“บีโอไอ” มั่นใจนโยบายส่งเสริมคลัสเตอร์จะดึงดูดให้บริษัทชั้นนำในกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ เข้ามาลงทุนในไทยมากขึ้น เน้นดึงดูดผู้ผลิตชิ้นส่วนสำคัญและสร้างมูลค่าเพิ่มแก่ประเทศ พร้อมเชื่อมั่นบริษัทชั้นนำของโลกมีแผนลงทุนในไทย และเป็นโครงการที่สร้างนวัตกรรมใหม่
น.ส.อัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยถึงแนวโน้มการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้าในปี 2559 ว่า บริษัทชั้นนำของโลกหลายรายมีแผนจะเข้ามาลงทุนในประเทศไทย ทั้งการขยายการลงทุนของบริษัทที่มีฐานการผลิตในไทยแล้ว และโครงการลงทุนของนักลงทุนรายใหม่ โดยเป็นผลมาจากนโยบายส่งเสริมการลงทุนใหม่และนโยบายส่งเสริมคลัสเตอร์ที่มุ่งเน้นสนับสนุนให้เกิดการลงทุนอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงสร้างนวัตกรรม และเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมแห่งอนาคต
สำหรับในปี 2558 ที่ผ่านมา บีโอไอได้อนุมัติส่งเสริมการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า จำนวน 319 โครงการ รวมมูลค่าเงินลงทุน 116,885 ล้านบาท โดยเป็นกิจการที่สอดคล้องกับนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัลของรัฐบาล ได้แก่ กิจการซอฟต์แวร์ 173 โครงการ เงินลงทุนรวม 1,367 ล้านบาท กิจการผลิตอุปกรณ์รับส่งสัญญาณโทรคมนาคม (Telecom) 8 โครงการ ลงทุน 17,017 ล้านบาท และกิจการ Cloud Service 2 โครงการ ลงทุน 520 ล้านบาท เป็นต้น
นอกจากนี้ยังมีโครงการลงทุนขนาดใหญ่ที่ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งเป็นชิ้นส่วนสำคัญสำหรับการผลิตสมาร์ทโฟน โดยบริษัทที่ได้รับส่งเสริมการลงทุนในกลุ่มกิจการนี้ ได้แก่ บริษัท เอ็นเอ็มบี-มินิแบ ไทย จำกัด ผลิต Lighting Device, Lighting Device Parts ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้ประกอบจอแอลซีดีสำหรับจอภาพโทรศัพท์สมาร์ทโฟน เงินลงทุน 3,960 ล้านบาท
บริษัท ฟูจิคูระ อิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย) จำกัด บริษัทผู้ผลิตอิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่ของญี่ปุ่น ได้รับการส่งเสริมในกิจการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ Flexible Printed Circuit Board Assembly (FPCA) หรือแผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์ชนิดอ่อนเพื่อใช้สำหรับอุปกรณ์สื่อสาร เช่น แผ่นวงจรสำหรับควบคุมการสั่น (Vibration) การแสดงผลหน้าจอหรือการเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ภายนอก สำหรับ แท็บเล็ต สมาร์ทโฟน สมาร์ทวอตช์ เป็นต้น เงินลงทุน 2,972 ล้านบาท
รวมถึงบริษัท โซนี่ เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด ได้รับส่งเสริมกิจการผลิตโทรศัพท์มือถือ สมาร์ทโฟน เงินลงทุน 2,200 ล้านบาท ซึ่งเป็นการย้ายฐานการผลิตมายังต่างประเทศครั้งแรกของโซนี่ นอกจากนี้ยังมีโครงการผลิตเครื่องปรับอากาศของบริษัท มิตซูบิชิ อิเล็กทริค คอนซูมเมอร์โพรดักส์ (ประเทศไทย) จำกัด เงินลงทุน 10,700 ล้านบาท
ทั้งนี้ สำนักงานฯ ยังมุ่งเน้นส่งเสริมให้ผู้ประกอบการลงทุนเพิ่มด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์ จากเดิมที่เป็นเพียงผู้รับจ้างผลิตสินค้า ซึ่งในปีที่ผ่านมามีบริษัทของคนไทยที่บีโอไอให้การส่งเสริมการลงทุน ด้านการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ ได้แก่ บริษัท ซิลิคอน คราฟ เทคโนโลยี จำกัด ซึ่งแม้จะเป็นบริษัทขนาดเล็ก เงินลงทุน 20 ล้านบาท แต่เป็นบริษัทที่คิดค้นนวัตกรรมเอง คือการออกแบบชิปค้นหาตำแหน่งที่ฝังในตัวสัตว์เพื่อนับจำนวนและตรวจติดตามการเจริญเติบโตซึ่งลูกค้าอยู่ในประเทศยุโรป