xs
xsm
sm
md
lg

เกมรุกทีวีดิจิตอลปี 59 ทุ่มไม่อั้น เผย 11 ช่องหลักหว่าน 1.5 หมื่นล้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ปูพรมกันมากว่า 2 ปีกับศึกแห่งศักดิ์ศรีดีกรี 5 หมื่นล้านบาทของอุตสาหกรรมทีวีดิจิตอล จะเห็นได้ว่า 2 ปีแรกเพียงแค่เรียก “น้ำย่อย” แต่การก้าวเข้าสู่ปีที่ 3 ในปี 2559 ถือเป็นการเข้าสู่กระบวนการจัดแนวรบแบบจัดเต็ม ส่งผลให้ช่วงสามเดือนแรกของปี 2559 สมรภูมิทีวีดิจิตอลคึกคักตั้งแต่ต้นปีกันเลยทีเดียว

ปัจจัยหลักที่ทำให้ทีวีดิจิตอลรุนแรงขึ้นมากประกอบด้วย 3 ส่วนสำคัญ คือ 1. ช่องทีวีดิจิตอลหลายช่องตบเท้าทุ่มทุนแถลงแผนการดำเนินงานในปี 2559 2. การปรับแผนธุรกิจสู่การปรับลดพนักงาน เป็นอีกวิธีในการเซฟต้นทุนเพื่อก้าวต่อไป และ 3. “สัปดาห์สรยุทธแห่งชาติ” ที่สั่นสะเทือนวงการทีวี ทำให้หลายช่องมองเป็นโอกาสแจ้งเกิดได้บ้าง

*** ไตรมาสแรกทีวีดิจิตอลทุนสะพัด 1.52 หมื่นล้าน ***
ในปี 2559 ช่องทีวีดิจิตอลหลายช่องร่วมตบเท้าทุ่มทุนแถลงแผนการดำเนินงานอย่างไม่มีกั๊ก โดยเฉพาะกลุ่มท็อป 10 เรียงหน้าโชว์แผนและงบลงทุนข่มกันสุดฤทธิ์ นาทีนี้ไม่มีคำว่า “รายใหม่-รายเก่า” หรือ “เจ้าตลาด” อีกต่อไป เพราะทุกคนมีโอกาสเท่าๆ กัน โดย 3 เดือนที่ผ่านมานี้มีทีวีดิจิตอล 8 ราย รวม 11 ช่องที่ภูมิใจนำเสนอแผนการดำเนินงานออกมาอย่างเป็นทางการ รวมเม็ดเงินการลงทุนทั้งหมดแล้วสูงถึง 1.52 หมื่นล้านบาทเลยทีเดียว!

โดยเฉพาะ “ช่อง 3” ที่มีทีวีดิจิตอลมากสุด 3 ช่องนั้น ปีนี้ครองแชมป์การใช้งบลงทุนสูงสุดด้วยงบลงทุนรวมกว่า 5 พันล้านบาท เนื่องจากเป็นปีแรกที่เริ่มขยับตัวใน “ช่อง 3SD” และ “ช่อง 3 แฟมิลี่” อย่างเต็มกำลัง

“สุรินทร์ กฤตยาพงศ์พันธุ์” รองกรรมการผู้จัดการ และผู้ปฏิบัติการแทนรักษาการกรรมการผู้จัดการ บริษัท บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ จำกัด ผู้บริหารสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 (33HD), ช่อง 3SD (18) และช่อง 3 แฟมิลี่ (13) ได้กล่าวไว้ว่า ช่วง 2 ปีแรกของทีวีดิจิตอลถือเป็นเวลาที่ยังไม่เหมาะสมในการลงทุนของทีวีดิจิตอลเพราะปัจจัยต่างๆ ยังไม่เอื้อ ทั้งจำนวนการเข้าถึงของผู้ชม, การเรียงช่อง และเรื่องต่างๆ ที่เกิดขึ้นนั้นไม่เป็นจริงตามที่มองไว้ จนนำมาซึ่งปัญหาและเกิดการเรียกร้องและฟ้องร้องของผู้ประกอบการที่กำลังเป็นอยู่ในปัจจุบัน

