บีโอไอเผย รองนายกรัฐมนตรีนำคณะเดินทางไปชักจูงการลงทุน ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น พร้อมพบปะหารือกับบริษัทชั้นนำในสาขาที่มีเทคโนโลยีขั้นสูงและบริการ เช่น อาหารที่มีนวัตกรรม เครื่องมือและวัสดุทางการแพทย์ พอลิเมอร์ชนิดพิเศษ ชิ้นส่วนยานยนต์ และกิจการสำนักงานใหญ่ข้ามประเทศ หรือ IHQ
นางหิรัญญา สุจินัย เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ เปิดเผยว่า ระหว่างวันที่ 29 พฤษภาคม ถึงวันที่ 1 มิถุนายน 2559 นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี จะเป็นหัวหน้าคณะของรัฐบาลไทยนำหน่วยงานภาครัฐและเอกชนไทยเดินทางไปชักจูงการลงทุน ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น
โดยในส่วนของกิจกรรมสำคัญ ประกอบไปด้วย การพบปะหารือกับบริษัทชั้นนำของญี่ปุ่นเพื่อเชิญชวนให้เข้ามาลงทุนในประเทศไทย ซึ่งกลุ่มบริษัทที่หารือนั้นจะเน้นผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายแห่งอนาคตที่รัฐบาลต้องการสนับสนุนให้เกิดการลงทุนในประเทศไทย ได้แก่ กลุ่มอาหารที่มีนวัตกรรม (Food Innovation) ซึ่งบริษัทญี่ปุ่นเป็นผู้ผลิตอาหารที่ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมสอดคล้องกับนโยบายส่งเสริมการลงทุนในคลัสเตอร์เมืองนวัตกรรมอาหาร หรือ Food Innovation ที่เป็น 1 ใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายในอนาคตของประเทศไทย
รองนายกรัฐมนตรีและคณะของบีโอไอจะพบปะหารือกับบริษัทชั้นนำอีก 5-6 ราย ในกลุ่มอุตสาหกรรมแห่งอนาคต เช่น บริษัทผู้ผลิตอาหาร เครื่องมือและวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ ยาที่ใช้วัตถุดิบขั้นสูง อุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ที่เกี่ยวกับระบบความปลอดภัยและใช้เทคโนโลยีขั้นสูง อุตสาหกรรมปิโตรเคมีชนิดพิเศษ รวมทั้งกิจการสำนักงานใหญ่ข้ามชาติ (International Headquarters:IHQ)
นอกจากนี้ รองนายกรัฐมนตรียังจะใช้เวทีการประชุมนานาชาติเกี่ยวกับอนาคตของเอเชีย หรือ International Conference on the Future of Asia ครั้งที่ 22 ซึ่งจัดโดยหนังสือพิมพ์ Nikkei ของญี่ปุ่น มีนักธุรกิจญี่ปุ่นและนักธุรกิจจากประเทศต่างๆ ในเอเชียเข้าร่วมกว่า 1,000 คน เพื่อกล่าวถึงมาตรการสนับสนุนการลงทุนใหม่ๆ และความพร้อมของไทยในการรองรับการลงทุนแห่งอนาคตตามเป้าหมายของรัฐบาล
“บีโอไอได้เพิ่มความเข้มข้นในกิจกรรมชักจูงการลงทุนจากต่างประเทศตามแนวทางของรองนายกรัฐมนตรี โดยเจาะลึกไปถึงแผนการลงทุนของบริษัทเป้าหมาย ไปจนถึงประเด็นที่นักลงทุนอยากให้รัฐบาลสนับสนุน เพื่อให้นักลงทุนตัดสินใจเข้ามาลงทุนในประเทศไทย” เลขาธิการบีโอไอกล่าว
สำหรับสถิติการขอรับส่งเสริมการลงทุนทางตรงจากประเทศญี่ปุ่นในไทย ในช่วง 4 เดือน (มกราคม-เมษายน 2559) พบว่า นักลงทุนจากญี่ปุ่นยังครองอันดับ 1 มีคำขอรับการส่งเสริม 77 โครงการ เงินลงทุน 18,024 ล้านบาท มีการขอรับการส่งเสริมการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ เช่น กิจการผลิตเครื่องยนต์สำหรับยานพาหนะ เงินลงทุน 7,200 ล้านบาท และกิจการผลิตรถยนต์อเนกประสงค์ เงินลงทุน 2,875 ล้านบาท
ทั้งนี้ยังมีโครงการลงทุนของบริษัทญี่ปุ่นอีก 5,000 ล้านบาท แต่เป็นการลงทุนผ่านบริษัทจากเนเธอร์แลนด์ ซึ่งหากรวมในส่วนนี้จะพบว่ามูลค่าเงินลงทุนจากญี่ปุ่นในไทยช่วง 4 เดือนที่ผ่านมาสูงกว่า 20,000 ล้านบาท
สำหรับการขอรับการส่งเสริมการลงทุนใน 10 อุตสาหกรรมแห่งอนาคตในช่วง 4 เดือน (มกราคม-เมษายน 2559) มีการขอรับการส่งเสริมการลงทุนจำนวน 217 โครงการ และมีมูลค่าทั้งสิ้น 71,365 ล้านบาท และคาดว่าภายในช่วงครึ่งปีแรกมูลค่าเงินลงทุนของ 10 กลุ่มอุตสาหกรรมแห่งอนาคตจะเป็นไปตามเป้าหมายมูลค่า 100,000 ล้านบาท