สินค้าไทยถูกละเมิดในต่างแดนเพียบ ทั้งน้ำผลไม้ ถั่ว เครื่องแกง น้ำพริกเผา น้ำจิ้มไก่ มาม่า พบในเพื่อนบ้านและจีนมีหลากหลายรูปแบบ โดนเอเยนต์และพวกหัวหมอแอบไปจดเครื่องหมายการค้า แนะผู้ประกอบการระวัง ไปค้าขายประเทศไหนควรตีทะเบียน ชี้ปีหน้าใช้ช่องมาดริดยื่นที่ไทย ระบุคุ้มครองประเทศต่างๆ ได้ถึง 97 ประเทศทั่วโลก
นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เปิดเผยว่า ขณะนี้กรมฯ ได้รับการร้องเรียนจากผู้ประกอบการในไทยว่าสินค้าที่ส่งไปจำหน่ายในตลาดต่างประเทศถูกละเมิดเครื่องหมายการค้าเป็นจำนวนมาก โดยถูกละเมิดในกัมพูชา เวียดนาม มาเลเซีย และจีน เช่น น้ำผลไม้ยี่ห้อทิปโก้ มาลี ถั่วยี่ห้อเถ้าแก่น้อย เครื่องแกงยี่ห้อโลโบ น้ำจิ้มไก่พันท้ายนรสิงห์ น้ำพริกเผา และมาม่า เป็นต้น ทำให้เจ้าของสินค้าที่แท้จริงได้รับผลกระทบทำให้ยอดขายลดลง หรือจำหน่ายสินค้าได้ยากขึ้น จึงขอให้กรมฯ เข้าไปช่วยเหลือ ซึ่งกรมฯ ก็ได้ดำเนินการให้ความช่วยเหลืออย่างเต็มที่ทุกกรณี
ทั้งนี้ วิธีการละเมิด บางรายถูกผลิตสินค้าขึ้นมาเลียนแบบแล้วจำหน่ายแข่งกับสินค้าที่เป็นของจริง บางรายถูกผู้จัดจำหน่าย (เอเยนต์) ที่รับสินค้าจากไทยไปขายแล้วนำเครื่องหมายการค้าไปจดทะเบียนเป็นของตัวเอง จากนั้นไปว่าจ้างให้ที่อื่นผลิตสินค้ายี่ห้อเดียวกันนี้ให้ ทำให้เจ้าของที่แท้จริงไม่สามารถส่งสินค้าไปจำหน่ายได้ หรือบางกรณีมีบางรายไปดูว่าสินค้าอะไรขายดีในตลาดก็เอาเครื่องหมายการค้านั้นๆ ไปจดทะเบียนแล้วมาห้ามสินค้าของจริงเข้าไปจำหน่าย
“การละเมิดมีหลายวิธี มีทั้งปลอมขึ้นมาเลย หรือเคยเป็นเอเยนต์จัดจำหน่าย พอเห็นสินค้าขายดีก็ไปจดเครื่องหมายการค้าไว้ แล้วไปจ้างคนอื่นผลิตให้ อ้างว่าเป็นสินค้าของตัวเอง ทำให้ของจริงเข้าไปขายไม่ได้ หรือบางรายเจอพวกหัวหมอไปดูในตลาดว่ามีสินค้าอะไรขายดี ก็ไปแอบจดเครื่องหมายการค้าเอาไว้ แล้วห้ามสินค้าจริงเข้ามาขาย” นางนันทวัลย์กล่าว
นางนันทวัลย์กล่าวว่า กรมฯ ได้เข้าไปช่วยเหลือ โดยได้ประสานงานไปยังหน่วยงานที่ดูแลงานด้านทรัพย์สินทางปัญญาของประเทศที่สินค้าไทยถูกละเมิด และทำการคัดค้านการยื่นจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า ซึ่งหลายๆ กรณีสามารถแก้ไขได้ทันท่วงที เพราะอยู่ระหว่างการจดทะเบียน แต่บางกรณีอาจจะช้าเกินไป แต่กรมฯ ก็ได้ประสานงานเพื่อแก้ไข และยืนยันถึงความเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าที่แท้จริงเพื่อให้มีการเพิกถอนต่อไป
“กรมฯ ขอเตือนให้ผู้ผลิตสินค้าที่ส่งสินค้าไปจำหน่ายในตลาดต่างประเทศจะต้องไปยื่นจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าในประเทศที่ส่งสินค้าออกไปจำหน่ายทุกประเทศ เพื่อป้องกันปัญหาการถูกละเมิด และหมั่นตรวจสอบว่ามีปัญหาการละเมิดเกิดขึ้นหรือไม่ เพราะหากรู้ก่อนก็จะแก้ไขได้ทันท่วงที”
อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่กลางปี 2559 เป็นต้นไปผู้ผลิตสินค้าสามารถใช้ประโยชน์จากการที่ไทยเข้าเป็นภาคีพิธีสารมาดริด ซึ่งในการมายื่นจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่กรมฯ จะสามารถระบุประเทศที่จะขอรับความคุ้มครองได้ โดยสามารถยื่นขอคุ้มครองได้ถึง 97 ประเทศ ทำให้ไม่ต้องเดินทางไปยื่นจดในประเทศที่จะส่งสินค้าไปขาย เป็นการประหยัดเวลาและค่าใช้จ่าย