ในปี 2559 จึงถือเป็นช่วงเวลาที่ดีของการเดินหน้าทั้ง 3 ช่อง ด้วยงบลงทุนกว่า 5 พันล้านบาท ด้วยการวางโพซิชันนิ่งแต่ละช่องให้ชัดเจนยิ่งขึ้น โดยเชื่อว่าจากการที่บริษัทฯ มีสถานีโทรทัศน์อยู่ในมือถึง 3 ช่อง นำเสนอคอนเทนต์ที่หลากหลายจากเดิมที่มีช่อง 3 เพียงช่องเดียว และมีกลุ่มเป้าหมายหลักเป็นคนกรุงเทพฯ และคนเมืองที่มีอายุ 14-15 ปีขึ้นไป จากนี้จะมีกลุ่มต่างจังหวัดมากขึ้น

ขณะที่ช่องอื่นๆ อย่าง “จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่” ที่มี 2 ช่อง พบว่า “ช่อง one” ปีนี้ใช้งบลงทุน 2 พันล้านบาทสำหรับปรับผังใหม่ วางผังรายการชูช่วงซูเปอร์ไพรม์ไทม์ นำเสนอละคร 3 เรื่องตลอดสัปดาห์ พร้อมปรับผังช่วงกลางวันในเสาร์-อาทิตย์สู้ช่องใหญ่ ส่วน “ช่องจีเอ็มเอ็ม 25” ปีนี้ใช้งบ 1.2 พันล้านบาท ชูละครเป็นทางเลือกสร้างเรตติ้ง

ฝั่ง “อาร์เอส” ที่ปีนี้ “เฮียฮ้อ-สุรชัย เชษฐโชติศักดิ์” ทุ่มไม่อั้นกว่า 2 พันล้านบาท เดินหน้าดัน “ช่อง 8” ให้มีเรตติ้งสูงขึ้น ชูโรงด้วยละครรสแซบตลอดปีหลายสิบเรื่องที่ต่อคิวรอ

ตามมาติดๆ กับฝั่ง “ทรู” กับ “ช่อง true4U” ปีนี้ทุ่มงบสูงถึง 2 พันล้านบาท ชูคอนเซ็ปต์ “กีฬาสด บันเทิงดี ช่อง 24 ทรูโฟร์ยู” ครบทุกอรรถรส รวมถึงชิมลางคอละครกับละครฟอร์มยักษ์ “เจ้าเวหา” ที่กำลังออกอากาศในปัจจุบันด้วย ซึ่งถือเป็นครั้งแรกๆ ที่ “ทรู” ลงมาเล่นตลาดละครแบบเต็มตัว

ด้าน “ช่องโมโน29” ประกาศชัด สั่งลุยด้วยงบ 800 ล้านบาทเพิ่มละครลงผังเพิ่มฐานผู้ชมเช่นกัน ส่วน “ช่องเวิร์คพ้อยท์ทีวี” เจ้าแห่งวาไรตีเกมโชว์ ทุ่ม 600 ล้านบาทชูเกมโชว์ วาไรตีซีซันใหม่เพิ่มเรตติ้ง

ในส่วนของเซกเมนต์ช่องข่าวมี 2 ช่องที่พร้อมลงทุนต่อเนื่อง คือ “ช่องนิวส์ทีวี” ปีนี้พร้อมใช้งบถึง 800 ล้านบาท ชูข่าว, สารคดี และซีรีส์ เป็นหัวหอกหลักสร้างการรับรู้ ส่วน “ช่องวอยซ์ทีวี” ใช้งบ 800 ล้านบาทเช่นกันเพื่อยกเครื่องช่วงเวลาไพรม์ไทม์รวม 7 ชั่วโมง และวางหมากกลในการรุกตลาดข่าวใหม่หมด หวังขึ้นแท่นผู้นำช่องข่าวในสิ้นปี 2559

