กกร.คงบัญชีสินค้าและบริการควบคุม 41 รายการต่อไป แย้มอาจเพิ่มสินค้าเกษตรและสินค้าที่ใช้ในชีวิตประจำวัน เพื่อเตรียมรับมือราคาผันผวน เผยปีนี้เน้นดูแลราคาอาหารปรุงสำเร็จมากขึ้น หลังวัตถุดิบลด แต่ราคายังสูง เตรียมส่งร้านหนูณิชย์พาชิมเข้าแทรกแซง เน้นโรงงานและแหล่งชุมชน พร้อมหารือห้างลดค่าเช่า และเปิดพื้นที่ให้นำอาหารถูกจำหน่าย
นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) ว่า ที่ประชุมมีมติคงบัญชีสินค้าและบริการควบคุมตามประกาศ กกร.ไว้ตามเดิม โดยมีสินค้าและบริการควบคุมจำนวน 41 รายการ ซึ่งตามขั้นตอนจะมีการนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณาต่อไป และประกาศดังกล่าวจะมีอายุ 1 ปี แต่หากเห็นว่ามีความจำเป็นก็จะมีการพิจารณาเพื่อกำหนดให้สินค้าและบริการเข้ามาอยู่ในบัญชีควบคุมได้ โดยเฉพาะสินค้าเกษตร และสินค้าที่ใช้ในชีวิตประจำวัน เพราะเป็นกลุ่มที่อาจจะมีผลกระทบต่อประชาชนในช่วงเศรษฐกิจปัจจุบัน
ทั้งนี้ การประกาศเป็นสินค้าและบริการควบคุม เป็นการเอาเข้ามาอยู่ในบัญชีติดตามดูแลอย่างใกล้ชิด และหากมีความผันผวนหรือมีความผิดปกติ ก็จะได้ใช้มาตรการเข้าไปบริหารจัดการได้ทันที เพราะขณะนี้แม้บางสินค้าและบริการจะอยู่ในบัญชีควบคุมก็ไม่ได้มีการใช้มาตรการแต่อย่างใด
นางอภิรดีกล่าวว่า ในปีนี้กระทรวงพาณิชย์จะเน้นดูแลราคาอาหารปรุงสำเร็จให้มากขึ้น เพราะยังมีแนวโน้มแพงอยู่ เนื่องจากพบว่าปัจจุบันคนไทยนิยมฝากท้องไว้กับอาหารปรุงสำเร็จมากกว่าการทำอาหารรับประทานเอง และขณะนี้ราคาสินค้าในกลุ่มที่เป็นวัตถุดิบไม่ได้ปรับตัวเพิ่มขึ้น มีแต่ทรงตัวและลดลงจึงต้องเข้าไปดูแลอย่างใกล้ชิด ส่วนสาเหตุที่ทำให้ราคาอาหารปรุงสำเร็จมีราคาสูงขึ้นเพราะมีองค์ประกอบอื่นเข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น ค่าแรง ค่าเช่าที่ ค่าขนส่ง จึงต้องมีการหารือเพื่อหาทางปรับลดราคาตรงนี้ลงมา โดยเฉพาะในห้างสรรพสินค้าที่อยู่ในเป้าหมายที่จะดำเนินการ รวมทั้งจะหารือเพื่อเปิดพื้นที่ให้จำหน่ายอาหารราคาถูกด้วย
“กระทรวงฯ มีแผนที่ขยายร้านอาหาร “หนูณิชย์พาชิม” ที่จำหน่ายอาหารปรุงสำเร็จราคาจาน ชามละ 25-35 บาท ให้กระจายไปในจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ โดยมีเป้าหมายที่ 1 หมื่นแห่ง จากปัจจุบันมีอยู่ทั้งหมด 3,924 ร้าน ซึ่งในจำนวนนี้อยู่ในกรุงเทพฯ 1,200 ร้าน เพื่อเป็นทางเลือกให้แก่ผู้บริโภคที่มีรายได้น้อย”
สำหรับการขยายร้านหนูณิชย์พาชิม กระทรวงฯ จะร่วมมือกับสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เพื่อขอความร่วมมือในการกระจายร้านหนูณิชย์พาชิมเข้าไปในโรงงานอุตสาหกรรม และแหล่งชุมชน รวมทั้งจะหารือกับผู้ประกอบการห้างค้าปลีกสมัยใหม่ (โมเดิร์นเทรด) จัดหาวัตถุดิบราคาถูกเพื่อช่วยลดต้นทุนวัตถุดิบในการประกอบอาหารให้แก่ร้านอาหารที่เข้าร่วมโครงการ
นอกจากนี้ยังมีแผนที่จะขยายตลาดชุมชนให้เพิ่มขึ้นอีก 200 แห่งทั่วประเทศ จากปัจจุบันมีอยู่ 20 แห่ง และจะเพิ่มสินค้าในกลุ่มสินค้าเกษตรอินทรีย์เข้ามาจำหน่ายด้วย เพื่อเป็นช่องทางให้เกษตรกรได้มีโอกาสพบปะผู้บริโภคโดยตรง และเป็นการเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรโดยตรง
นางอภิรดีกล่าวว่า สำหรับแนวโน้มราคาสินค้าในปี 2559 ในส่วนของสินค้าอุปโภคบริโภคคาดว่าราคาจะทรงตัวหรือลดลงตามราคาวัตถุดิบและราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่ปรับตัวลดลง ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจไทยอยู่ในช่วงฟื้นตัว ปริมาณความต้องการใช้สินค้ายังไม่เพิ่มสูงขึ้น สินค้าหมวดอาหารสด เช่น เนื้อหมู ไข่ไก่ ผักสด ราคาอาจจะผันผวนตามฤดูกาล ขณะที่สินค้าเกษตร เช่น ข้าว มันสำปะหลัง และปาล์มน้ำมัน ราคายังทรงตัวอยู่ในระดับราคาที่เหมาะสม