xs
xsm
sm
md
lg

บอร์ด BOI คลอดมาตรการส่งเสริมการลงทุนท้องถิ่นหนุนกลุ่มอุตฯ แห่งอนาคต

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


บอร์ดบีโอไอเห็นชอบมาตรการส่งเสริมการลงทุนท้องถิ่น (Local Investment) เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจระดับชุมชนในท้องถิ่น เดินหน้านโยบาย 1 ตำบล 1 โรงงานแปรรูปเกษตร 1 แหล่งท่องเที่ยว เปิดทางผู้สนใจยื่นขอใช้สิทธิประโยชน์ภายในปี 2559 พร้อมออกเพิ่ม 3 มาตรการส่งเสริมการลงทุน หนุน 3 คลัสเตอร์ลงทุนสร้างอุตสาหกรรมแห่งอนาคต ได้แก่ เมืองนวัตกรรมอาหาร คลัสเตอร์อากาศยาน และอุตสาหกรรมอุปกรณ์อัตโนมัติและหุ่นยนต์


นางหิรัญญา สุจินัย เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ว่า ที่ประชุมเห็นชอบมาตรการส่งเสริมการลงทุนท้องถิ่น (Local Investment) ตามข้อเสนอของบีโอไอ เพื่อสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจในระดับท้องถิ่น ทั้งในด้านการสร้างมูลค่าเพิ่มแก่ผลผลิตการเกษตรในท้องถิ่น และยกระดับแหล่งการท่องเที่ยวในท้องถิ่นให้มีคุณภาพ

ทั้งนี้ มาตรการส่งเสริมการลงทุนดังกล่าวเป็นการสนับสนุนให้เกิด “1 ตำบล 1 โรงงานแปรรูปเกษตร 1 แหล่งท่องเที่ยว” ตามนโยบายรัฐบาล ซึ่งแบ่งเป็น 3 แนวทาง คือ แนวทางที่ 1 การส่งเสริมให้เกิดโรงงานแปรรูปผลิตผลการเกษตร โดยเน้นกิจการที่จะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผลผลิตทางการเกษตรในท้องถิ่น ซึ่งทำได้ง่ายและใช้เงินลงทุนไม่สูง เช่น การผลิตปุ๋ยชีวภาพ ผลิตภัณฑ์จากยางธรรมชาติ อาหารแปรรูป และผลิตภัณฑ์จากพืชสมุนไพร ซึ่งแบ่งวิธีการลงทุนเป็น 2 กรณี

คือ 1) กรณีลงทุนโดยบริษัทขนาดใหญ่จะให้สิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 3 ปีกับกิจการที่ดำเนินการอยู่เดิมของบริษัทแม่ วงเงินไม่เกินมูลค่าเงินลงทุนของโครงการแปรรูปเกษตรที่ลงทุน 2) กรณีลงทุนโดยสหกรณ์ วิสาหกิจชุมชน หรือผู้ประกอบการทั่วไปที่ลงทุนตั้งโรงงานจะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 5 ปี รวมถึงการผ่อนปรนลดขนาดการลงทุนขั้นต่ำจาก 1 ล้านบาท เหลือ 1 แสนบาท และอนุญาตให้นำเครื่องจักรใช้แล้วในประเทศบางส่วนมาใช้ในโครงการได้

แนวทางที่ 2 การส่งเสริมกิจการศูนย์จำหน่ายผลิตภัณฑ์ชุมชน เพื่อสนับสนุนให้เกษตรกรและโรงงานแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรในท้องถิ่น รวมทั้งผู้ผลิตสินค้า OTOP และผลิตภัณฑ์ชุมชน มีช่องทางการจัดจำหน่ายสินค้าที่มีประสิทธิภาพและเป็นแหล่งสนับสนุนการท่องเที่ยว โดยได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 3 ปี

แนวทางที่ 3 การส่งเสริมกิจการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวชุมชน เพื่อสนับสนุนการสร้างจุดขายใหม่ๆ ด้านการท่องเที่ยว โดยยกระดับแหล่งท่องเที่ยวในท้องถิ่นให้มีคุณภาพ และมีสิ่งอำนวยความสะดวกที่ได้มาตรฐาน จะให้ได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 3-5 ปี

สำหรับกิจการที่สนใจลงทุนภายใต้มาตรการส่งเสริมการลงทุนท้องถิ่นจะต้องยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนภายในปี 2559 และเริ่มการผลิตหรือให้บริการภายในปี 2560

