กรมพัฒนาธุรกิจการค้าเดินหน้าปั้นธุรกิจลอจิสติกส์เข้าสู่มาตรฐาน ISO เผยล่าสุดมีผู้ประกอบการผ่านเกณฑ์แล้ว 236 ราย เตรียมเดินหน้าพัฒนาต่อ พร้อมจัดเชื่อมโยงเครือข่ายในลักษณะเพื่อนช่วยเพื่อน เพื่อสร้างความเข้มแข็งและรับมือการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น
น.ส.รัตนา เธียรวิศิษฎ์สกุล รองอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า กรมฯ มีแผนที่จะผลักดันธุรกิจให้บริการลอจิสติกส์ของไทยที่มีจำนวนนิติบุคคลในปัจจุบัน 20,965 ราย พัฒนาสู่มาตรฐานสากล ISO ให้ได้เพิ่มขึ้นจากเดิมที่มีธุรกิจผ่านการรับรองมาตรฐาน ISO แล้วจำนวน 236 ราย แยกเป็นขนส่งสินค้าและบริการที่เกี่ยวเนื่องกับการขนส่ง 151 ราย ตัวแทนออกของรับอนุญาต 35 ราย บริการรับจัดการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ 32 ราย คลังสินค้า 10 ราย และบริการลอจิสติกส์ครบวงจร 8 ราย
“กรมฯ จะทำการคัดเลือกธุรกิจให้บริการลอจิสติกส์เข้ามาฝึกอบรม โดยช่วยเพิ่มความรู้ พัฒนาขีดความสามารถในการบริหารจัดการ และพัฒนาต่อให้ได้ ISO เพื่อให้ธุรกิจมีความเข้มแข็ง แล้วจากนั้นจะช่วยผลักดันโอกาสทางการตลาดด้วยการสร้างเครือข่าย และผลักดันเข้าสู่สากล โดยเฉพาะการใช้ประโยชน์จากการที่ไทยเป็นศูนย์กลางของอาเซียน ทำการขยายธุรกิจเข้าสู่ตลาดอาเซียน โดยเฉพาะตลาด CLMV ที่ถือว่ามีโอกาสสูง”
น.ส.รัตนากล่าวว่า กรมฯ ยังจะช่วยสร้างโอกาสทางธุรกิจให้แก่ธุรกิจลอจิสติกส์ที่ผ่านการฝึกอบรมกับกรมฯ โดยจะทำการเชื่อมโยงเครือข่ายเพื่อให้มีการส่งต่องานกันในกลุ่มในลักษณะเพื่อนช่วยเพื่อน ซึ่งจะทำให้ธุรกิจมีความเข้มแข็งเพิ่มขึ้น และสามารถเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้นได้ ทั้งจากการเปิดเสรีและการเข้ามาของธุรกิจต่างชาติ
อย่างไรก็ตาม เพื่อให้เห็นการทำงานจริง กรมฯ จะนำผู้ประกอบการลอจิสติกส์และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกว่า 130 ราย 87 ธุรกิจ ศึกษาดูระบบบริหารจัดการที่ได้มาตรฐานระดับสากล ที่ บมจ. เจดับเบิ้ลยู อินโฟโลจิสติกส์ แหลมฉบัง จ.ชลบุรี เพื่อเสริมสร้างองค์ความรู้ด้านการบริหารจัดการธุรกิจให้บริการลอจิสติกส์แบบครบวงจร ตลอดจนการนำมาประยุกต์ใช้ให้ลงตัวกับกิจการของตนเอง ก่อนก้าวสู่มาตรฐาน ISO อย่างเต็มรูปแบบต่อไป
สำหรับธุรกิจให้บริการลอจิสติกส์ในไทย ปัจจุบันมีจำนวนนิติบุคคลทั้งสิ้น 20,965 ราย (ข้อมูล ณ วันที่ 31 ม.ค. 2559) ประกอบด้วย 1. การขนส่งทางบกและระบบท่อลำเลียง 14,857 ราย (คิดเป็นร้อยละ 71) 2. ตัวแทนผู้รับจัดการขนส่งสินค้า ตัวแทนออกของ 2,714 ราย (คิดเป็นร้อยละ 13) 3. การบริหารจัดการเกี่ยวกับสินค้า 1,032 ราย (คิดเป็นร้อยละ 5) 4. การขนถ่ายสินค้า 804 ราย (คิดเป็นร้อยละ 4) 5. คลังสินค้า 686 ราย (คิดเป็นร้อยละ 3) 6. การขนส่งทางน้ำ 615 ราย (คิดเป็นร้อยละ 3) 7. การขนส่งทางอากาศ 157 ราย (คิดเป็นร้อยละ 0.5) และ 8. อื่นๆ 100 ราย (คิดเป็นร้อยละ 0.5)