี่ปุ่นเริ่มแพร่หลาย โดยก่อนหน้านั้นชาวมุสลิมไม่ค่อยรู้จักอาหารแปรรูปจากปลาทะเลมากนัก นอกจากนั้นยังมีแผนเพิ่มรายได้ในกลุ่มประเทศ CLMV มากขึ้น หลังจากที่เริ่มทำตลาดได้ 3 ปีในประเทศลาว พม่า และกัมพูชา โดยมีอัตราการเติบโตประมาณ 10-15%”
นางสาววันทนียังให้ความเห็นในกรณีของ IUU ด้วยว่า ในส่วนของการส่งออกสินค้าไปยังกลุ่มประเทศยุโรปและสหรัฐอเมริกา บริษัทฯ มีการมอบคำสั่งซื้อไปยังบริษัทในเครือคือ บริษัท ลัคกี้ ยูเนี่ยน ฟู้ดส์ ยูโร จํากัด ซึ่งตั้งอยู่ในประเทศโปแลนด์ เป็นผู้ผลิตและส่งออกซึ่งไม่ได้มีปัญหาในเรื่องนี้แต่อย่างใด ขณะที่การดำเนินงานในประเทศไทยก็มีการจัดการด้วยระบบการจัดการของกรมประมง Catch Certificate ทำให้คัดสรรสินค้าที่ดีมีคุณภาพได้โดยตลอด อีกทั้งในส่วนของเรื่องคนบนเรือกับคนทำงานทั่วไปที่ภาครัฐมีข้อกำหนดนั้น บริษัทฯ มีรูปแบบการดำเนินงานภายใต้ Thai Union Group โดยเน้นประเด็นเรื่องแรงงาน SMETA ควบคู่ไปกับระบบการตรวจประเมินผู้จัดจำหน่ายด้วย
*** “เซ็ปเป้” เน้นโฟกัสสินค้าเพิ่มขึ้น ***
นางสาวปิยจิต รักอริยะพงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซ็ปเป้ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ในปี 2558 บริษัทฯ มีรายได้รวม 2,625 ล้านบาท แบ่งเป็นรายได้ในประเทศ 60% ต่างประเทศ 40% โดยยังคงผลักดันธุรกิจให้เติบโตได้ดีโดยมีผลิตภัณฑ์ที่ได้ส่วนแบ่งการตลาดอันดับ 1 ใน 3 กลุ่ม คือ “เซ็ปเป้ อโล เวร่า ดริ้งค์” มีส่วนแบ่ง 51% เซ็ปเป้ บิวติ ดริ้งค์” ส่วนแบ่ง 33% และกาแฟ “เพรียว คอฟฟี่” ส่วนแบ่ง 27% ขณะที่ผลิตภัณฑ์ “โมกุ โมกุ” เน้นตลาดส่งออกเป็นหลัก
ในช่วงไตรมาสแรกที่ผ่านมาบริษัทฯ มีผลประกอบการเติบโตเพียง 1% เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว จึงทำให้มีการใช้งบประมาณการตลาดสูงถึง 19% พร้อมออก 3 แคมเปญใหม่ในกลุ่มสินค้าหลักเพื่อกระตุ้นตลาด ได้แก่ แคมเปญ “แคลอรี่น้อย อร่อยแบบไม่ผสมน้ำตาล” ของ “เซ็ปเป้ บิวติ ดริงค์” แคมเปญ “ยิ่งร้อนยิ่งเชค ยิ่งเพียว” ของกาแฟ “เพรียว คอฟฟี่” และแคมเปญ “สุขภาพดี อย่ารอ” ของผลิตภัณฑ์ใหม่ “เซ็ปเป้ ฟอร์วันเดย์”
ปัจจุบันบริษัทฯ มีสินค้าที่จำหน่ายในประเทศและส่งออกไปกว่า 70 ประเทศ รวม 14 แบรนด์ กว่า 200 รสชาติ คิดเป็นจำนวนมากกว่า 1 พันเอสเคยู โดยภายในงาน THAIFEX 2016 ยังถือโอกาสเปิดตัวสินค้าใหม่ 6 รสชาติภายใต้ 2 แบรนด์ หลังจากเพิ่งเปิดตัวแบรนด์ใหม่ล่าสุดคือ “คูมิ คูมิ บาย โมกุ โมกุ” เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา
