กองทุนอนุรักษ์พลังงานอนุมัติงบ 4,275 ล้านบาท เร่งขับเคลื่อน 30 โครงการประหยัดพลังงานตามแผนอนุรักษ์พลังงาน และส่งเสริมพลังงานทดแทน เน้นสนับสนุนการลงทุนปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ประหยัดพลังงานในหน่วยงานรัฐ และส่งเสริมนวัตกรรมการสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์สู้ภัยแล้ง 900 แห่งทั่วประเทศ
พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรีเปิดเผยหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน วันนี้ (27 เม.ย.) ว่า คณะกรรมการกองทุนฯ ได้พิจารณางบประมาณรายจ่ายกองทุนฯ ปีงบประมาณ 2559 เพิ่มเติม และได้เห็นชอบจัดสรรเงินกองทุนฯ เพื่อดำเนินโครงการ 30 โครงการ เป็นเงิน 4,275 ล้านบาท แบ่งเป็นโครงการในแผนเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน 17 โครงการ จำนวน 3,107 ล้านบาท และโครงการในแผนพลังงานทดแทน 13 โครงการ 1,168 ล้านบาท
สำหรับโครงการในแผนเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน เช่น โครงการเครื่องมือทางการเงินสนับสนุนการลงทุนปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ในโรงพยาบาลของรัฐ แบบ Matching Fund การส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานในรูปแบบมาตรการอุดหนุนผลการประหยัดพลังงาน (DSM Bidding) โครงการสนับสนุนหลอดประหยัดพลังงาน LED ในหน่วยงานราชการและสถานศึกษาของรัฐ รวมถึงโครงการสนับสนุนการลงทุนสถานีอัดประจุไฟฟ้าสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า (EV Charging Station) โครงการสนับสนุนการออกแบบเมืองอัจฉริยะ (Smart Cities) เพื่อเร่งให้การอนุรักษ์พลังงานเกิดผลเป็นรูปธรรม และเป็นต้นแบบการอนุรักษ์พลังงานให้แก่ประชาชน เอกชน ด้วยการกระตุ้นให้เกิดการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดการประหยัดการใช้พลังงานของประเทศ สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล คือ มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน
สำหรับโครงการในแผนพลังงานทดแทน เช่น โครงการสนับสนุนงานวิจัยเทคโนโลยีระบบสะสมพลังงานรูปแบบต่างๆ ในวงเงิน 500 ล้านบาท โครงการสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์สู้ภัยแล้ง งบประมาณ
520 ล้านบาท โดยจะทำการติดตั้งระบบสูบน้ำด้วยพลังงานแสงอาทิตย์จำนวน 900 ระบบ สำหรับเกษตรกรที่ประสบปัญหาภัยแล้งในพื้นที่ 12 เขตของกรมทรัพยากรน้ำบาดาลที่ได้ดำเนินการขุดเจาะบ่อบาดาลไว้แล้ว ครอบคลุมพื้นที่ภัยแล้งทั่วประเทศ โดยคาดว่าจะช่วยเหลือราษฎรกว่า 18,000 ครัวเรือน และสูบน้ำในพื้นที่ภัยแล้งได้ถึง 18,000 ลบ.ม.ต่อวัน ครอบคลุมพื้นที่การเกษตร 36,000 ไร่ มีกำลังผลิตจากการติดตั้งเซลล์แสงอาทิตย์ที่เพิ่มขึ้น 2,250 กิโลวัตต์ (KW) และผลิตพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์เพิ่มขึ้น 2,925,000 กิโลวัตต์ชั่วโมงต่อปี ทดแทนระบบเดิมที่มักจะใช้น้ำมันและไฟฟ้าในระบบสูบน้ำเพื่อการเกษตร ซึ่งจะทำให้ประชาชนหรือเกษตรกรมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น