“พาณิชย์” เทิดพระเกียรติ “สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์” เนื่องในปีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๘๔ พรรษา จับมือ ศศป.เปิดนิทรรศการ 7 เส้นทางผ้าทอไทย สืบสายใยพระราชปณิธาน ที่สนามบินดอนเมือง โชว์นักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติ หวังกระตุ้นให้มีการเดินทางไปสัมผัสแหล่งผลิตในแต่ละพื้นที่ พร้อมเชิญทูต 26 ประเทศในไทย ลงดูพื้นที่จริงที่อุบลฯ และสุรินทร์
นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยในการเป็นประธานเปิดนิทรรศการ 7 เส้นทางผ้าทอไทย สืบสายใยพระราชปณิธาน ที่สนามบินดอนเมือง วานนี้ (8 เม.ย.) ว่า กระทรวงพาณิชย์ได้ร่วมกับศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) จัดงานเทิดพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ องค์อุปถัมภ์หัตถศิลป์ไทย เนื่องในโอกาสปีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๘๔ พรรษา ๑๒ สิงหาคม ๒๕๕๙ โดยจะมีการเผยแพร่ผลิตผ้าทอมือใน 7 เส้นทางใน 4 ภูมิภาค แก่นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติ ที่เดินทางผ่านสนามบินดอนเมือง ที่อาคารผู้โดยสารขาออก เทอร์มินัล 2 ซึ่งจะจัดไปถึงสิ้นเดือน ส.ค. 2559 เพื่อกระตุ้นให้นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ สนใจเดินทางไปสัมผัสกับแหล่งผ้าทอในแต่ละพื้นที่ ส่งผลให้เกิดการจ้างงาน สร้างรายได้ และสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชน รวมทั้งยังเป็นการสืบสานวัฒนธรรมผ้าทอของไทย
“ได้ตั้งเป้าที่จะแสดงผลงานผ้าทอมือที่นำมาจากจังหวัดต่างๆ ในประเทศไทยมาจัดแสดงให้นักท่องเที่ยวได้เห็น และกระตุ้นให้เกิดการเดินทางไปท่องเที่ยว ไปเยี่ยมชมแหล่งผลิต ซึ่งจะเป็นการกระตุ้นการท่องเที่ยวอีกแนวทางหนึ่ง และยังเป็นการสร้างรายได้ให้แก่ชุมชนที่เป็นแหล่งผลิต อันจะทำให้เศรษฐกิจในระดับฐานรากมีการขยายตัวได้เพิ่มขึ้นด้วย”
สำหรับ 7 เส้นทางแหล่งผลิตผ้าทอมือ ใน 4 ภูมิภาค ได้แก่ เส้นทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตอนบน ได้แก่ ขอนแก่น, กาฬสินธุ์, สกลนคร, นครพนม เส้นทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตอนล่าง ได้แก่ นครราชสีมา, บุรีรัมย์, สุรินทร์, อุบลราชธานี, มุกดาหาร, อุดรธานี เส้นทางภาคเหนือ ตอนบน ได้แก่ แม่ฮ่องสอน, เชียง ใหม่, เชียงราย, ลำพูน เส้นทางภาคเหนือตอนล่าง ได้แก่ สุโขทัย, อุตรดิตถ์, แพร่, น่าน เส้นทางภาคใต้ ตอนบน ได้แก่ สุราษฎร์ธานี, นครศรีธรรมราช, กระบี่, ตรัง เส้นทางภาคใต้ ตอนล่าง ได้แก่ สงขลา, ปัตตานี, นราธิวาส เส้นทางภาคกลาง ได้แก่ อุทัยธานี, ชัยนาท, สุพรรณบุรี, กาญจนบุรี, ราชบุรี, เพชรบุรี
นางอภิรดีกล่าวว่า กระทรวงฯ ยังได้เชิญเอกอัครราชทูต 26 ประเทศประจำประเทศไทย เช่น ปากีสถาน เบลเยียม และโรมาเนีย เป็นต้น ลงพื้นที่เยี่ยมชมแหล่งชุมชนช่างทอไทยในเส้นทางภาคอีสาน โดยจะไปที่จังหวัดอุบลราชธานี และสุรินทร์ เพื่อเดินทางไปดูแหล่งผลิต กระบวนการการผลิต และร่วมชื่นชมความงดงามของผ้าทอไทย และเสน่ห์แห่งชุมชนช่างทอในพื้นที่จริง
ทั้งนี้ ยอดการส่งออกผ้าไหมไทยในปี 2558 ที่ผ่านมา มีมูลค่าประมาณ 460-500 ล้านบาท ซึ่งยังไม่รวมตัวเลขจากนักท่องเที่ยวซื้อติดมือกับบ้านอีก ซึ่งปัจจุบันเริ่มมีนักออกแบบรุ่นใหม่ มาร่วมพัฒนาและออกแบบสินค้าผ้าไหมไทย ให้สามารถใช้จริงได้ในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้า หรือเครื่องใช้ต่างๆ จึงมั่นใจว่าในปีนี้การส่งออกผ้าไหมไทยจะเกินกว่า 500 ล้านบาทแน่นอน