xs
xsm
sm
md
lg

ปตท.ลั่นปีนี้รุกตลาดก๊าซหุงต้มลาว-เขมร

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ปตท.หวนคืนตลาดแอลพีจีประเทศเพื่อนบ้าน เล็งเจาะตลาดลาวและเขมรในปลายปีนี้ โดยจะตั้งโรงบรรจุก๊าซฯ และจัดหาถังแก๊ส ส่วนเวียดนามรอศึกษาข้อกฎหมายก่อน โดยการรุกตลาดแอลพีจีเพื่อนบ้านครั้งนี้เพื่อหวังใช้ท่าเรือและคลังแอลพีจีใหม่ที่จะเสร็จ เม.ย.นี้ให้เต็มที่

นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ หน่วยธุรกิจน้ำมัน
บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า บริษัทฯ มีแผนรุกธุรกิจค้าปลีกก๊าซหุงต้ม (LPG) ในครัวเรือนภายใต้แบรนด์ PTT ในประเทศเพื่อนบ้านทั้งลาวและกัมพูชา
โดยจะลงทุนสร้างโรงบรรจุก๊าซฯ ในประเทศดังกล่าว รวมทั้งจัดหาถังแก๊ส คาดว่าจะเริ่มได้ในปลายปีนี้

ส่วนการทำตลาดแอลพีจีในเวียดนามนั้นคงต้องศึกษาข้อกฎหมายว่าเปิดให้ต่างชาติเข้าไปลงทุนได้โดยตรงหรือไม่ หลังจากก่อนหน้านี้ทาง ปตท.เคยร่วมทุนกับปิโตรเวียดนามทำตลาดก๊าซหุงต้มในครัวเรือนในนามบริษัทเวียดนามแอลพีจี แต่สุดท้ายได้ขายหุ้นทั้งหมดให้กับพันธมิตรเวียดนามไป ส่วนตลาดพม่ายังไม่เปิดให้ต่างชาติเข้าไปลงทุน หากจะทำคงอยู่ในรูปดีลเลอร์และวางระบบมาตรฐาน

นายอรรถพลกล่าวต่อไปว่า การรุกตลาดแอลพีจีในประเทศเพื่อนบ้านครั้งนี้เนื่องจาก ปตท.ได้สร้างคลังแอลพีจีและท่าเรือรองรับการนำเข้าแอลพีจีเพิ่มขึ้นเป็น 2.5 แสนตันจากเดิม 1.3 แสนตัน/เดือน คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือน เม.ย.นี้ ขณะที่การนำเข้าแอลพีจีอยู่ที่ 7 หมื่นตัน/เดือน ทำให้มีความสามารถรองรับแอลพีจีเหลืออยู่มากจึงมองช่องทางการนำเข้าแล้วส่งออกไปยังประเทศเพื่อนบ้านเพื่อให้มีการใช้คลังและท่าเรืออย่างคุ้มค่า แต่ทั้งนี้คงต้องหารือกับหน่วยงานรัฐก่อนเพื่อแก้กฎระเบียบห้ามส่งออกแอลพีจีในอนาคต เนื่องจากปัจจุบันรัฐบาลมีนโยบายได้เปิดเสรีนำเข้าแอลพีจีจากเดิมที่มีเพียง ปตท.รายเดียว

“เดิมการสร้างคลังและท่าเรือแอลพีจีใหม่นี้เพื่อรองรับความต้องการใช้แอลพีจีที่โตขึ้นปีละ 10% ซึ่งช่วงเวลานั้นราคาน้ำมันตลาดโลกสูงทำให้ผู้ใช้รถหันมาติดตั้งเครื่องยนต์แบบใช้ก๊าซแอลพีจีที่มีราคาถูกกว่ามากเพราะรัฐควบคุมราคาไว้ แต่เมื่อนโยบายรัฐเปลี่ยนให้ราคาแอลพีจีสะท้อนต้นทุนจริงส่งผลให้การใช้แอลพีจีสำหรับรถยนต์โตติดลบลงแต่แอลพีจีครัวเรือนยังโตอยู่ 3-4% ทำให้คลังแอลพีจีใหม่นี้มีกำลังการจุแอลพีจีนำเข้าได้อีกมาก จึงน่าจะเป็นโอกาสที่จะนำเข้าเพื่อส่งออกไปยังตลาดประเทศเพื่อนบ้านได้”

