xs
xsm
sm
md
lg

หอการค้าออสเตรเลีย-ไทย เผยผลสำรวจทางธุรกิจพบว่ามีทัศนคติในแง่บวกต่อการลงทุนธุรกิจในไทย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

 เบรนตัน มอรีเอลโล ประธานหอการค้าหอการค้าออสเตรเลีย-ไทย
ผลสำรวจจากหอการค้าออสเตรเลีย-ไทย (AustCham) เผยให้เห็นว่าสมาชิกหอการค้าฯ ออสเตรเลีย-ไทย มากกว่า 2 ใน 3 มีแผนเพิ่มการลงทุนในภูมิภาคเอเชีย โดยประเทศไทยได้รับการจัดอันดับสูงสุดของประเทศที่น่าลงทุน นำหน้าอินเดีย ออสเตรเลีย เวียดนาม และอินโดนีเซีย

จากข้อมูลการสำรวจซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งแรกโดยหอการค้าออสเตรเลีย-ไทย พบว่า 67 เปอร์เซ็นต์ของผู้ตอบแบบสอบถาม มีแผนจะเพิ่มการลงทุนในไทยภายใน 2 ปีข้างหน้า ในขณะที่ 74 เปอร์เซ็นต์คาดว่าจะเพิ่มการลงทุนภายใน 5 ปี นอกจากนี้ ไทยยังได้รับการจัดอันดับให้เป็นประเทศที่มีโอกาสเติบโตสูงสุดในภูมิภาค โดยคิดเป็น 61 เปอร์เซ็นต์ ตามด้วยอินเดีย และออสเตรเลีย ซึ่งได้คะแนน 55 และ 48 เปอร์เซ็นต์ตามลำดับ

ทั้งนี้ ผลสำรวจจากหอการค้าออสเตรเลีย-ไทย เกิดจากการรวบรวมความคิดเห็นของสมาชิก 1 ใน 3 จากจำนวนทั้งหมด 299 คน เกี่ยวกับมุมมองที่มีต่อปัจจัยและลักษณะสำคัญของการทำธุรกิจในประเทศไทย โดยผลสำรวจเผยให้เห็นว่าทั้งสองประเทศมีความสัมพันธ์ที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง เป็นผลมาจากข้อตกลงทางการค้าแบบทวิภาคีของไทยและออสเตรเลียที่เพิ่มขึ้นมากกว่า 2 เท่าตลอดสิบปีที่ผ่านมา จาก 9,600ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 345,600 ล้านบาท) ในปี 2548เพิ่มเป็น 19,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 687,600 ล้านบาท) ในปี 2557* โดยสินค้าหลักที่ส่งออกจากออสเตรเลียมายังไทย ได้แก่ น้ำมันดิบ น้ำมัน และผลิตภัณฑ์ข้าวสาลี ในขณะที่สินค้าส่งออกของไทยไปยังออสเตรเลีย ได้แก่ ยานพาหนะ เหล็ก และผลิตภัณฑ์ยาง

ผลสำรวจทางธุรกิจดังกล่าว ตอกย้ำความสำเร็จในการสานความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศ โดย 42 เปอร์เซ็นต์ของผู้ตอบแบบสำรวจรายงานว่าผลกำไรของบริษัทเพิ่มขึ้นในปี 2558 เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อนหน้า

มร.เบรนตัน มอรีเอลโล ประธานหอการค้าออสเตรเลีย-ไทย กล่าวว่า “โดยรวมแล้วสมาชิกหอการค้าฯ ค่อนข้างมีทัศนคติที่ดีต่อการทำธุรกิจในประเทศไทยทั้งในระยะสั้นและระยะกลาง ผลสำรวจพบว่าหลายบริษัทมีผลประกอบการที่ดีขึ้นในปีที่ผ่านมา แม้ว่าสถานการณ์ทางการเมืองจะยังไม่นิ่งก็ตาม”

“แม้ว่าการสำรวจครั้งนี้จะทำขึ้นในช่วงที่มีเหตุการณ์วางระเบิดในกรุงเทพฯ แต่ 2 ใน 3 ของความคิดเห็นจากสมาชิกหอการค้าฯ กลับมีแผนที่จะเพิ่มการลงทุน ซึ่งถือเป็นการตอกย้ำความสัมพันธ์ที่พัฒนามาอย่างต่อเนื่องในการดำเนินธุรกิจระหว่างออสเตรเลียและไทย นับตั้งแต่ความสัมพันธ์ทางการทูตที่เริ่มต้นขึ้นเมื่อประมาณ 60 ปีที่ผ่านมา”

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่สมาชิกหอการค้าฯ ที่ตอบแบบสอบถามมองว่ายังเป็นปัจจัยลบ คือสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศที่ยังไม่นิ่ง โดย 55 เปอร์เซ็นต์ ของผู้ตอบแบบสอบถามระบุว่าเป็นปัจจัยที่กังวลมากที่สุด ในขณะที่ 70 เปอร์เซ็นต์จัดอันดับให้การขอใบอนุญาตทำงานและขั้นตอนการทำวีซ่า เป็นปัจจัยสำคัญระดับปานกลางถึงมากที่สุด เพราะมีขั้นตอนที่ใช้เวลานาน และส่งผลกระทบต่อการเติบโตของธุรกิจขนาดกลางถึงขนาดเล็ก

มร.มอรีเอลโลกล่าวว่า “การขอวีซ่าและใบอนุญาตทำงานเป็นประเด็นสำคัญที่ทางคณะกรรมการหอการค้าฯ สนับสนุนให้มีการเปลี่ยนแปลง การปรับปรุงขั้นตอนต่างๆ ให้สะดวกมากขึ้นจะช่วยให้การดำเนินการมีประสิทธิภาพ และส่งเสริมนักลงทุนรายใหม่ รวมทั้งธุรกิจที่ดำเนินการอยู่เดิม และเหนือสิ่งอื่นใดคือช่วยผลักดันให้เศรษฐกิจเติบโตมากขึ้น”

มร.มอรีเอลโลชี้ให้เห็นว่า บริษัทสัญชาติออสเตรเลียมีจุดแข็งในหลายด้าน เช่น การศึกษา และการฝึกอบรม รวมทั้งนวัตกรรมการบริการ จึงมีบทบาทสำคัญต่อบริษัทในไทย โดยเฉพาะบริษัทที่มุ่งเน้นนวัตกรรมใหม่ๆ และการฝึกอบรม รวมทั้งโครงสร้างพื้นฐาน จึงมีส่วนสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้กับประเทศไทย

“ชาวออสเตรเลียที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยและดำเนินธุรกิจต่างๆ ยังคงเชื่อมั่นที่จะลงทุนในไทย และพร้อมให้การสนับสนุนในด้านอื่นๆ เพราะเรารู้ว่าไทยกำลังเผชิญความท้าทายทั้งในด้านการเมืองและเศรษฐกิจ หอการค้าออสเตรเลีย-ไทย จึงมุ่งส่งเสริมและสนับสนุนความสัมพันธ์อันดีของทั้งสองประเทศ ทั้งการให้ความช่วยเหลือ และแก้ไขอุปสรรคต่างๆ ตามที่ผลสำรวจได้ระบุไว้” มร.มอรีเอลโลกล่าวสรุป



กำลังโหลดความคิดเห็น