xs
xsm
sm
md
lg

“คอตตอน” บูมฝ้ายอเมริกา ขยายไลเซนซีกลุ่มไม่ใช่สิ่งทอ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายไกรภพ แพ่งสภา (กลาง) ตัวแทน “คอตตอน ยูเอสเอ”
ผู้จัดการรายวัน 360 - สิ่งทอไทยบูม ฝ้ายอเมริการับผลดีตาม เผยไทยนำเข้าฝ้ายจากอเมริกาสูงเป็นอันดับ 7 ของโลก คิดเป็นปริมาณเกือบ 1 แสนตันต่อปี “คอตตอน ยูเอสเอ” อัดงบตลาด 23 ล้านบาท โหมทำตลาด พร้อมเพิ่มไลเซนซีอีก 4 แบรนด์ในปีนี้ ขยายกลุ่มไม่ใช่สิ่งทอ

นายไกรภพ แพ่งสภา ตัวแทน “คอตตอน ยูเอสเอ” เปิดเผยว่า อุตสาหกรรมสิ่งทอของไทยมีการเติบโตอย่างมาก โดยพบว่าในปี 2558 มีปริมาณนำเข้าฝ้ายจากสหรัฐอเมริกาเพิ่มเป็น 103,217 ตันต่อปี จากเดิมอยู่ที่ 99,694 ตันต่อปี เติบโต 3.4% โดยสหรัฐอเมริกาถือเป็นแหล่งนำเข้าใหญ่สุดของไทย ส่วนอีก 2 แหล่งนำเข้าคือออสเตรเลีย และบราซิล นอกจากนั้นประเทศไทยยังถือเป็นผู้นำเข้าฝ้ายจากสหรัฐอเมริกาสูงสุดเป็นอันดับ 7 ของโลก และเป็นอันดับที่ 3 ในเอเชีย รองจากเวียดนามที่นำเข้าปริมาณ 264,120 ตัน และอินโดนีเซียที่นำเข้า 103,728 ตัน

แม้ว่าสหรัฐอเมริกามีการปลูกฝ้ายเป็นอันดับที่ 3 ของโลก แต่เป็นประเทศที่ส่งออกมากที่สุดของโลกด้วยสัดส่วนมากกว่า 27% หรือประมาณ 2,099,280 ตันต่อปี ส่วนประเทศที่ส่งออกสูงเป็นอันดับที่ 2 ของโลก คือ อินเดีย 17% บราซิล 13% ออสเตรเลีย 8% ส่วนที่เหลือคืออื่นๆ

อย่างไรก็ตาม ประเทศจีนที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นตลาดฝ้ายที่ใหญ่ที่สุดในโลก ปลูกฝ้ายมากที่สุดในโลก และนำเข้าฝ้ายมากที่สุดในโลก ขณะนี้ได้เปลี่ยนไปแล้ว โดยล่าสุดเมื่อปี 2558 อินเดียกลายเป็นผู้ปลูกฝ้ายมากที่สุดในโลกคือ 7 แสนตันต่อปี คาดว่าปีหน้าจะผลิตได้ 1 ล้านตันต่อปี ส่วนประเทศที่นำเข้าฝ้ายมากที่สุดในโลกก็เปลี่ยนเป็นบังกลาเทศ

ขณะที่ในภาพรวมของการนำเข้าฝ้ายจากต่างประเทศของไทยมีประมาณ 4 แสนตันต่อปี โดยมาจากสหรัฐอเมริกาถึง 1 ใน 4 เพราะได้รับการยอมรับในคุณภาพและความทนทาน จากรายงานล่าสุดโดยผลสำรวจของ “คอตตอน ยูเอสเอ” เมื่อปี 2558 จากกลุ่มตัวอย่าง 500 ราย พบว่าผู้บริโภคชาวไทยกว่า 56% มีการรับรู้และจดจำที่ดีเกี่ยวกับสัญลักษณ์ “คอตตอน ยูเอสเอ” เพิ่มจาก 42% ในปี 2556 โดยผู้บริโภคชาวไทยมีการรับรู้เชิงบวกต่อฝ้ายสหรัฐอเมริกาในแง่ของคุณภาพและความทนทาน 61% และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 54%

นายไกรภพกล่าวต่อว่า จากการยอมรับฝ้ายจากสหรัฐอเมริกาที่มีมากขึ้นและแนวโน้มการเติบโตที่ดีของอุตสาหกรรมสิ่งทอของไทยที่ใช้ฝ้ายจากสหรัฐอเมริกามาผลิต ในปี 2559 จึงเพิ่มงบฯ การตลาดเป็น 23 ล้านบาทในการทำโฆษณาประชาสัมพันธ์และเทรดโปรโมชันมากขึ้น รวมทั้งตั้งเป้าที่จะเพิ่มพันธมิตรไลเซนซีอีก 2-4 ราย แบ่งเป็นไลเซนซีจากเครื่องนุ่งห่ม 1-2 แบรนด์ ไลเซนซีจากโรงงานสิ่งทอต่างๆ อีก 1-2 แห่ง โดยตั้งเป้าหมายเพิ่มการบริโภคฝ้ายจากสหรัฐอเมริกาในประเทศไทยให้สูงขึ้น 3.5 ล้านชิ้นภายในปี 2559

ปัจจุบัน “คอตตอน ยูเอสเอ” ในประเทศไทยมีไลเซนซีในกลุ่มเสื้อผ้าและเคหะสิ่งทอ จำนวน 35 แบรนด์ และไลเซนซีและซัปพลายเออร์โรงงานสิ่งทอ จำนวน 11 แห่ง ล่าสุดได้ไลเซนซีใหม่ในกลุ่มที่ไม่ใช่สิ่งทอ คือ ผ้าอนามัยแบรนด์ “Quiescent”

ล่าสุดได้เปิดตัว “คอลเลกชัน คอตตอน ยูเอสเอ 2016” โดยถือเป็นครั้งแรกที่ “คอตตอน ยูเอสเอ” ร่วมมือกับแบรนด์ไลเซนซีผลิตคอลเลกชันจำหน่ายทั่วประเทศกับ 2 ไลเซนซีเสื้อผ้าแบรนด์ไทยที่มีฐานการผลิตของตัวเองคือ เสื้อผ้าสุภาพสตรี “บลู คอร์เนอร์” โดยเชิญดีไซเนอร์ชั้นนำของเมืองไทยแบรนด์ “ASV” ออกแบบภายใต้การควบคุมดูแลโดย “หมู พลพัฒน์ อัศวะประภา” ในคอลเลกชัน “Blue Corner x ASV x COTTON USATM จำนวน 5 พันชิ้น รวม 40 รุ่น ราคาทีเชิ้ตเฉลี่ย 990 บาท แฟชั่นโค้ต 5,590 บาท แพงกว่าปกติ 30% ส่วนเสื้อผ้าสำหรับสุภาพบุรุษ “คาคิ บรอส” ได้นำ “อาเล็ก ธีรเดช เมธาวรายุทธ” มาร่วมออกแบบในคอลเลกชัน “Khaki Bros. x Alek T. x COTTON USATM” ผลิตจำนวน 1 หมื่นชิ้น มี 35 ดีไซน์ ราคาทีเชิ้ตเฉลี่ย 790 บาท เสื้อเชิ้ต 1,490-1,790 บาท แจ็กเก็ต 2,990-3,490 บาท



กำลังโหลดความคิดเห็น