นอกจากนี้ ที่ประชุมได้พิจารณาเห็นชอบมาตรการส่งเสริมการลงทุนเมืองนวัตกรรมอาหารและคลัสเตอร์อากาศยาน อุปกรณ์อัตโนมัติและหุ่นยนต์ โดยในส่วนของมาตรการส่งเสริมการลงทุนเมืองนวัตกรรมอาหารจะเปิดให้มีการส่งเสริมกิจการนิคมหรือเขตอุตสาหกรรมด้านนวัตกรรมอาหาร (Food Innopolis) และให้ได้รับสิทธิประโยชน์ใน กลุ่ม A1 พร้อมกับกำหนดให้พื้นที่ Food Innopolis ในพื้นที่ของอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทยเป็นเขตวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อให้ได้รับสิทธิในฐานะเป็นเขตส่งเสริมการลงทุน

สิทธิประโยชน์สำหรับกิจการเป้าหมายที่ตั้งใน Food Innopolis มี 2 รูปแบบ คือ 1. สิทธิประโยชน์ตามหลักเกณฑ์ทั่วไป เช่น ได้รับลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลร้อยละ 50 เพิ่มเติมจากสิทธิพื้นฐานอีก 5 ปี ยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักร เป็นต้น

2. สิทธิประโยชน์ในรูปแบบคลัสเตอร์ภายใต้กลุ่ม Super Cluster อาทิ ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี โดยการกำหนดวงเงินภาษีที่ได้รับยกเว้นให้เป็นไปตามสิทธิพื้นฐานของประเภทกิจการนั้นๆ และลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลร้อยละ 50 เพิ่มเติมอีก 5 ปี

สำหรับกิจการเป้าหมาย อาทิ กิจการปรับปรุงพันธุ์พืช หรือสัตว์ (ที่ไม่เข้าข่ายกิจการเทคโนโลยีชีวภาพ) กิจการบริการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์เชิงสร้างสรรค์ กิจการวิจัยและพัฒนา กิจการเทคโนโลยีชีวภาพ กิจการบริการทดสอบทางวิทยาศาสตร์ เป็นต้น

นอกจากนี้ ที่ประชุมมีมติเห็นชอบมาตรการส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมอากาศยาน และอุตสาหกรรมอุปกรณ์อัตโนมัติและหุ่นยนต์ โดยมาตรการลงทุนอุตสาหกรรมอากาศยานครอบคลุมกิจการผลิตอากาศยาน ผลิตชิ้นส่วน/อุปกรณ์ อุตสาหกรรมสนับสนุน ทั้งเครื่องมือ เครื่องจักร เครื่องมือวัด/ทดสอบ และอุตสาหกรรมบริการ รวมถึงการพัฒนาซอฟต์แวร์ในอุตสาหกรรมอวกาศ อากาศยานเพื่อการขนส่ง อากาศยานไร้คนขับ เป็นต้น โดยกำหนดพื้นที่เป้าหมายของอุตสาหกรรมอากาศยานใน 14 จังหวัดที่เป็นที่ตั้งหรือสนามบิน ได้แก่ กรุงเทพฯ สมุทรปราการ นครปฐม ปทุมธานี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง เชียงราย พิษณุโลก นครสวรรค์ ลพบุรี นครราชสีมา สุราษฎร์ธานี และสงขลา

สำหรับการส่งเสริมลงทุนอุตสาหกรรมอุปกรณ์อัตโนมัติและหุ่นยนต์ สามารถตั้งกิจการได้ทุกพื้นที่ไม่มีการกำหนดพื้นที่เป้าหมาย และจะส่งเสริมตั้งแต่ผู้ผลิตชิ้นส่วน/อุปกรณ์ ผู้พัฒนาสมองกลซอฟต์แวร์ ผู้ผลิต Robots ผู้ผลิตระบบ Automation และการซ่อมบำรุง เป็นต้น

ทั้งนี้ กำหนดให้อุตสาหกรรมอากาศยาน อุตสาหกรรมอุปกรณ์อัตโนมัติและหุ่นยนต์ เป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายที่จะได้รับสิทธิประโยชน์เช่นเดียวกับ Super Cluster อาทิ ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี และลดหย่อนร้อยละ 50 เพิ่มเติมอีก 5 ปี ต้องมีความร่วมมือกับสถาบันการศึกษา สถาบันวิจัย หรือศูนย์ความเป็นเลิศ และต้องยื่นคำขอรับส่งเสริมการลงทุนภายในวันที่ 30 ธันวาคม 2559
กำลังโหลดความคิดเห็น