*** เลย์ออฟพนักงาน เซฟทุนลุยทีวีดิจิตอล ***
ในความเป็นจริงเดิมทีวีดิจิตอลจะมีการซื้อตัวและเฟ้นหาพนักงานเข้ามาร่วมงานเป็นจำนวนมากตั้งแต่เริ่มต้น แต่พอระยะหนึ่ง บวกกับปัจจัยลบต่างๆ ที่กระทบต่อรายได้ กระบวนการ “ปลดพนักงาน” จึงเป็นส่วนหนึ่งของแผนการดำเนินงานที่เกิดขึ้น

ทั้งนี้ กระแสการปลดพนักงานของทีวีดิจิตอลมีมาตั้งแต่ปีก่อนแล้วและในช่วงสามเดือนมานี้ก็ยังมีข่าวการปลดพนักงานอยู่ โดยเฉพาะกรณีของ “จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่” ยักษ์ใหญ่เอนเตอร์เทนเมนต์เมืองไทย ข่าวนี้จึงเป็นที่สนใจแบบไฟลามทุ่ง ซึ่ง “อากู๋-ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม” ประธานกรรมการ บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) ได้ออกมากล่าวถึงเรื่องนี้ว่า การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีในธุรกิจเพลงยุคดิจิตอลส่งผลให้ต้องปรับรูปแบบการทำงานในธุรกิจเพลงอย่างต่อเนื่อง โดยบางแผนกไม่มีฟังก์ชันงานในปัจจุบัน เช่น งานโปรโมตเพลงและกลุ่มงานแต่งเพลง แต่ยังมีคนในส่วนงานดังกล่าว ทำให้ต้องปรับบุคลากรให้เหมาะสมกับการทำงาน

เหตุผลดังกล่าวทำให้ “อากู๋” สั่งปรับลดพนักงานในธุรกิจเพลงลง 10% จากทั้งหมด 800 คน หรือลดลงราว 80 คน ในจำนวนดังกล่าวมีทั้งกลุ่มที่เกษียณอายุ รวมทั้งบางแผนกที่ไม่มีการปฏิบัติงานในธุรกิจเพลงปัจจุบัน โดยบริษัทฯ มีการจ่ายเงินชดเชยตามกฎหมายแรงงานตามอายุการทำงาน บวกค่าเลิกจ้างอีก 3 เดือน

ตามมาด้วย “ช่องวอยซ์ทีวี” ที่มีเสียงอื้ออึงหนาหูกับกรณีปลดพนักงานไปกว่า 57 คนรับเทศกาลปีใหม่ โดย บริษัท วอยซ์ทีวี จำกัด ได้ทำหนังสือชี้แจงออกมาว่า เหตุที่ต้องมีการปรับกลยุทธ์การบริหารและโครงสร้างองค์กรปี 2559 ด้วยการปรับลดพนักงานจำนวน 57 อัตรา เพื่อให้องค์กรมีขนาดที่เหมาะสมต่อการทำงานในภาวะการแข่งขันอย่างสูงมากในธุรกิจทีวีดิจิตอล
 
*** “สัปดาห์สรยุทธแห่งชาติ” โอกาสทีวีดิจิตอลช่องรอง...จริงหรือ? ***
สำหรับคนในวงการทีวีที่ตกเป็นข่าวในทางลบมากที่สุดต้นปีนี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่าเขาคือ “สรยุทธ สุทัศนะจินดา” ที่ได้สร้างปรากฏการณ์ “สัปดาห์สรยุทธแห่งชาติ” ขึ้นมาได้ หลังจากที่ถูกศาลพิพากษาจำคุก 13 ปี 4 เดือน จากคดี บริษัท ไร่ส้ม จำกัด ยักยอกเงินค่าโฆษณา อสมท จนส่งผลมาถึงการกดดันจากมวลชนจนทนแรงต้านทานไม่ไหว ต้องขอพักลาออกไปอย่างไม่มีกำหนดจากรายการต่างๆ ที่ทำหน้าที่เป็นผู้ดำเนินรายการ

