xs
xsm
sm
md
lg

SPP อ้อนรัฐทบทวนเงื่อนไขต่อสัญญาใหม่ ยอมรับให้เสนอขายราคาเท่า IPP ทำไม่ได้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


สมาคมผู้ผลิตโรงไฟฟ้าเอกชนแจงคืบหน้าการทบทวนต่อสัญญาซื้อขายไฟ SPP โดยยอมปรับลดปริมาณการขายไฟเหลือ 30 เมกะวัตต์/แห่ง แต่ราคาค่าไฟยังตกลงไม่ได้ เหตุต้นทุน SPP สูงกว่า IPP จึงอยากให้รัฐทบทวนเงื่อนไขราคาใหม่

นางปรียนาถ สุนทรวาทะ นายกสมาคมผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน เปิดเผยว่า จากการที่สมาคมฯ ได้ประชุมหาข้อสรุปร่วมกับหน่วยงานภาครัฐกรณีการต่อสัญญากับผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (เอสพีพี) กลุ่มที่ 1 จำนวน 25 ราย ซึ่งจะสิ้นสุดอายุสัญญาขายไฟฟ้าในปี 2560-2568 โดยล่าสุดทางสมาคมฯ ได้ยื่นข้อเสนอยอมปรับลดปริมาณซื้อขายเหลือ 30 เมกะวัตต์ต่อแห่ง ซึ่งเป็นการปรับลดกำลังผลิตรวมของทั้ง 25 ราย ลงถึง 70 เปอร์เซ็นต์ คือจาก 1,787 เมกะวัตต์เหลือ 560 เมกะวัตต์ หากยังไม่สามารถหาข้อสรุปในด้านราคาได้

ทั้งนี้ เงื่อนไขที่ทางภาครัฐกำหนดในเบื้องต้นคือการรับซื้อที่ราคา โดยใช้เกณฑ์ต่ำสุดของราคารับซื้อจากโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ (ไอพีพี) ซึ่งมีกลไกและการบริหารขนาดใหญ่ต่างจากเอสพีพี เพราะไอพีพีเป็นโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ ทำหน้าที่ผลิตและขายกระแสไฟฟ้าทั้งหมดป้อนให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ขณะที่เอสพีพีมีบทบาทและกลไกตั้งต้นเพื่อส่งเสริมและสร้างความเชื่อมั่นให้กับภาคอุตสาหกรรม ดังนั้นข้อกำหนดของเอสพีพี โดยเฉพาะในกลุ่ม 25 ราย คือ เป็นโรงไฟฟ้าที่มีกำลังผลิตขนาด 100-120 เมกะวัตต์ ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมหลักของประเทศ บริหารจัดการให้เกิดการใช้เชื้อเพลิงได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด เกิดความสูญเสียน้อยที่สุด จึงเป็นที่มาของข้อกำหนดการใช้ไฟฟ้าด้วยระบบพลังความร้อนร่วม (โคเจเนอเรชัน) จากก๊าซธรรมชาติ ด้วยข้อกำหนดดังกล่าวจึงทำให้ต้นทุนในการผลิตและบริหารจัดการของโรงไฟฟ้ากลุ่มเอสพีพีสูงกว่ากลุ่มไอพีพี

“หากเปรียบเทียบต้นทุนต่อหน่วยระหว่างไอพีพีกับเอสพีพี จะเห็นได้ว่าเอสพีพีจะมีภาระต้นทุนที่มากกว่าทั้งในด้านโครงสร้างพื้นฐาน ระบบสายส่ง กำลังคน จนถึงการเดินเครื่อง เนื่องจากไอพีพีสามารถเดินเครื่องได้เต็มกำลังผลิต ขณะที่เอสพีพีจะเดินเครื่องตามช่วงเวลา และตามความต้องการของลูกค้าที่เป็นภาคอุตสาหกรรม” นางปรียนาถกล่าว

ดังนั้น สมาคมฯ จึงอยากให้ภาครัฐทบทวนเงื่อนไขราคาที่กำหนดใหม่ เนื่องจากเป็นการคำนวณบนโจทย์และฐานกลไกที่แตกต่างกัน อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดนี้ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งสมาคมฯ คงต้องประชุมหารือเพื่อหาทางออกลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นทั้งต่อภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม เนื่องจากภาคอุตสาหกรรมจะมีต้นทุนที่สูงขึ้น เพราะต้องลงทุนในส่วนของการป้องกันความสูญเสียที่อาจเกิดขึ้นจากกรณีไฟตก ไฟดับ ในระบบผลิต ทั้งต้องจัดหาพื้นที่จัดเก็บและติดตั้งระบบผลิตไอน้ำพลังความร้อนเพิ่มเติม

โดยท้ายสุดอาจกลายเป็นปัจจัยที่ผลักให้นักลงทุนตัดสินใจเปลี่ยนหรือโยกย้ายการลงทุนออกจากประเทศไทย กระทบเศรษฐกิจเป็นวงกว้าง จึงอยากให้ภาครัฐนำบทบาทและกลไกของเอสพีพีที่มีต่อเศรษฐกิจมาประกอบการพิจารณาอีกครั้ง เนื่องเพราะโรงไฟฟ้าเอสพีพี กลุ่มที่ 1 จำนวน 25 รายที่กำลังจะสิ้นสุดอายุสัญญาล้วนตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมหลักของประเทศทั้งสิ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น