xs
xsm
sm
md
lg

รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนนัดถกแผนอนาคต 10 ปี พร้อมหารืออียูผลักดันฟื้นเจรจา FTA

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“อภิรดี” ถกรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ 2-3 มี.ค.นี้ ติดตามงานค้างหลังเปิด AEC วางแผนงานเร่งด่วนที่จะต้องทำรองรับอนาคตอาเซียน 10 ปีข้างหน้า เน้นส่งเสริมธุรกิจรายย่อย กลาง และเล็ก การอำนวยความสะดวกทางการค้า และความปลอดภัยด้านอาหาร พร้อมเร่งเจรจา RCEP ให้จบ นัดถกอียูรื้อฟื้นเจรจา FTA อาเซียน-อียู

นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ (AEM Retreat) ครั้งที่ 22 และการประชุมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ระหว่างวันที่ 2-3 มี.ค.2559 ที่เชียงใหม่ และถือเป็นการพบปะกันครั้งแรกของรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน หลังจากที่อาเซียนได้ประกาศจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) เมื่อปลายปี 2558 โดยจะมีการหารือถึงมาตรการที่จะต้องดำเนินการต่อหลังเปิด AEC และมาตรการสำคัญภายใต้แผนประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน 2025 ที่จะต้องเร่งดำเนินการ

ทั้งนี้ ประเด็นที่จะต้องดำเนินการต่อหลังเปิด AEC แล้ว เช่น มาตรการด้านการอำนวยความสะดวกด้านการขนส่ง ระบบการเชื่อมโยงข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ณ จุดเดียวของอาเซียน (ASW) ระบบการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเองของอาเซียน (ASEAN Self-Certification) การจัดทำความตกลงการค้าบริการฉบับใหม่ (ATISA) การสรุปผลการเจรจาความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) การดำเนินการระบบคลังข้อมูลการค้าอาเซียน (ATR) เป็นต้น

ส่วนการวางอนาคตอาเซียนตามแผนปี 2025 หรืออาเซียน 10 ปีข้างหน้า จะมีการหารือมาตรการเร่งด่วนที่จะต้องดำเนินการภายในปี 2559 เช่น การเสริมสร้างศักยภาพของ MSMEs หรือธุรกิจรายย่อย ขนาดเล็ก และขนาดกลาง รวมทั้งประเด็นที่ลาวในฐานะประธานอาเซียนปีนี้จะให้ความสำคัญ ได้แก่ การจัดทำกรอบการดำเนินการด้านการอำนวยความสะดวกทางการค้าของอาเซียน การจัดทำกรอบระเบียบของอาเซียนเรื่องความปลอดภัยของอาหาร

นางอภิรดี กล่าวว่า อาเซียนยังจะเร่งผลักดันการจัดทำความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ซึ่งเป็นความตกลงการค้าเสรีระหว่างอาเซียน กับ 6 ประเทศคู่เจรจา FTA ได้แก่ จีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น อินเดีย ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ให้สรุปผลการเจรจาภายในปี 2559 ตามที่ผู้นำอาเซียนประกาศไว้ เพื่อนำไปสู่การเป็นตลาดที่ใหญ่ขึ้นด้วยประชากรกว่า 3.4 พันล้านคน เพราะจะมีการเชื่อมโยงเครือข่ายการผลิต การค้า การลงทุน การปรับประสานกฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้าให้สอดคล้องกัน ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกทางการค้า และการลงทุนของภาคเอกชนได้มากกว่าความตกลงฯ ที่มีอยู่ในปัจจุบัน

ขณะเดียวกัน อาเซียนจะมีการหารือกับ H.E.Ms.Cecilia Malmström กรรมาธิการการค้าสหภาพยุโรป เพื่อเพิ่มความร่วมมือในด้านการค้าและการลงทุน รวมไปถึงการดำเนินการพิจารณาความเป็นไปได้เพื่อรื้อฟื้นการเจรจาความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-สหภาพยุโรปที่ได้หยุดชะงักมาแล้วหลายปี ทั้งนี้ ปัจจุบันสหภาพยุโรปสรุปความตกลง FTA กับสมาชิกอาเซียน ได้แก่ สิงคโปร์กับเวียดนาม และกำลังจะเริ่มเจรจากับฟิลิปปินส์

นอกจากนี้ อาเซียนจะมีการหารือในประเด็นที่ผู้นำอาเซียน และสหรัฐฯ ได้ตกลงกันในการประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐฯ สมัยพิเศษ เมื่อวันที่ 15-16 ก.พ.2559 ณ เมืองแรนโซมิราจ และการประชุม ASEAN-US TIFA JC ในระดับรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน-สหรัฐฯ ในระหว่างกิจกรรม AEM Roadshow to U.S. ครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 17-18 ก.พ.2559 ณ นครซานฟรานซิสโก และ Silicon Valley โดยเฉพาะแนวทางการเชื่อมโยงทั้ง 2 ฝ่ายใน 4 เรื่อง ได้แก่ ธุรกิจ พลังงาน นวัตกรรม และนโยบาย ผ่านข้อริเริ่ม ASEAN-US Connect และการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการทางการค้า (ASEAN-US Trade Workshop) ของสหรัฐฯ เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจของอาเซียนต่อความตกลงการค้าเสรีมาตรฐานสูง เช่น TPP รวมทั้งหารือการดำเนินการตามแผนงานความร่วมมือด้านการค้า และการลงทุนที่มีอยู่ในปัจจุบันระหว่างอาเซียน-สหรัฐฯ
กำลังโหลดความคิดเห็น