xs
xsm
sm
md
lg

ไทยถกรัฐมนตรี WTO จี้เปิดตลาดเกษตร อุตฯ บริการ พร้อมหนุนหารือประเด็นใหม่ๆ ตามกระแสโลก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ไทยร่วมประชุมรัฐมนตรี WTO ผลักดันการเปิดตลาดสินค้าเกษตร อุตสาหกรรม บริการ และการวางกฎเกณฑ์การค้า พร้อมหนุนหารือประเด็นใหม่ ทั้งพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ การลงทุน การแข่งขันทางการค้า หลังมีการเจรจากันมากขึ้น ยันไทยพร้อมเข้าร่วมวง แต่ต้องให้แต้มต่อชาติกำลังพัฒนา

นายวินิจฉัย แจ่มแจ้ง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้เข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีองค์การการค้าโลก (WTO) อย่างไม่เป็นทางการ เมื่อวันที่ 23 ม.ค. 2559 ณ เมืองดาวอส สมาพันธรัฐสวิส กับรัฐมนตรีการค้าของสมาชิก WTO ที่มีบทบาทสำคัญอีก 21 ประเทศ เช่น สหรัฐฯ แคนาดา เม็กซิโก บราซิล ออสเตรเลีย สหภาพยุโรป นอร์เวย์ เคนยา แอฟริกาใต้ จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ซึ่งไทยได้เน้นย้ำความสำคัญของการเจรจาระดับพหุภาคีภายใต้เวที WTO โดยมุ่งเน้นการเจรจารอบโดฮาที่มีมายาวนาน ให้มีผลสำเร็จเป็นรูปธรรม

ทั้งนี้ ประเด็นการเจรจาสำคัญที่ต้องการผลักดันให้มีผลสำเร็จ เช่น การเปิดตลาดสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรม การบริการ และการเจรจากฎเกณฑ์การค้า เป็นต้น

ขณะเดียวกัน เห็นว่า WTO ควรจัดให้มีการหารือประเด็นใหม่ๆ เช่น การพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ การลงทุน และนโยบายการแข่งขันทางการค้า เพื่อจัดทำกฎเกณฑ์การค้าโลกในเรื่องดังกล่าว เพราะปัจจุบันมีการเจรจาจัดทำกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับประเด็นใหม่เหล่านั้นภายใต้ความตกลงการค้าเสรีต่างๆ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อประเทศที่ไม่ได้เข้าร่วมเจรจา และไม่ก่อให้เกิดความยั่งยืนในยุคที่โลกต้องพึ่งพาซึ่งกันและกันยิ่งขึ้น การหยิบยกประเด็นใหม่ขึ้นหารือจะเป็นการดำเนินงานเพื่อรองรับระดับการพัฒนาที่แตกต่างกันของสมาชิกอย่างแท้จริง

“ไทยพร้อมที่จะพิจารณาข้อเสนอต่างๆ ในประเด็นที่ยังคงเจรจาค้างอยู่ภายใต้การเจรจารอบโดฮา รวมทั้งยินดีที่จะเจรจาในประเด็นใหม่ๆ โดยไทยยังคงให้ความสำคัญต่อการปฏิบัติที่พิเศษและแตกต่างแก่ประเทศกำลังพัฒนา” นายวินิจฉัยกล่าว

นายวินิจฉัยกล่าวว่า ที่ประชุมยังเห็นพ้องให้สมาชิกเร่งปฏิบัติตามข้อมติการประชุมรัฐมนตรี WTO เมื่อปี 2556 และ 2558 อาทิ การให้สัตยาบันความตกลงว่าด้วยการอำนวยความสะดวกทางการค้า (Agreement on Trade Facilitation : TFA) และการยกเลิกการอุดหนุนส่งออก (Export Subsidies)
นอกจากนี้ ยังมีความเห็นว่า WTO ควรมองไปข้างหน้า สมาชิกควรแสดงความยืดหยุ่นและเปิดรับการหารือในประเด็นคงค้างและประเด็นใหม่ รวมทั้งแนวทาง รูปแบบการเจรจาใหม่ๆ ก่อนที่เวที WTO จะถูกลดระดับความสำคัญลง เนื่องจากไม่สามารถรองรับแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงทางการค้าของโลกได้ทันท่วงที

ส่วนการสร้างการมีส่วนร่วมของภาคธุรกิจ ทั้งบริษัทข้ามชาติและวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และภาคประชาสังคมภายใต้ WTO จะช่วยสนับสนุนแนวทางการหารือของ WTO ได้

สำหรับการประชุมรัฐมนตรีองค์การการค้าโลกสมัยสามัญ (Ministerial Conference : MC) ครั้งที่ 11 (MC11) กำหนดไว้ในปี 2560 จะเป็นการกระตุ้นให้สมาชิก WTO เร่งหารือวาระ แผนการดำเนินงานในรายละเอียดอย่างเข้มข้นต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น