xs
xsm
sm
md
lg

คค.หวั่นเลิกรถตู้วิ่งระหว่าง จว.ทันที ประชาชนเดือดร้อน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายออมสิน ชีวะพฤกษ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม
คมนาคมเผยยังไม่เห็นคำสั่ง คสช.สั่งยกเลิกรถตู้โดยสารสาธารณะระหว่างจังหวัดตามผลศึกษาทีดีอาร์ไอ “ออมสิน” เตรียมเรียกหน่วยงานเกี่ยวข้องหารือ ยันการพิจารณาต้องไม่ให้มีผลกระทบต่อประชาชน และผู้ประกอบการ ด้านกรมการขนส่งฯ เด้งรับนโยบาย ชี้เพื่อความปลอดภัย เผยกำลังศึกษาประเภทรถโดยสารประจำทางที่เหมาะสม สรุปผล ก.ย. 59

นายออมสิน ชีวะพฤกษ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงกรณีที่มีข่าวว่า คสช.จะสั่งยกเลิกรถตู้วิ่งระหว่างจังหวัดนั้น ขณะนี้กระทรวงคมนาคมยังไม่เห็นคำสั่งอย่างเป็นทางการว่าแนวนโยบายของ คสช.เป็นอย่างไร ซึ่งปัจจุบันการจัดระเบียบรถตู้ดำเนินการตามประกาศกรมการขนส่งทางบก โดยรถวิ่งระหว่างจังหวัด ระยะทางไม่เกิน 300 กม. กรณีนโยบายรัฐบาลและคำสั่ง คสช.นั้น กระทรวงคมนาคมจะนำมาพิจารณาพร้อมกับนำผลการศึกษาของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) มาศึกษาว่ามีเหตุผลอย่างไร โดยจะเรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาหารือ ทั้งนี้ในการพิจารณาต่างๆ จะวิเคราะห์ในทุกๆ แนวทางที่เหมาะสม เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนผู้ใช้บริการและผู้ประกอบการ และเห็นว่าหากจะให้หยุดวิ่งทันทีจะทำให้ประชาชนเดือดร้อนมาก

ด้านนายสนิท พรหมวงษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) กล่าวว่า เห็นด้วยที่ คสช.มีนโยบายจัดระเบียบรถตู้โดยสาร ซึ่งมอบหมายให้กองพลที่ 2 รักษาพระองค์ เป็นผู้ดำเนินการร่วมกับกรมการขนส่งทางบก โดยข้อเสนอให้ยกเลิกบริการรถตู้โดยสารวิ่งระหว่างจังหวัดนั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาความเหมาะสมว่าควรจะมีรถโดยสารประเภทใดมาวิ่งให้บริการทดแทนเพื่อให้การใช้รถโดยสารของประชาชนมีความปลอดภัยสูงสุด

อย่างไรก็ตาม ช่วงเปลี่ยนผ่านไปสู่รถประเภทใหม่อาจผ่อนผันให้รถตู้ดังกล่าววิ่งบริการต่อไปจนกว่าจะหมดอายุหลังไม่ต่อใบอนุญาตให้ เฉลี่ยส่วนใหญ่อยู่ที่ 10 ปี ทั้งนี้ เพื่อไม่ให้กระทบต่อผู้โดยสารมากจนเกินไป ซึ่งปัจจุบันจำนวนรถตู้โดยสารสาธารณะที่วิ่งให้บริการระหว่างจังหวัดมากกว่า 2,000 คัน

โดยขณะนี้กรมการขนส่งฯ ได้ว่าจ้างสถาบันการขนส่ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยทำการศึกษาถึงความปลอดภัยในการนำรถตู้โดยสารมาใช้เป็นรถโดยสารประจำทาง และความเหมาะสม โดยพิจารณาจากมาตรฐานความปลอดภัยเป็นสำคัญ ทั้งด้านความมั่นคงปลอดภัยของโครงสร้างรถ อุปกรณ์ต่างๆ ในรถ เช่น จุดยึดเก้าอี้ เข็มขัดนิรภัย รูปแบบการติดตั้งระบบเชื้อเพลิง รวมถึงศึกษาความปลอดภัยจากลักษณะการให้บริการ การบรรทุกผู้โดยสาร และการขับขี่ในปัจจุบันด้วย พร้อมกันนี้จะต้องศึกษาถึงความเหมาะสมของลักษณะรถและรูปแบบการให้บริการขนส่งสาธารณะ ซึ่งจะต้องมีมาตรฐานความปลอดภัยที่สูงกว่าและมีความเหมาะสมสำหรับให้บริการขนส่งสาธารณะมากกว่า และไม่ส่งผลกระทบต่อผู้ใช้บริการ คาดว่าผลการศึกษาจะเสร็จสมบูรณ์ภายในเดือนกันยายน 2559 นี้

ทั้งนี้ รถตู้โดยสารประจำทางในปัจจุบันได้กำหนดอายุการใช้งานของรถไม่เกิน 10 ปี โดยกำหนดให้ต้องนำรถเข้ารับการตรวจสภาพปีละ 2 ครั้ง เพื่อความปลอดภัยในการใช้งาน ส่วนรถตู้ตามนโยบายการจัดระเบียบของ คสช. และกรมการขนส่งทางบกเมื่อปี 2557 ซึ่งเปิดโอกาสให้นำรถตู้ส่วนบุคคลหรือรถตู้ป้ายดำจดทะเบียนเป็นรถตู้โดยสารสาธารณะที่ถูกต้องตามกฎหมาย จากผลการจัดระเบียบดังกล่าวทำให้มีจำนวนรถตู้โดยสารเข้าสู่ระบบเพิ่มขึ้นอีกจำนวน 2,149 คัน

อย่างไรก็ตาม รถตู้โดยสารสาธารณะทุกคันจะต้องปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด เช่น ต้องเดินรถในเส้นทางที่กำหนด เรียกเก็บค่าโดยสารตามอัตราที่กำหนด หรือห้ามบรรทุกผู้โดยสารเกินกำหนด หรือทำการดัดแปลงที่นั่งเพื่อให้สามารถรับผู้โดยสารได้มากกว่าที่กฎหมายกำหนด โดยเฉพาะพฤติกรรมการขับขี่ต้องมีความปลอดภัย ไม่ใช้ความเร็วเกินที่กฎหมายกำหนด เพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุของรถตู้โดยสาร โดยได้มีการนำเทคโนโลยี GPS เข้ามาติดตั้งในรถตู้โดยสาร ซึ่งภายในปี 2559 นี้รถตู้โดยสารทุกคันต้องมีระบบ GPS เพื่อการติดตามกำกับดูแลความปลอดภัยอย่างยั่งยืน
กำลังโหลดความคิดเห็น