xs
xsm
sm
md
lg

“ชุติมา” สั่งเตรียมพร้อมรับมือภัยแล้ง ตามติดผัก-ผลไม้ก่อนเกิดผลกระทบ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“ชุติมา” สั่งการพาณิชย์จังหวัดทั่วประเทศรับมือภัยแล้ง ลงพื้นที่ตรวจสอบการเพาะปลูกพืชเกษตร จับตาตัวไหนขาดแคลน ตัวไหนผลผลิตมาก ก่อนทำแผนรับมือ ป้องกันเกษตรกรและผู้บริโภคเดือดร้อน พร้อมจับมือกระทรวงเกษตรฯ ทำแผนรับมือผลไม้ที่กำลังออกสู่ตลาด มั่นใจปีนี้ไร้ปัญหาด้านราคาตกต่ำ

น.ส.ชุติมา บุณยประภัศร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้พาณิชย์จังหวัดทั่วประเทศลงพื้นที่สำรวจผลกระทบจากภัยแล้งที่อาจจะเกิดขึ้นต่อการเพาะปลูกพืชและสินค้าทางการเกษตร ทั้งผักและผลไม้ โดยให้ไปตรวจสอบดูว่ารายการใดจะมีปัญหาด้านผลผลิตขาดแคลน หรือรายการใดจะมีปัญหาผลผลิตส่วนเกิน เพื่อเตรียมความพร้อมในการเข้าไปดูแล และป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาราคาตกต่ำ หรือผลผลิตขาดแคลน จนกระทบทั้งกับเกษตรกรและผู้บริโภค

ทั้งนี้ กระทรวงฯ ได้ร่วมมือกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในการเข้าไปจัดระบบการเพาะปลูกพืชเกษตร หลังจากพบว่าปีนี้มีแนวโน้มเกิดภัยแล้งในบางพื้นที่ โดยสนับสนุนให้เพาะปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อย เช่น ถั่วเหลือง ถั่วเขียว และพืชเกษตรชนิดอื่นๆ เพื่อทดแทนการปลูกข้าว ซึ่งขณะนี้หลายๆ พื้นที่มีผลผลิตออกมาแล้วก็ต้องเข้าไปช่วยเหลือในการหาสถานที่จำหน่ายให้ ทั้งการเชื่อมโยงตลาด หรือนำโรงงานจากพื้นที่อื่นเข้าไปรับซื้อผลผลิต

“ขอให้พาณิชย์จังหวัดไปสำรวจดูทุกพื้นที่ว่าเกษตรกรปลูกพืชอะไร ผลผลิตเป็นยังไง มีตลาดรองรับหรือไม่ ตัวไหนมีแนวโน้มขาดแคลน แล้วจะมีปัญหาด้านราคาสูงขึ้นก็ต้องรีบแจ้งเพื่อที่จะเตรียมรับมือ และนำสินค้าจากแหล่งอื่นเข้าไปทดแทน หรือตัวไหนมีแนวโน้มจะมีปัญหาผลผลิตมีมากกว่าปกติ ก็ต้องเตรียมการหาตลาดให้ หรือระบายผลผลิตไปยังที่อื่น ซึ่งได้สั่งการทางไลน์ไปแล้ว เป็นการใช้เทคโนโลยีให้เป็นประโยชน์ ส่วนหนังสือเป็นทางการจะส่งตามไปให้ทีหลัง” น.ส.ชุติมากล่าว

น.ส.ชุติมากล่าวว่า การรับมือผลไม้ที่กำลังจะออกสู่ตลาด กระทรวงฯ ได้ร่วมมือกับกระทรวงเกษตรฯ ในการตั้งผู้ประสานงานให้ร่วมกันทำงานและทำแผนในการรับมือกับผลผลิตที่จะออกมา และช่วยดูแลด้านการตลาด ซึ่งในส่วนของกระทรวงฯ ได้มอบหมายให้นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ ที่ปรึกษาการพาณิชย์เป็นผู้ดูแลผลไม้สำคัญ เช่น ทุเรียน มังคุด ลำไย และเงาะ เป็นต้น โดยกระทรวงเกษตรฯ จะเรียกประชุมเพื่อประเมินแนวโน้มผลผลิต และแนวทางในการรับมือกับผลผลิตที่จะออกมาในวันที่ 24 ก.พ. 2559 นี้

โดยผลไม้จะทยอยออกสู่ตลาดเริ่มจากภาคตะวันออก เริ่มจากมังคุด เงาะ ทุเรียน ลองกอง ส่วนภาคใต้และภาคเหนือ ผลไม้จะเริ่มออกสู่ตลาดตั้งแต่ช่วงเดือน มิ.ย.-ส.ค. ทั้งเงาะ ทุเรียน มังคุด ลำไย

สำหรับแนวทางการรับมือด้านการตลาด กระทรวงฯ จะเข้าไปช่วยกระจายผลผลิตออกจากแหล่งผลิตไปยังตลาดปลายทาง เช่น ตลาดกลาง ห้างค้าปลีกค้าส่ง ตลาดชุมชน ศูนย์จำหน่ายสินค้าเกษตรชุมชน (Farm Outlet) และตลาดที่ติดกับชายแดน เป็นต้น รวมทั้งจะส่งเสริมการบริโภคผลไม้ โดยจัดงานเทศกาลผลไม้ทั้งในห้างและแหล่งท่องเที่ยว และส่งเสริมให้มีการแปรรูปเพิ่มมากขึ้น ขณะเดียวกันจะเร่งผลักดันการส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศ โดยจัดคณะผู้แทนให้เข้ามาซื้อผลไม้ไทย หรือการไปจัดงานแสดงสินค้าผลไม้ไทย และจัดกิจกรรมส่งเสริมการจำหน่ายผลไม้ไทย เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม คาดว่าปีนี้ผลไม้ไทยจะไม่มีปัญหาด้านราคาตกต่ำ เพราะผลผลิตได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ทำให้ผลผลิตลดลงมาก และมีแนวโน้มที่ราคาจะปรับตัวสูงขึ้นซึ่งเป็นผลดีต่อเกษตรกรผู้เพาะปลูก
กำลังโหลดความคิดเห็น