ข่าวนี้เหมือนเป็นข่าวดีของทีวีดิจิตอลช่องอื่นๆ ว่ามีโอกาสชิงเรตติ้งในช่วงเวลาที่ “สรยุทธ สุทัศนะจินดา” หายไปจากหน้าจอได้ จากการคาดการณ์จากหลายฝ่ายที่ประเมินกันว่า การที่ “สรยุทธ สุทัศนะจินดา” ยุติการทำหน้าที่ มีผลให้ช่อง 3 สูญเสียรายได้ไปกว่า 100 ล้านบาท

แหล่งข่าวในวงการทีวีดิจิตอลได้วิเคราะห์ไว้ว่า เดิมหลายช่องมองว่าอาจจะได้ประโยชน์จากเหตุการณ์ครั้งนี้ แต่ในความจริงไม่มีใครได้ประโยชน์ หรืออาจจะมีบ้างแต่ก็เพียงเล็กน้อยเท่านั้น จึงน่าจะสรุปออกมาได้ว่า การที่ “สรยุทธ สุทัศนะจินดา” ยุติหน้าที่ลง ผู้ชมก็หายไปจากหน้าจอคือไม่ดูทีวีในช่วงนั้นไป หรืออาจจะเปิดไปดูช่องอื่นบ้างซึ่งมีเพียงส่วนน้อยมาก

ขณะที่ตัวเลขเรตติ้งในช่วงเวลาข่าวเช้าในเดือน มี.ค. 59 อ้างอิงจาก “นีลเส็น คอมปานี” พบว่า “ช่อง 7” มีเรตติ้งขึ้นมาเป็นอันดับหนึ่ง อยู่ในระดับ 2.65 รองลงมาคือ “ช่อง 3” มีเรตติ้ง 1.81 แต่เมื่อมองในภาพรวมทั้งช่องแล้ว “ช่อง 7” ครองเรตติ้งช่องอยู่ในอันดับหนึ่ง หรือมีเรตติ้งอยู่ในระดับ 3.368 เพิ่มขึ้นจากเดือน ก.พ. 59 ที่มีเรตติ้ง 3.103 อันดับสองคือ “ช่อง 3” มีเรตติ้ง 2.447 ลดลงจากเดือน ก.พ.ที่มีเรตติ้ง 2.754 อันดับสามคือ “เวิร์คพ้อยท์ทีวี” เรตติ้ง 1.136 อันดับสี่คือ “โมโน 29” เรตติ้ง 0.642 และอันดับห้าคือ “ช่อง one” เรตติ้ง 0.525

เพียงแค่สามปัจจัยยังทำให้ร้อนได้ขนาดนี้ แต่สีสันของทีวีดิจิตอลยังจะมีให้เห็นอีกหลายปัจจัยตลอดทั้งปี โดยเฉพาะปัจจัยการจ่ายค่าสัมปทานงวดที่ 3 ว่าจะออกมาอย่างไร? รวมถึงการแจกกล่องรับสัญญาณล็อตใหม่ที่จะมาเติมเต็มช่องทางการเข้าถึงทีวีดิจิตอลให้ครอบคลุมทั่วประเทศมากขึ้น ถือเป็นปัจจัยที่มาจากฝั่งภาครัฐล้วนๆ ส่วนจะทำผลงานออกมาดีเพียงใด และสุดท้ายจะออกมาเป็นบวกหรือลบ หลังสงกรานต์นี้กลับมาลุ้นกันใหม่ว่า “ทีวีดิจิตอลจะสั่นสะเทือนกันอีกแค่ไหน?”



กำลังโหลดความคิดเห็น