xs
xsm
sm
md
lg

“ซาโลร่า” วาง 4 หมากรุก “อี-คอมเมิร์ซ”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการรายวัน 360 - “ซาโลร่า” ชี้ตลาดอี-คอมเมิร์ซในไทยไปได้สวย คาดปี 2561 มูลค่าทะลุ 4,800 ล้านเหรียญสหรัฐ ชู 4 กลยุทธ์รุกตลาด

นายอาลี แฟนซี ซีอีโอ บริษัท ซาโลร่า ประเทศไทย จำกัด ผู้ประกอบการแฟชันชอปปิงออนไลน์ เปิดเผยว่า มูลค่าตลาดอี-คอมเมิร์ซในประเทศไทยเมื่อปี 2556 มีประมาณ 1,200 ล้านเหรียญสหรัฐ และคาดว่าในปี 2561 จะเติบโตเป็นมูลค่ามากกว่า 4,800 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือเติบโต 26% ซึ่งยังมากกว่าสิงคโปร์ที่เติบโตเพียง 11% เท่านั้น เนื่องจากพฤติกรรมการซื้อของผู้บริโภคเปลี่ยนไปนิยมหันมาชอปปิ้งทางออนไลน์มากขึ้น เพราะสะดวกและสอดคล้องกับพฤติกรรมยุคใหม่นี้ที่คนไทยมากกว่า 26 ล้านคนที่ใช้อินเทอร์เน็ตผ่านทางมือถือ โดยที่มี 75% เป็นระบบ 3 จี และ 4 จี ขณะที่ผ่านทางคอมพิวเตอร์และแล็ปท็อปเพียง 17% เท่านั้นเอง คนเราใช้อินเทอร์เน็ตมากขึ้นกว่า 54% หรือประมาณ 5.5 ชั่วโมงต่อคนต่อวัน อีกทั้งตลาดไทยยังมีโอกาสในการพัฒนาธุรกิจนี้อีกมาก เพราะว่ามูลค่าตลาดออนไลน์ยังคิดเป็นสัดส่วนเพียง 0.6% เท่านั้นจากมูลค่าการซื้อขายทั้งหมด ยังต่ำกว่าอีกหลายประเทศ เช่น อเมริกาที่มีสัดส่วน 5.7% ยุโรป สัดส่วน 7.22% หรือแม้แต่เพื่อนบ้านอย่างมาเลเซียที่มีสัดส่วน 1.20% ฟิลิปปินส์สัดส่วน 0.30%

ขณะนี้ ซาโลร่า ประเทศไทย ถือเป็นตลาดที่มีศักยภาพในอนาคต แม้ว่าทุกวันนี้เป็นผู้นำในตลาดเมืองไทยแล้ว แต่ยังไม่เป็นผู้นำในเครือข่ายซาลร่าที่มี 8 ประเทศ โดยอันดับแรก คือ อินโดนีเซียเป็นตลาดใหญ่ที่สุด ในแง่ของมูลค่าการซื้อขาย รองลงมาคือ สิงค์โปร์ และมาเลเซียใกล้เคียงกัน รองลงมาคือฟิลิปปินส์ ส่วน ไทย เวียดนาม ฮ่องกง ไต้หวัน อยู่ระดับใกล้เคียงกัน จากรายได้รวมของซาโลร่าทั้งกรุ๊ปประมาณ 146 ล้านยูโร

ทั้งนี้ แผนตลาดของบริษัทฯ จะชู 4 กลยุทธ์หลัก คือ 1. ความสามารถในการเข้าถึงผู้บริโภค ซึ่ง 4 ปีที่ผ่านมาเราลงทุนระบบลอจิสติกส์ไปมาก มีการขยายช่องทาง ทำให้สัดส่วนลูกค้าต่างจังหวัดเพิ่มเป็น 60% แล้ว ส่วนกรุงเทพ 40% 2. การเชื่อมต่อทั้งออนไลน์และออฟไลน์ โดยมีการร่วมมือกับพันธมิตรรายย่อยๆ นำสินค้ามาจำหน่ายในเว๊บไซต์ซาโลร่า และมีการทำมาร์เกตเพลซเพื่อเป็นการสร้างแบรนด์ให้กับลูกค้าด้วย

3. รูปแบบหรือแพลตฟอร์ม ซึ่งจากข้อมูลวิจัยของมาสเตอร์การ์ดที่พบว่า ซื้อผ่านออนไลน์เพราสะดวกมากถึง 49% ซึ่งตอนนี้ลูกค้าสามารถเข้าถึงระบบเราได้ทั้ง ไอโอเอส และแอนดรอยด์ โดยปีที่แล้วมีคนโหลดแอปฯ เรามากกว่า 10 ล้านครั้ง และมีลูกค้ากว่า 80% ซื้อผ่านมือถือ เติบโต 250% มีเพียง 20% ซื้อผ่านทางแล็ปท็อปและคอมพิวเตอร์พีซี

4. การเพิ่มคู่ค้าและสินค้า ซึ่งจะมีทั้งสินค้าอินเตอร์แบรนด์ และสินค้าโลคัลแบรนด์ และสินค้าที่เราผลิตออกแบบเอง ซึ่งปัจจุบันบริษัทฯ มีสินค้ามากกว่า 6,000 แบรนด์และสินค้ามากกว่า 80,000 เอสเคยู ที่จำหน่ายในเว็บไซต์ของเรา

สำหรับพฤติกรรมการจับจ่ายของผู้บริโภคไทยที่ผ่านมาเฉลี่ยซื้อต่อคนต่อครั้งที่ 1,300-2,000 บาท ผู้ชายจะซื้อนานๆ ครั้งแต่ซื้อมูลค่ามาก ส่วนผู้หญิงจะซื้อบ่อยแต่มูลค่าซื้อต่อครั้งต่ำกว่าผู้ชาย โดยสินค้าที่ขายดีที่สุด คือ กลุ่มเสื้อผ้า เติบโต 2 เท่า และกลุ่มกีฬากับความงาม เติบโต 2 เท่าเช่นกัน
กำลังโหลดความคิดเห็น