“พาณิชย์” ยืนเป้าส่งออกปี 59 โต 5% ไว้เป็นแรงฮึดในการทำงาน แม้เศรษฐกิจโลกจะชะลอตัว เล็งปรับแผนส่งออกใหม่ หวังเจาะให้เข้าเป้า ดันยอดเพิ่ม เล็งหารือเป็นรายกลุ่ม ทั้งยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ อัญมณี ด้านกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศเซ็นเอ็มโอยูหน่วยงานด้านฮาลาล แบงก์ ร่วมมือผลักดันส่งออก
นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ยังคงยืนยันเป้าหมายการทำงานที่จะผลักดันการส่งออกในปี 2559 ให้ขยายตัวเพิ่มขึ้น 5% โดยยังไม่มีการทบทวนเป้าหมาย เพราะถือเป็นตัวเลขในการทำงาน แม้ว่าขณะนี้ตัวเลขเศรษฐกิจโลกจะขยายตัวลดลงกว่าการคาดการณ์เดิมก็ตาม โดยกระทรวงฯ จะมีการทบทวนแผนการทำงานเพื่อผลักดันการส่งออกให้ได้เพิ่มขึ้น ทั้งการทำตลาดแบบเจาะจงเป็นรายสินค้าและรายตลาดซึ่งจะต้องทำงานเชิงลึกมากขึ้น
“การผลักดันให้ตัวเลขการส่งออกขยายตัวเป็นบวกมากๆ เหมือนในอดีตคงทำได้ยาก แต่สิ่งที่กระทรวงฯ จะเร่งทำ คือ การรักษาส่วนแบ่งตลาดส่งออกของสินค้าของไทยเอาไว้ให้ได้ เพราะที่ผ่านมา แม้การส่งออกของไทยจะติดลบ แต่ก็ติดลบน้อยกว่าประเทศอื่น และที่สำคัญ ไทยยังรักษาส่วนแบ่งตลาดเอาไว้ได้”
สำหรับสินค้าที่ไทยยังคงส่งออกได้ดีอยู่ คือ กลุ่มยานยนต์และส่วนประกอบ ซึ่งเร็วๆ นี้จะมีการหารือกับผู้ประกอบการในกลุ่มดังกล่าว เพื่อผลักดันยอดการส่งออกให้เพิ่มขึ้น รวมถึงกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ และอัญมณี ที่คาดว่าการส่งออกยังขยายตัวได้ ส่วนสินค้าเกษตรในแง่ปริมาณยังส่งออกได้ดี แต่มูลค่าไม่มาก เนื่องจากราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ซึ่งต้องมีการปรับแผนเพื่อผลักดันการส่งออก เพราะสินค้าเกษตรบางตัวยังส่งออกได้ดีอยู่ เช่น ไก่สดและแปรรูป ที่การส่งออกขยายตัวเพิ่มขึ้น จากการเปิดตลาดหลังจากที่ไทยแก้ไขสถานการณ์ไข้หวัดนกภายในประเทศจนต่างประเทศเชื่อมั่นต่อสินค้าไก่ของไทย
นอกจากนี้จะมุ่งเจาะตลาดใหม่ เช่น ตลาดอเมริกากลางที่มีโอกาสสูง โดยได้มอบหมายสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศประจำเม็กซิโก ศึกษาช่องทางในการทำการค้า และผลักดันการส่งออก ส่วนตลาดเดิม จะมีแผนในการเจาะตลาดไปยังหัวเมืองรองในประเทศที่ไทยส่งออกอยู่แล้ว เช่น จีน อินเดีย ซีแอลเอ็มวี ตลาดอเมริกาใต้ แอฟริกา และอีกหลายประเทศ
นางอภิรดีกล่าวว่า กระทรวงฯ ยังได้กำหนดยุทธศาสตร์สำหรับภาคการค้าระหว่างประเทศในระยะ 5 ปี โดยเน้นการยกระดับเศรษฐกิจการค้าของประเทศเพื่อเข้าสู่เศรษฐกิจที่สร้างสรรค์มูลค่าเพิ่ม การผลักดันการส่งออกภาคบริการ การเสริมสร้างขีดความสามารถผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) และการอำนวยความสะดวกทางการค้ารองรับเศรษฐกิจดิจิทัล
สำหรับในโอกาสครบรอบ 64 ปี กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (เอ็มโอยู) ใน 5 หัวเรื่องสำคัญ ได้แก่ 1. ความร่วมมือในการส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ สินค้าและธุรกิจบริการฮาลาลร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย สถาบันมาตรฐานฮาลาลแห่งประเทศไทย และศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
2. ความร่วมมือ โครงการ SMEs Genius Exporter กับ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม และธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) 3. ความร่วมมือการสนับสนุนผู้ประกอบการไทยในด้านการค้าระหว่างประเทศ กับธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) 4. ความร่วมมือเพื่อการผลักดันและพัฒนาผู้ประกอบการสู่การค้าระหว่างประเทศ กับธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) และ 5. ความร่วมมือว่าด้วยการสนับสนุนข้อมูลข่าวสาร แลกเปลี่ยนความรู้ และความคิดเห็นระหว่างหน่วยงานเพื่อให้เกิดความคล่องตัว รวมถึงสนับสนุนการจัดแสดงผลงานการออกแบบ และการประชาสัมพันธ์ผลงานของนักออกแบบไทย กับ บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด
“ความร่วมมือของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศที่ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในครั้งนี้ เชื่อว่าจะช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีให้สามารถแข่งขันได้ในตลาดต่างประเทศได้ และช่วยผลักดันให้การส่งออกขยายตัวได้ตามที่ตั้งไว้” นางอภิรดีกล่าว