xs
xsm
sm
md
lg

เร่งปั้น 3 องค์กรเก็บลิขสิทธิ์เพลง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการรายวัน 360 - กรมทรัพย์สินทางปัญญาเร่งแก้ปัญหาลิขสิทธิ์เพลง เดินหน้าปั้น 3องค์กรหลักดูแล “MCT” เห็นพ้องขอเป็นตัวเชื่อมนำหลักการสากลมาใช้ หวังอุดรูรั่วลิขสิทธิ์เพลงในต่างประเทศ ชี้ทีวีดิจิตอลและออนไลน์ดันการเติบโตของการจัดเก็บลิขสิทธิ์เพลงพุ่งต่อเนื่องจากปีก่อนที่มีมูลค่า 1 พันล้านบาท

นางสาวจิตราภา พยัคฆโส ผู้จัดการทั่วไป บริษัท ลิขสิทธิ์ดนตรี (ประเทศไทย) จำกัด หรือ “MCT” เปิดเผยว่า อุตสาหกรรมเพลงในประเทศไทยทั้งหมดคาดว่ามีตัวเลขรวมไม่ต่ำกว่า 4 พันล้านบาท ประกอบด้วยรายได้จากการขายฟิสิกคัลมิวสิก อย่างซีดีและดีวีดี, การแสดงคอนเสิร์ต/อีเวนต์ และการจัดเก็บลิขสิทธิ์ เป็นต้น

ในส่วนของตลาดจัดเก็บลิขสิทธิ์เพลงมีมูลค่าประมาณ 1 พันล้านบาท เติบโตต่อเนื่องทุกปี มาจากช่องทางการเก็บลิขสิทธิ์ใน 3 ส่วนหลัก คือ บรอดคาสติ้งและวิทยุ สัดส่วน 30% ธุรกิจทั่วไป เช่น โรงแรม ร้านอาหาร การแสดงคอนเสิร์ต สัดส่วน 40% และออนไลน์ 20% โดยพบว่าออนไลน์มีอัตราการเติบโตมากสุดถึง 50% ในปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะจากยูทิวบ์และไอทูนส์ รองลงมาคือบรอดคาสติ้ง หลังจากมีทีวีดิจิตอลเกิดขึ้น ผู้ประกอบการต้องการดำเนินธุรกิจอย่างถูกต้องตามลิขสิทธิ์ ทำให้เติบโตขึ้นเป็น 5-7% จากปกติโต 2% ซึ่งทั้งสองส่วนนี้ถือเป็นโอกาสเติบโตของตลาดลิขสิทธิ์เพลงในอนาคต

ปัจุบันบริษัทที่ดูแลเรื่องการจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์ที่เกี่ยวข้องกับงานเพลงทั้งหมดมีกว่า 30 บริษัท โดย 3 อันดับแรก ได้แก่ แกรมมี่, อาร์เอส และ MCT โดยในส่วนของ MCT ถือเป็นบริษัทไม่แสวงผลกำไร มีสมาชิกหลัก 2 ส่วนหลัก คือ 1. นักแต่งเพลง 600 รายจาก 4 พันรายทั่วประเทศ เช่น หนึ่ง-ณรงค์วิทย์, ดี้-นิติพงษ์, วิรัช อยู่ถาวร เป็นต้น 2. บริษัทมิวสิคพับลิชชิ่ง 30 บริษัท ซึ่งการทำงานของทั้ง 30 บริษัทถือเป็นอุปสรรคสำคัญของตลาดการจัดเก็บลิขสิทธิ์ เพราะมีความทับซ้อน สับสน ต้นทุนสูง และใช้เวลามาก เพราะต่างคนต่างทำ แตกต่างจากต่างประเทศที่มีเพียงองค์กรเดียวเป็นผู้ดูแล

กรมทรัพย์สินทางปัญญาเล็งเห็นถึงปัญหาและโอกาสที่อาจสูญเสียไปกับอนาคตของธุรกิจเพลง จึงมีความพยายามมาตลอด 10 ปีในการที่ต้องการทำให้ประเทศไทยมีองค์กรหลักเข้ามาดูแลเรื่องลิขสิทธิ์เพลง โดยขณะนี้ได้เริ่มดำเนินการไปสู่การเจรจาพูดคุยกับทั้ง 30 บริษัทให้เห็นถึงความสำคัญและโอกาสที่จะเกิดขึ้น เชื่อว่าภายใน 3 ปีนี้น่าจะเห็นการเปลี่ยนแปลง จาก 30 บริษัทมาเป็น 3 องค์กรที่ดูแลลิขสิทธิ์เพลง ประกอบด้วย 1. องค์กรด้านผู้ประพันธ์เพลง 2. องค์กรด้านดนตรีกรรม/บันทึกเสียง และ 3. องค์กรด้านนักร้อง/ศิลปิน

นางสาวจิตราภากล่าวต่อว่า ในส่วนของ MCT เห็นด้วยกับแนวทางดังกล่าว จึงขอเป็นตัวเชื่อมนำเอาหลักการสากลมาใช้ อย่างเช่น เทคโนโลยีด้านการจัดเก็บฐานข้อมูลการใช้เพลง (Music Monitoring Technology) ยังเป็นส่วนเสริมให้การจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์ทำได้อย่างเป็นระบบและทันต่อการเปลี่ยนแปลงในยุคดิจิตอลซึ่งใช้แพร่หลายในต่างประเทศ ถือเป็นอีกเครื่องมือที่จะช่วยในเรื่องของการจัดเก็บลิขสิทธิ์เพลงที่เผยแพร่ในต่างประเทศให้กลับเข้ามาได้ ซึ่งเริ่มมีการสำรวจข้อมูลไว้บ้าง โดยปีที่ผ่านมามูลค่าจัดเก็บลิขสิทธิ์ต่างประเทศทำได้ 30 ล้านบาท จึงคาดว่าจากความร่วมมือและการนำเครื่องดังกล่าวมาใช้น่าจะเห็นตัวเลขที่ดีขึ้น

ในส่วนของ MCT เป็นบริษัทไม่แสวงผลกำไร ในปีที่ผ่านมามีรายได้ 76 ล้านบาท ส่วนปีนี้คาดว่าจะเติบโต 12-15% จากฐานสมาชิกที่จะเพิ่มขึ้นและช่องทางจัดเก็บลิขสิทธิ์เพลงที่เติบโตขึ้น



กำลังโหลดความคิดเห็น