มหาวิทยาลัยกรุงเทพ นำโดยภาควิชาการตลาด คณะบริหารธุรกิจ ร่วมมือกับ คณะนิเทศศาสตร์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ และคณะนิติศาสตร์ รวมทั้งสิ้น 4 คณะ 8 ภาควิชา จัดงานเปิดตัวโครงการ “การตลาดธุรกิจสร้างสรรค์ธุรกิจ รุ่นที่ 7” (Creative Entrepreneurial Marketing Project : CEMP GEN#7) ภายใต้ความคิด “Social Enterprise” โดยมี อาจารย์เพชร โอสถานุเคราะห์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยกรุงเทพ เป็นประธานในพิธีเปิด เมื่อเร็วๆ นี้ ณ ลาน Eden ชั้น 3 ศูนย์การค้าเซ็นทรัล เวิลด์
โครงการ Creative Entrepreneurial Marketing Project (CEMP) เป็นโครงการที่เปิดโอกาสให้นักศึกษาได้คิดและจัดทำผลิตภัณฑ์ที่สร้างสรรค์ขึ้นมาด้วยตัวเองตั้งแต่ต้นจนจบในระยะเวลา 7 เดือน หรือ 2 ภาคการศึกษา ไม่ว่าจะเป็นการทำแผนธุรกิจ การออกแบบสินค้า การโฆษณาประชาสัมพันธ์ ไปจนถึงการออกสู่ตลาดไปขายตามสถานที่ต่างๆ เพื่อให้นักศึกษาได้มีประสบการณ์ในการทำงาน หรือการทำธุรกิจจริงในอนาคต
อาจารย์ธนกฤต วงศ์มหาเศรษฐ์ ประธานที่ปรึกษาโครงการฯ เปิดเผยถึงความเป็นมาของโครงการฯ ว่า โครงการ CEMP ได้ดำเนินการต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 7 พร้อมกับได้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยยึดตามนโยบายของ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ที่มุ่งเน้นการเรียนรู้ด้วยความคิดสร้างสรรค์และการสร้างวิญญาณความเป็นผู้ประกอบการธุรกิจให้นักศึกษา ดังจะเห็นได้จากผลิตภัณฑ์ของโครงการ CEMP เป็นผลิตภัณฑ์จากแนวคิด การออกแบบและการทำงานของกลุ่มนักศึกษาภายในโครงการ CEMP โดยมีทั้งผลิตภัณฑ์ที่ทำการผลิตด้วยตนเองและการติดต่อฝ่ายผลิตกับโรงงานที่มีการรับรองคุณภาพ พร้อมกับได้รับคำปรึกษาอย่างใกล้ชิดจากทางคณาจารย์ของมหาวิทยาลัย ทำให้ผลิตภัณฑ์ที่ออกมามีคุณภาพและสามารถเชื่อถือได้
สำหรับโครงการ CEMP GEN#7 ได้พลิกโฉมใหม่โดยเน้นเรื่องการคิดผลิตภัณฑ์เพื่อสังคม (Social Enterprise) จึงทำให้เกิด 10 ผลิตภัณฑ์ ภายใต้โจทย์ อาทิ ผลิตภัณฑ์ธูปหอมอโรม่า “ควันหลง” ซึ่งนำวัตถุดิบจากเปลือกส้มมาทำเป็นผลิตภัณฑ์โดยไม่ใช้สารเคมี, ผลิตภัณฑ์ตุ๊กตาดูดกลิ่น Char Dolly วัตถุดิบหลักที่นำมาใช้คือไม้ไผ่ คุณสมบัติเด่นคือสามารถดูดความชื้นและกลิ่นได้ดี อีกทั้งยังสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ (Reuse) ได้เรื่อยๆ
Creative Entrepreneurial Marketing Project (CEMP) จึงเป็นอีกหนึ่งโครงการที่ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ตอบสนองความเป็น Creative University เพื่อพัฒนานักศึกษาให้มีความคิดสร้างสรรค์และจิตวิญญาณความเป็นผู้ประกอบการให้ก้าวไกลสู่สากลตามอัตลักษณ์ของ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ เพื่อก้าวเข้าสู่ Creative Industry และ Creative Economy นั่นเอง