xs
xsm
sm
md
lg

ล้อมคอกรถไฟฟ้าขัดข้อง “อาคม” ตั้งคณะทำงานผุดแผนเผชิญเหตุดูแลผู้โดยสาร

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“อาคม” เรียก “บีทีเอส-บีอีเอ็ม” ถกวางแผนล้อมคอก เหตุขัดข้องทำผู้โดยสารเดือดร้อน สั่งตั้งคณะทำงานร่วมในการบริหารความเสี่ยง กำหนดแผนเผชิญเหตุ การถ่ายผู้โดยสาร พร้อมกำชับเอกชนเน้นตรวจสภาพรางและทุกระบบเพื่อความมั่นใจบริการ

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 29 ก.พ. ได้ประชุมร่วมกับผู้บริหาร บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอส, บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีอีเอ็ม ซึ่งเป็นผู้ให้บริการระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนในกรุงเทพฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ถึงกรณีที่รถไฟฟ้าบีทีเอสมีปัญหาขัดข้องทางเทคนิคเมื่อวันที่ 24 ก.พ.ที่ผ่านมาจนต้องปรับตารางเวลาการเดินรถ ซึ่งขณะนี้ได้ซ่อมแซมระบบรางที่มีปัญหาเรียบร้อยแล้ว โดยการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้ประสานมายังกระทรวงคมนาคม พร้อมทั้งประสานไปยังบีอีเอ็มเพื่อถ่ายโอนผู้โดยสารของบีทีเอสเข้าไปใช้ระบบรถไฟฟ้าใต้ดิน ส่วนองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ได้จัดรถเมล์เสริมขนถ่ายผู้โดยสารที่แออัดสถานีที่ไม่สามารถขึ้นขบวนรถไฟฟ้าได้ เปลี่ยนมาเดินทาง ขสมก., แท็กซี่ และรถจักรยานยนต์รับจ้าง โดยกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ลงพื้นที่กำกับดูแลป้องกันไม่ให้เกิดการปฏิเสธผู้โดยสาร ไม่กดมิเตอร์หรือโกงราคา

ทั้งนี้ ที่ประชุมเห็นชอบในการจัดตั้งคณะทำงานร่วมกันเพื่อจัดทำแผนบริหารความเสี่ยงและเผชิญเหตฺในระบบขนส่งสาธารณะกรุงเทพมหานคร โดยมีนายดรุณ แสงฉาย รองปลัดกระทรวงคมนาคมด้านขนส่ง เป็นหัวหน้าคณะ และมีผู้แทนจากผู้ประกอบการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม เช่น บีอีเอ็ม บีทีเอส สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ขสมก. ขบ. เพื่อทำการยกร่างแผนในการบริหารความเสี่ยง คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 3 เดือน โดยจะมีรายละเอียดแผนซ่อมบำรุงที่สม่ำเสมอ, แผนการถ่ายโอนผู้โดยสารจากระบบหนึ่งไปยังอีกระบบหนึ่ง, แผนรองรับในการขนส่งโหมดอื่นที่เป็นระบบ, แผนประชาสัมพันธ์ให้ผู้โดยสารได้รับทราบข้อมูลทันทีเพื่อวางแผนในการตัดสินใจได้ทัน หลีกเลี่ยงจุดเกิดเหตุขัดข้อง โดยระหว่างนี้จะมีการลงนามในบันทึกความตกลงในการทำงานร่วมกันในการเผชิญเหตุต่างๆ ร่วมกันก่อน

“เหตุผลที่ต้องตั้งคณะทำงานชุดนี้ก่อน เพื่อดูแลการเดินทางของประชาชนในกรุงเทพฯ และปริมณฑลช่วงนี้ไปก่อน เพราะว่าเรายังไม่มีหน่วยงานกลางที่จะกำกับดูแลภาพรวมระบบขนส่งสาธารณะ มีแต่ ขบ.ที่ดูรถขนส่ง แต่ระบบรางยังไม่มี เพราะอยู่ระหว่างการจัดตั้งกรมการขนส่งทางราง และหน่วยงานกำกับดูแลระบบรางทุกระบบของประเทศ ซึ่งแต่ละวันที่ประชาชนเดินทางด้วยระบบรางหลายแสนคนมีปัญหาจะกระทบไปหมด ซึ่งผมได้ย้ำให้แต่ละบริษัทต้องมีมาตรการป้องกันปัญหาทางเทคนิค โดยเฉพาะการซ่อมบำรุงรักษาสภาพราง ระบบ ตัวรถไฟฟ้า อาณัติสัญญาณ ให้พร้อมใช้ตลอดเวลาไม่ให้เกิดปัญหา”

นายอาณัติ อาภาภิรม กรรมการบริษัทบีทีเอส กล่าวว่า การขัดข้องใหญ่ๆ นานครั้ง ในรอบ 17 ปีประมาณ 5 ครั้ง แต่รู้สึกถี่เพราะเมื่อเกิดเหตุจะเป็นข่าวใหญ่ ส่วนกรณีเล็กๆ จะมี KPI กำกับอยู่แล้ว ยืนยันการซ่อมบำรุงระบบเป็นเรื่องที่บริษัททำอย่างมาก และอยู่ในมาตรฐานโลก

นายสมบัติ กิจจาลักษณ์ กรรมการผู้จัดการ บีอีเอ็ม กล่าวว่า บริษัทฯ ทำงานตลอด 24 ชม. หลังปิดให้บริการจะเป็นเวลาซ่อมบำรุงทั้งหมด ไม่มีการหยุด จากอุปกรณ์รถไฟฟ้ามีเป็นจำนวนหลายหมื่นชิ้นที่ต้องเชื่อมกัน จะมีไดนามิกมาก ซึ่งการร่วมกันระหว่างผู้ประกอบการกับภาครัฐเป็นโครงข่ายจะทำให้เมื่อเกิดขัดข้องจะบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนลงได้ จึงอยากให้เข้าใจการทำงานของผู้ให้บริการระบบรถไฟฟ้า
กำลังโหลดความคิดเห็น