“บ้านปู เพาเวอร์” รุกธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน ตั้งเป้าปีนี้ 100 เมกะวัตต์ ลุยลงทุน 3 ประเทศหลักทั้งไทย จีน และญี่ปุ่น โดยเตรียมเสนอขายไฟฟ้าจากโโรงไฟฟ้าชีวมวล 3 จังหวัดชายแดนใต้ ขณะนี้อยู่ระหว่างเจรจาพันธมิตรร่วมทุนเพื่อป้อนวัตถุดิบ รวมทั้งรุกโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่จีนและญี่ปุ่น
นายวรวุฒิ ลีลานนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า บริษัทฯ ให้ความสำคัญในการลงทุนธุรกิจไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนใน 3 ประเทศหลัก คือ ไทย จีน และญี่ปุ่น คาดว่าปีนี้จะมีกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพิ่มอีก 100 เมกะวัตต์ จากปัจจุบันมีกำลังการผลิต 54 เมกะวัตต์ โดยในไทยนั้นบริษัทจะยื่นเสนอขายไฟจากโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนประเภทชีวมวลใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ตามที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้ออกประกาศรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนขนาดเล็กมาก (VSPP) แบบ Feed-in Tariff ขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างการเจรจากับพันธมิตรที่เป็นเจ้าของวัตถุดิบ คือ เศษไม้ยางพารา คาดว่าจะได้ข้อสรุปในเร็วๆ นี้
การตัดสินใจลงทุนโรงไฟฟ้าชีวมวลใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น แม้ว่าจะมีความเสี่ยงด้านด้านความปลอดภัย แต่เห็นว่าเป็นโครงการที่มีความสำคัญต่อประชาชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ที่ยังมีความต้องการใช้ไฟฟ้าอยู่
นายวรวุฒิกล่าวต่อไปว่า บริษัทฯ ยังสนใจลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ประเทศจีนด้วย เนื่องจากรัฐบาลจีนมีนโยบายส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียนเพิ่มขึ้นเป็น 35% ของการผลิตไฟฟ้ารวมในปี 2578 ซึ่งปัจจุบันจีนมีกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนทั้งลมและแสงอาทิตย์เป็นจำนวนมาก ที่ผ่านมาบริษัทมีการลงทุนในจีนทั้งธุรกิจเหมืองถ่านหินและโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม 3 โรงที่ผลิตเชิงพาณิชย์แล้วรวม 248 เมกะวัตต์ และอยู่ระหว่างการก่อสร้างโรงไฟฟ้าที่ซานซีลู่กวงขนาด 1,320 เมกะวัตต์ โดยบ้านปูเพาเวอร์ถือหุ้น 30%
สำหรับการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่จีนนั้นเป็นแบบ Feed-in Tariff มีอัตราค่าไฟอยู่ที่ 4-5 บาท/หน่วย โดยจะต้องได้รับใบอนุญาตจากส่วนกลางและรัฐบาลท้องถิ่น ซึ่งปัจจุบันบริษัทฯมีฐานธุรกิจในจีนอยู่แล้ว จึงมีความพร้อมที่จะเข้าไปลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์เพิ่ม คาดจะมีความชัดเจนใน 1-2 ปีนี้
ส่วนประเทศญี่ปุ่นก็มีความสนใจที่จะเข้าไปลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์เพิ่มเติม จากปัจจุบันอยู่ระหว่างการพัฒนาโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ในญี่ปุ่น 54 เมกะวัตต์ที่จะทยอยจ่ายไฟเข้าระบบ ทำให้บริษัทมั่นใจว่าจะบรรลุเป้าหมายการเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าตามสัดส่วนการลงทุนเป็น 4,300 เมกะวัตต์ ในปี 2568 จากปัจจุบันที่มีราว 1,800 เมกะวัตต์ ในส่วนนี้ประมาณ 20% หรือราว 800 เมกะวัตต์จะเป็นพลังงานหมุนเวียนซึ่งเป็นไปตามเทรนด์ของโลก
เมื่อเร็วๆ นี้ กกพ.ได้ออกประกาศการรับซื้อไฟฟ้า VSPP โครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน (ไม่รวมโครงการพลังงานแสงอาทิตย์) ในแบบ Feed-in Tariff พ.ศ. 2558 พร้อมหลักเกณฑ์การรับซื้อไฟฟ้าด้วยวิธีการคัดเลือกโดยการแข่งขันทางด้านราคา (Competitive Bidding) โดยระยะที่ 1 จะเริ่มรับซื้อในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 อำเภอในจังหวัดสงขลา เป้าหมายการรับซื้อรวมไม่เกิน 46 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นการรับซื้อตามประเภทเชื้อเพลิงและกำลังการผลิตติดตั้งเป็นก๊าซชีวภาพ (น้ำเสีย/ของเสีย) จำนวนไม่เกิน 10 เมกะวัตต์ และชีวมวล จำนวนไม่เกิน 36 เมกะวัตต์ โดยกำหนดจ่ายไฟภายใน 31 ธ.ค. 2561