“ในปี 2559 บริษัทฯ ยังคงใช้งบประมาณการตลาดรวมประมาณ 17% ของยอดขาย พร้อมเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ประมาณ 15 รายการ น้อยลงจากปี 2558 ซึ่งมีผลิตภัณฑ์ใหม่รวม 22 รายการ โดยจะเน้นโฟกัสสินค้าที่ให้ตรงกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น คาดว่าจะยังคงสามารถทำยอดขายเติบโตได้ประมาณ 15%”
*** กะทิ “ อัมพวา” เพิ่มไลน์ผลิตใหม่ ***
นายณัฐพล วิสุทธิไกรสีห์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอเชียติค อุตสาหกรรมเกษตร จำกัด ผู้ผลิต แปรรูป และส่งออกผลิตภัณฑ์จากมะพร้าว เปิดเผยว่า บริษัทฯ ยังให้ความสำคัญต่อการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากวัตถุดิบจากมะพร้าวอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดได้เปิดตัว “กะทิ อัมพวา” ในรูปแบบขวดพีอีทีเพื่อเป็นการเติมเต็มช่องว่างทางการตลาดและขยายฐานลูกค้าไปยังกลุ่มพรีเมียม ทั้งยังเป็นการเพิ่มความสะดวกให้ผู้ใช้งานได้อีกทางหนึ่ง
ส่วนแนวทางการทำตลาดจะเน้นการสื่อสารไปยัง 3 กลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ กลุ่มผู้ใช้กะทิกล่อง, กลุ่มผู้ใช้กะทิสด และกลุ่มผู้ที่ไม่บริโภคกะทิ ด้วยการทดลองชิมผลิตภัณฑ์ตัวอย่างเพื่อให้รับรู้ถึงรสชาติที่ใกล้เคียงกับธรรมชาติ พร้อมกันนี้ยังให้ความสำคัญต่อช่องทางจำหน่ายสินค้าที่หลากหลาย ทั้งร้านสะดวกซื้ออย่างเซเว่น อีเลฟเว่น รวมถึงโมเดิร์นเทรด และเทรดิชันนัลเทรด หรือร้านค้าทั่วไป
บริษัทฯ ตั้งเป้ายอดขายสินค้าดังกล่าวในช่วงปีแรก 500 ล้านบาท และคาดว่าจะเพิ่มขึ้น 1 พันล้านบาทในปี 2560 โดยที่ผ่านมาได้เพิ่มกำลังผลิตสินค้าด้วยงบประมาณลงทุนกว่า 50 ล้านบาท แบ่งเป็นการซื้อเครื่องจักรในกระบวนการผลิตคั้นกะทิจากมะพร้าว 40 ล้านบาท และปรับปรุงเครื่องจักรในโรงงาน จ.สมุทรสงคราม 10 ล้านบาท ส่งผลให้มีกำลังการผลิตเพิ่มเป็น 2 พันตู้คอนเทนเนอร์ต่อปี ในปี 2559 คาดว่าจะสามารถทำรายได้รวมประมาณ 4 พันล้านบาท โดยรายได้หลักยังคงมาจากการส่งออกไปยัง 77 ประเทศทั่วโลกทั้งทวีปอเมริกา ยุโรป ออสเตรเลีย เอเชีย และตะวันออกกลาง ต่างประเทศคิดเป็นสัดส่วน 80% และจำหน่ายในประเทศ 20%
อนึ่ง ผลิตภัณฑ์ของบริษัทฯ ประกอบด้วย กะทิ “อัมพวา”, น้ำมะพร้าวแท้ 100% ตรา “โคโค่แม็ก” (COCOMAX), และน้ำนมมะพร้าวพร้อมดื่มรายแรกของประเทศไทยที่มีส่วนผสมของน้ำและเนื้อมะพร้าว ตรา “มิลกี้ โคโค่” (Milky Coco) โดยในแต่ละวันใช้มะพร้าวคุณภาพเป็นวัตถุดิบในการผลิตเป็นจำนวนประมาณ 100 ตัน คิดเป็นจำนวนกว่า 2 แสนลูก หรือคิดเป็นปีละกว่า 60-70 ล้านลูก