ประเทศไทยความต้องการใช้แอลพีจีไม่รวมปิโตรเคมีอยู่ที่ 3 แสนตัน/เดือน โดย ปตท.มีส่วนแบ่งการตลาด 38% เมื่อรัฐมีโรดแมปที่จะเปิดเสรีให้มีผู้ค้าหลายรายมากขึ้น เชื่อว่า ปตท.ไม่ส่งผลกระทบแต่อย่างใดแม้ว่าจะมีคู่แข่งเพิ่มมากขึ้นเพราะ ปตท.จะยังรักษาฐานลูกค้าเดิมไว้โดยให้บริการที่ดี ดูแลบริหารหลังการขายทำให้มั่นใจว่าผู้บริโภคยังอยู่กับ ปตท.ต่อไป ปัจจุบัน ปตท.มีร้านค้าก๊าซหุงต้มอยู่ 1.2 พันแห่งทั่วประเทศ โรงบรรจุก๊าซฯ 173 แห่ง และสถานีบริการแอลพีจีสำหรับรถยนต์ 275 แห่ง

ในปี 2558 ความต้องการใช้แอลพีจีสำหรับยานยนต์เติบโตลดลง 10%
เนื่องจากราคาน้ำมันปรับตัวลงมากทำให้ลูกค้าหันไปเติมน้ำมันมากกว่าก๊าซแอลพีจี และจำนวนรถที่ติดตั้งถังก๊าซแอลพีจีใหม่ก็น้อยมาก ทำให้ปีนี้คาดว่าตลาดแอลพีจีสำหรับยานยนต์คงไม่โตขึ้น ดังนั้นปีนี้ ปตท.จะลงทุนสร้างปั๊มแอลพีจีเพิ่มขึ้นไม่มาก เพราะตลาดไม่โต

จากนโยบายคณะกรรมการนโยบายพลังงาน (กบง.) ได้ปรับลดราคาขายปลีกแอลพีจีลง 2 บาท/กก. และยกเลิกการชดเชยต้นทุนค่าขนส่งก๊าซแอลพีจีไปยังคลังต่างภูมิภาคของ ปตท.ตามโรดแมปก๊าซแอลพีจีระยะที่ 1 ว่า ปตท.ยินดีสนับสนุนนโยบายภาครัฐ โดยราคาขายแอลพีจีหน้าคลังเป็นระดับที่รัฐกำหนด โดยจำหน่ายก๊าซฯ ให้ผู้ค้า ม.7 ตามปกติ ซึ่งคลังและท่าเรือก็พร้อมที่จะเปิดให้เอกชนรายอื่นเข้ามาใช้บริการได้ แต่ต้องมีการวางกฎระเบียบเพื่อความปลอดภัย และค่าบริการ โดยจะมีการหารือกับหน่วยงานรัฐอีกครั้ง

นายอรรถพลกล่าวถึงแผนการสร้างปั๊มขนาดเล็ก “คอมแพกต์โมเดล” (Compact
Model) ในชุมชนขนาดเล็กหรือถนนสายรอง โดยในปั๊มจะมีร้านสะดวกซื้อ 7-Elevenและ Cafe Amazon มีเป้าจะเปิดปั๊มดังกล่าวได้ 50 แห่งทั่วประเทศในปีนี้ ใช้เงินลงทุน 12 ล้านบาท/ปั๊ม และอีก 3 ปีข้างหน้าจะเพิ่มขึ้นเป็น 200 ปั๊มหากได้รับการต้อนรับที่ดี
กำลังโหลดความคิดเห็น