xs
xsm
sm
md
lg

สศอ.เผยอัตราการใช้กำลังการผลิต มี.ค.สูงสุดรอบ 3 ปี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“สศอ.” เผยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมมี.ค.พลิกมาบวก 1.83% หลังติดลบต่อเนื่อง 2 เดือนจากอุตสาหกรรมหลายชนิดผลิตเพิ่มขึ้นดันให้อัตราการใช้กำลังการผลิตขยับมาอยู่ที่ 68.65% สูงสุดรอบ 3 เดือน

นายศิริรุจ จุลกะรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเดือนมีนาคม 2559 กลับมาขยายตัวเป็นบวกที่ 1.83% หลังจากติดลบ 2 เดือนติดต่อกัน โดยมีอัตราการใช้กำลังการผลิตของภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่ 67.29% เพิ่มขึ้นจากเดือน ก.พ. 2559 อยู่ที่ 68.65% โดยพบว่าเป็นอัตรากำลังการผลิตสูงสุดในรอบ 3 ปี

“แนวโน้มการผลิตเริ่มขยับตัวดีขึ้น แต่ภาพรวมไตรมาสแรกดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมในไตรมาสแรกของปี 2559 มีอัตราการหด 1.08% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน อย่างไรก็ตาม ยังมีสัญญาณถึงแนวโน้มเศรษฐกิจในทิศทางที่ปรับตัวดีขึ้นในเดือน ก.พ.และ มี.ค. 2559” นายศิริรุจกล่าว

สำหรับอุตสาหกรรมที่ส่งผลให้ดัชนีผลผลิตฯ เดือนมีนาคม 2559 เป็นบวก ได้แก่ เครื่องยนต์สำหรับรถยนต์ มีการผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.01 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากสินค้าเครื่องยนต์ดีเซล มีปัจจัยหลักจากความนิยมของตลาดในประเทศสำหรับรถปิกอัพรุ่นใหม่ รวมถึงตลาดต่างประเทศ มีความต้องการเพิ่มขึ้น เช่น ตะวันออกกลาง ออสเตรเลีย กลุ่มประเทศละตินอเมริกา และยุโรป รถยนต์ มีการผลิตเพิ่มขึ้น 5.02% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนจากสินค้าประเภทรถปิกอัพเนื่องจากมีการเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่

เครื่องสำอาง มีการผลิตเพิ่มขึ้น 41.51% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากสินค้าแป้งฝุ่น ผงซักฟอก และยาสระผม เนื่องจากสภาพอากาศปีนี้ร้อนกว่าปีก่อนส่งผลให้ความต้องการแป้งฝุ่นเย็นพิ่มขึ้น

เครื่องประดับ มีการผลิตเพิ่มขึ้น 40.72% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากสินค้าประเภทต่างหู สร้อย แหวน จี้ และกำไร เนื่องจากผู้ประกอบการเน้นความโดดเด่นของดีไซน์และรูปแบบการใช้สอยจึงได้รับความนิยมมากขึ้น

เครื่องปรับอากาศและชิ้นส่วน มีการผลิตเพิ่มขึ้น 12.48% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากสินค้าประเภทคอนเดนซิ่งยูนิต และแฟนคอยล์ยูนิต เนื่องจากอากาศร้อนมากขึ้นทำให้เครื่องปรับอากาศมีความต้องการมากขึ้น ส่วนอุตสาหกรรมสำคัญที่คาดจะปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องไตรมาส 2/2559 ได้แก่ อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมอาหาร และอุตสาหกรรมรถยนต์
กำลังโหลดความคิดเห็น